ดุลยภาพดุลยพินิจ : นวัตกรรม 4.0 บทบาทความสามารถในการวิจัยของมหาวิทยาลัยไทย : โดย มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศโมเดล “ประเทศไทย 4.0” ที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย “นวัตกรรม” อันมีเป้าหมายท้าทายสำคัญคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจเพื่อยกระดับประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เพื่อให้ก้าวไปสู่เป้าหมายนั้นได้ รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างภาคการผลิตในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพของประเทศ 10 กลุ่มอุตสาหกรรม เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม ประกอบด้วย ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตที่เข้มแข็ง และมีความพร้อมที่จะได้รับการวิจัยและพัฒนาต่อยอดไปสู่การลงทุนในผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อยกระดับสู่นานาชาติมากยิ่งขึ้น กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และมีผู้สนใจลงทุน ประกอบด้วย หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ดิจิทัล และการแพทย์ครบวงจร

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ได้วางแผนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ที่ 8 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อให้อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยจะต้องไม่เกินลำดับที่ 30 เพิ่มสัดส่วนค่าใช้จ่ายการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเป็นร้อยละ 1.5 ของ GDP เพิ่มสัดส่วนการลงทุน R&D เอกชนต่อรัฐเป็น 70:30 และให้มีบุคลากร R&D 25:10,000 คน ภายในปี พ.ศ.2564 เมื่อแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 สิ้นสุดลงคาดว่ารายได้ต่อหัว (GNI) จะเท่ากับ 301,198 บาท

รูปที่ 1 แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว
ที่มา: ปรเมธี วิมลศิริ, ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อนาคตประเทศไทยเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน, เอกสารประกอบการประชุมวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2559.

Advertisement

สําหรับสถานภาพนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบัน ด้าน Reuters ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลทางการเงินและรายงานข่าวต่างๆ ของประเทศอังกฤษ ภายใต้บริษัทแม่ Thomson Reuters ได้ประกาศผลการจัดอันดับ (75 อันดับ) ของกลุ่มมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียที่เป็นเลิศในเรื่องนวัตกรรมหรือการคิดค้นประดิษฐ์เทคโนโลยี ปี 2016 เมื่อต้นเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา โดยอาศัยเกณฑ์บทความวิชาการ (Academic paper) ซึ่งบ่งชี้การดำเนินการวิจัยของมหาวิทยาลัย และการจัดเก็บสิทธิบัตร Patent filings ซึ่งแสดงความสนใจของสถาบันในการป้องกันและการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ พบว่าประเทศไทยไม่มีมหาวิทยาลัยใดอยู่ใน 75 อันดับ ในขณะที่มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ติดอันดับ 11 และมหาวิทยาลัยมาเลเซียติดอันดับ 73 และ 75 สาเหตุที่มหาวิทยาลัยไทยไม่ติดอันดับ ส่วนหนึ่งเพราะมหาวิทยาลัยอาจไม่เห็นว่าคุ้มค่าที่จะลงทุนให้งบประมาณสนับสนุนไปจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศ

โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ (NRU) ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เห็นความจำเป็นที่จะประเมินผลของงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยไทย เพื่อให้ทราบถึงความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจ และจุดอ่อนจุดแข็ง ของกลยุทธ์การวิจัยในมหาวิทยาลัยไทย

การติดตามผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยไทยพบว่า R&D เป็นฐานสำคัญของการพัฒนาการเกษตรของไทย โดยงานวิจัยด้านเกษตรและแปรรูปเกษตร สร้างผลตอบแทนในระดับสูง และมีประโยชน์ในการสร้าง Start-up SMEs ในระดับท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น โครงการผลของไฮโดรคอลลอยด์ต่อการปรับปรุงคุณภาพเส้นกวยจั๊บอุบล ซึ่งมี ผศ.ดร.จิตรา สิงห์ทอง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นหัวหน้าโครงการ ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากงบประมาณแผ่นดิน มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพเส้นกวยจั๊บอุบลให้สะดวกต่อการบริโภค สามารถเก็บรักษาได้นาน และมีวิธีการปรุงสุกที่ไม่ซับซ้อน แต่เส้นที่ได้ยังมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกับเส้นกวยจั๊บสด โดยใช้สารประกอบประเภทไฮโดรคอลลอยด์ในการปรับปรุงลักษณะเส้นกวยจั๊บ รวมทั้งยังศึกษากระบวนการผลิตเส้นกวยจั๊บให้อยู่ในรูปแบบเดียวกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จนถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดสินค้าอาหารกึ่งสำเร็จรูป

Advertisement

โครงการนี้เริ่มทำการวิจัยในช่วงต้นปี พ.ศ.2555 และสำเร็จในปีเดียวกัน แม้ใช้เวลาเพียง 1 ปี แต่ผลการวิจัยได้รับการยอมรับและสามารถนำไปใช้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ เห็นได้จากรางวัลผลงานวิจัยที่ได้รับ รวมทั้งสามารถขายอนุสิทธิบัตรให้ผู้ประกอบการจำนวน 3 ราย ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถผลิตกวยจั๊บกึ่งสำเร็จรูปออกจำหน่ายภายใต้ตราสินค้าของตนเอง และได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคที่ชอบอาหารประเภทกวยจั๊บญวนเป็นอย่างมาก

การประเมินผลความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจของโครงการ ได้ใช้วิธีการวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ (Cost-Benefit Analysis: CBA) ซึ่งคุณณัฐพล อนันต์ธนสาร นักวิจัยของสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ได้ศึกษาโดยกำหนดระยะเวลาที่ใช้ประเมินผลประโยชน์ 15 ปี ใช้อัตราคิดลดร้อยละ 7 และกำหนดให้ พ.ศ.2558 เป็นปีฐานในการคำนวณ ผลการประเมินความคุ้มค่า พบว่ามูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 14.28 ล้านบาท ได้ผลตอบแทนเท่ากับ 36.31 บาทต่อการลงทุน 1 บาท โดยภาพรวมจึงสามารถสรุปได้ว่า โครงการผลของไฮโดรคอลลอยด์ต่อการปรับปรุงคุณภาพเส้นกวยจั๊บอุบลมีความ

คุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจมาก มหาวิทยาลัยไทยยังมีศักยภาพที่จะเกื้อหนุน SMEsไทย และเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานวิจัยที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นว่างานวิจัยที่ดีไม่จำเป็นต้องใช้วิธีวิจัยที่ซับซ้อนหรือใช้เทคโนโลยีราคาแพง แต่สามารถพัฒนาให้นำมาใช้ได้จริงเหมือนดังเช่นโครงการนี้

ในปี พ.ศ.2560 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ขอให้ผู้อ่านทุกท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรงตลอดปีนะคะ

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image