สุจิตต์ วงษ์เทศ : อ่านให้ตัวตนเล็กลง แล้วอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญา

แนะนำให้อ่านวารสารอ่าน ตุลาคม 2559

นายกฯ พูดหลายครั้งว่าอยากสนับสนุนคนไทยทุกคนรักการอ่าน เพราะการอ่านเป็นพื้นฐานสร้างแนวคิดของคนให้มีเหตุมีผล มีสติปัญญาในการแก้ปัญหาของตนเองให้ลุล่วง

[ขอแนะนำนายกฯ หามาอ่านโดยเร็ว คือ อ่าน วารสารเพื่อการอ่าน ของ ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการ]

แต่ไม่ใช่อ่านจากแหล่งเดียวตามที่ถูกกำหนดด้วยอำนาจนิยมในรัฐราชการเผด็จการทหาร เช่น อ่านแล้วท่องค่านิยม 12 ประการ ฯลฯ ต้องอ่านจากหลากหลายแหล่งแล้วเปรียบเทียบข้อมูลความรู้และความเห็น

ขณะเดียวกันก็สนับสนุนและผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม ให้เข้าถึงสื่ออย่างสะดวกง่ายดายเพื่อการอ่าน, ดู, ฟัง และเพื่อสร้างสรรค์ ดังที่มติชนมีบทนำ (ฉบับวันอังคาร 27 ธันวาคม 2559 หน้า 2) จะคัดตอนสำคัญมาดังนี้

Advertisement

“การอ่านเป็นที่ยอมรับว่ามีผลต่อการพัฒนาระบบความคิด ภูมิปัญญาทุกแขนง สั่งสมไว้ในรูปของหนังสือมาหลายชั่วคน ผู้ที่อ่านมากและอ่านในสิ่งที่เป็นประโยชน์ จะมีต้นทุนทำให้รับความรู้ใหม่ๆ ได้ง่าย

ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้า ความรู้บางส่วนย้ายไปอยู่ในรูปของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และในเว็บไซต์ต่างๆ ขณะที่แนวโน้มสังคมชอบที่จะ ‘ดู’ จากสมาร์ทโฟนและจอเครื่องมือถือมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจขาดการทำความเข้าใจด้านลึก และเกิดสภาพการใช้ ‘ความรู้สึก’ นำเหตุผลหรือความรู้ ดังที่นายกฯกล่าว

รัฐใดที่ต้องการพลเมืองคุณภาพ ย่อมส่งเสริมการอ่าน นอกจากแนะนำให้อ่านแล้วยังต้องสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมให้ประชาชนเข้าถึงสื่อเพื่อการอ่านได้ง่ายขึ้น ทั้งหนังสือและคอมพิวเตอร์ รวมถึงส่งเสริมอิสระในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อการอ่านไปพร้อมๆ กันด้วย

Advertisement

เพราะการอ่านจากแหล่งเดียว ขาดการเปรียบเทียบข้อมูลความเห็น ผลที่จะงอกงามจากการอ่านก็ยากจะบังเกิด”

ยิ่งอ่านมาก ยิ่งเปรียบเทียบมาก ยิ่งมีโอกาสเข้าใจและเข้าถึงจนรู้เท่าทันโลกและชีวิต มากขึ้น แล้วเห็นตัวตนเล็กลง ยิ่งเกื้อกูลให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญา แล้วสร้างโอกาสให้ตนเองกว้างขวางกว่าปกติ มีกรณีตัวอย่างในการรับคนเข้าทำงานของกูเกิล ดังนี้

 

ความอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญา

การรับสมัครคนเข้าทำงานในบริษัทดังระดับโลก “กูเกิล” ซึ่งเป็นสถานที่ใฝ่ฝันของคนทำงานเจเนอเรชั่นยุคสมัยนี้อย่างยิ่ง หัวหน้าฝ่ายเอชอาร์ของกูเกิล ลาซ โลบ๊อก เป็นคนให้สัมภาษณ์เปิดเผยถึงวิธีการเฟ้นคนเข้าทำงานในบริษัท

เขาบอกว่าการคัดเลือกคนเข้าทำงานในกูเกิล ไม่สนใจหรือให้ความสำคัญกับโปรไฟล์ส่วนตัวที่หรู ดูดี มีเกรดเฉลี่ยสูงๆ หรือเป็นผู้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับแถวหน้าของประเทศ

แต่คนที่เขาเลือกเข้าทำงานด้วยนั้น เขาเน้นเลือกหาคนที่สามารถจะเรียนรู้ สามารถปรับตัวทันท่วงที ไม่ใช่คนที่ผ่านการทำกิจกรรมเป็นผู้นำชมรม หรือหัวหน้าในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แต่คัดเลือกหา “คนที่จะสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้ในยามที่มีสถานการณ์จำเป็น”

ที่สำคัญยิ่ง คือ ต้องเป็นคนที่มี “ความอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญา”

โลบ๊อก บอกว่า ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำนั้น มักขาด “ความอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญา” และยิ่งคนที่เพิ่งเรียนหนังสือจบได้เกรดเฉลี่ยสูงๆ ประสบความสำเร็จในช่วงอายุยังน้อย อาจจะปรับตัวยากในการเรียนรู้อะไรที่ท้าทาย เพราะคนแบบนี้ยอมรับความล้มเหลวไม่ได้ หรือไม่ยอมรับความล้มเหลว นั่นเอง

“ความอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญา” ที่กล่าวถึง คืออะไร

หัวหน้าฝ่ายเอชอาร์ของกูเกิล อธิบายว่า คนที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนทางปัญญา คือ คนที่มีพฤติกรรมสามารถจะยอมถอย และรับฟังความคิดคนอื่นๆ ถ้าไม่มีสิ่งนี้ยากที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ

[จากข้อเขียน “เรื่องที่ทำไม่เป็นในสังคมไทย” คอลัมน์ สามัญสำนึก ของ สกุณา ประยูรศุข พิมพ์ในประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ 19-วันพุธ 21 ธันวาคม 2559 หน้า 2]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image