เมืองอโยธยา ต้นกำเนิดประเทศไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

เมืองอโยธยา ต้นกำเนิดประเทศไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

เมืองอโยธยามีคุณสมบัติสำคัญคือเป็นเมืองต้นกำเนิดประเทศไทย ดังนั้นประเทศไทยปัจจุบันต้องพิทักษ์รักษาอย่างเอาใจใส่เป็นพิเศษ

(1) ไม่คัดค้าน การมีรถไฟความเร็วสูงผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา

(2) แต่คัดค้านการสร้างรถไฟความเร็วสูง “ผ่าเมืองอโยธยา” ซึ่งเป็นเมืองต้นกำเนิดอยุธยา และเป็นเมืองต้นกำเนิดประเทศไทย

Advertisement

(3) รถไฟความเร็วสูงควร “สร้างอุโมงค์ลอดผ่านพื้นที่มรดกโลก” หรือ “เปลี่ยนเส้นทางใหม่ โดยอ้อมพื้นที่มรดกโลก” ตามมติเมื่อ 24 พฤษภาคม  2564 ของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานฯ)

(4) สถานีรถไฟความเร็วสูงควรอยู่กับเมืองใหม่ หรือ ควรเป็นเครื่องมือสร้างเมืองใหม่

เพื่อลดความแออัดในเมืองเก่า ซึ่งกรณีอยุธยาได้ย้ายสถานที่ราชการสำคัญๆ จากเกาะเมืองเก่าไปเริ่มเมืองใหม่อยู่บริเวณถนนสายเอเซียนานแล้ว ขณะเดียวกันห้างสรรพสินค้าทั้งหลายก็ตามศาลากลางไปเป็นทิวเป็นแถว

Advertisement

อโยธยาเมืองต้นกำเนิดความเป็นประเทศไทย ได้แก่

(หนึ่ง) ประชากรพูดภาษาไทย ต่อไปเรียกตนเองว่าไทย,คนไทย (ก่อนหน้านั้นไม่ใช่)

(สอง) นับถือศาสนาพุทธ เถรวาท แบบลังกา (ก่อนหน้านั้นนับถือพุทธแบบทวารวดี)

(สาม) ยกย่องกษัตริย์เป็นพระรามครองกรุงอโยธยาเพื่อปราบยุคเข็ญ (ก่อนหน้านั้นยกย่องกษัตริย์เป็นพระกฤษณะครองกรุงทวารวดี)

พัฒนาการความเปลี่ยนแปลงจากอโยธยาถึงประเทศไทยมี ดังนี้ (1.) อโยธยา (2.) อยุธยา (3.) ธนบุรี (4.) รัตนโกสินทร์ (5.) กรุงสยาม (6.) ประเทศไทย

อาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ The Aetive (Thai PBS) ผมได้อ่านข้อความที่ส่งมาจากกลุ่ม SAVE อโยธยา มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า

“ถ้าจะรักษาความเป็นอยุธยาไว้ ถึงจะย้ายทางวิ่งรถไฟความเร็วสูงออกไปได้ แต่ไม่อนุรักษ์ดูแลก็เป็นเหมือนเดิม”

“ผมเข้าไปศึกษาแล้วเห็นปัญหาว่าเดิมก็ไม่มีการอนุรักษ์อย่างจริงจัง เพราะกรมศิลป์ก็ได้รับงบประมาณน้อย ปล่อยให้ลุกล้ำไปเรื่อยๆ”

เมืองอโยธยาถูกละเลยจะโทษใครที่ไหนได้ ? เพราะหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ กรมศิลปากร(กระทรวงวัฒนธรรม)และมหาวิทยาลัยศิลปากร(กระทรวงอุดมศึกษาฯ) ได้ร่วมกันด้อยค่าเมืองอโยธยาไม่น้อยกว่า 50 ปีมาแล้ว แม้กระทั่งกรณีรถไฟความเร็วสูง มีการพูดจาปรึกษาหารือไม่มีการ “เน้น” เรื่องเมืองอโยธยาอย่างเป็นทางการมีแต่พูดผ่านๆ เหมือนไม่อยากให้มีเมืองอโยธยาด้วยซ้ำ (จะได้ไม่ยุ่งยากเรื่องสร้างรถไฟความเร็วสูง)

น่า “อัศจรรย์ใจ” ตรงที่คณะอาจารย์กลุ่มหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากรรับค่าจ้างจากการรถไฟทำ HIA เพื่อความชอบธรรมในการสร้างรถไฟความเร็วสูงผ่าเมืองอโยธยา

เมืองอโยธยาถูกบังคับสูญหายจากประวัติศาสตร์ไทย จึงไม่พบเรื่องราวความเป็นมาในการเรียนการสอนทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ มีเหตุหลายอย่าง ดังนี้

1.อโยธยาเก่าแก่กว่า “กรุงสุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย” ซึ่งขัดกับประวัติศาสตร์ชาตินิยม “ชนเชื้อชาติไทย”

2.อโยธยาเป็นเมืองต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยซึ่งขัดกับประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยเรื่องพระเจ้าอู่ทองจากเมือง อู่ทอง (อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี) อพยพไพร่พลหนีโรคห่าไปสร้างกรุงศรีอยุธยา

3.อโยธยามีเรื่องราวความเป็นมาส่วนมากอยู่ใน “พระราชพงศาวดารเหนือ” (เป็นเรื่องเล่าลักษณะตำนาน ที่นักวิชาการสากลใช้เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ได้ (หลังผ่านการตรวจสอบและประเมินคุณค่า) ซึ่งขัดกับแนวคิดของนักโบราณคดีไทยที่มี “อุปาทานในศิลาจารึก” (คำของ จิตร ภูมิศักดิ์) และ “อุปทานในประวัติศาสตร์ศิลปะ” จึงมี “อคติ” เหยียดหรือด้อยค่าเอกสารประเภทตำนานพงศาวดารว่าเหลวไหลเชื่อถือมิได้

ความไม่อยูกับร่องกับรอยของนักโบราณคดีไทย ถ้าตำนานนั้นตรงตามแนวคิดชาตินิยม “ชนเชื้อชาติไทย” ย่อม “ถูกใจ” นักโบราณคดีไทย จึงพากันเชื่อถือยกย่องตำนาน ได้แก่ (1.) กรุงสุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทยเป็นตำนาน “ชาตินิยม” เพราะไม่มีหลักฐานยืนยัน และ (2.) พระเจ้าอู่ทองจากเมืองอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นตำนาน เพราะไม่มีหลักฐานสนับสนุน

อโยธยากำลังจะถูกทำลายสูญหายจากโลก เพราะเมืองอโยธยาถูกบังคับสูญหายนานมากแล้วจากวงวิชาการโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของไทย ถึงขณะนี้หนักข้อกว่านั้น เมืองอโยธยาจะถูกทำลายพินาศสูญหายจากโลกด้วยการก่อสร้าง “ไฮสปีด เทรน” รถไฟความเร็วสูงผ่าเมือง อโยธยา

แต่สถาบันที่เกี่ยวข้องเมืองอโยธยาโดยตรงพากันเสพสุขบนหอคอยงาช้าง บางคนอ้างบุญคุณลอยนวล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image