ปีใหม่นี้…มารู้จัก’สัจจะแห่งชีวิต’กันเถอะ! : โดย ไพรัช วรปาณิ

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2560 นี้ นอกจากการส่ง ส.ค.ส.ระลึกถึงเพื่อนฝูงซึ่งกันและกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนปรารถนาจะมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ญาติมิตรและแฟนๆ “มติชน” ด้วยใจ ก็คือ ส.ค.ส. “ธรรมะ” เพื่อให้ทุกท่านได้ “รู้” ซึ้งถึง “สัจจะแห่งชีวิต” หรือความจริงที่ทำให้บุคคลรู้จักห่างไกลจากกิเลส ห่างไกลจากข้าศึก กลายเป็นพระอริยเจ้า ห่างไกลจากตัณหา ความอยากได้ ความต้องการจนเกินความจำเป็น ด้วยความไม่รู้และห่างไกลจากทิฐิ คือ ความเห็นผิดว่ามีตัวตน ว่ามีตัวเรา ว่ามีของเรา ว่ามีคนอื่น ของคนอื่น ห่างไกลจากข้าศึกหรือกองทุกข์ทั้งหลาย และแล้วจะไม่ต้องได้ขันธ์มาให้ทรมาน ไม่ต้องถูกหลอกให้หัวหมุนวนเวียนไปตามรูป แห่ง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ อีกต่อไป…

ชีวิตเป็นส่วนประกอบของรูปกับนาม เป็นไปในลักษณะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไม่มีการหยุดนิ่ง เกิดดับเปลี่ยนแปลงสืบทอดกันไปในรูปกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย จะไปหาตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวรที่จุดใดจุดหนึ่งนั้นไม่มี เมื่อมีรูปนามประชุมรวมกันขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย เช่นนี้ ก็สมมุติเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยนั้นว่าเป็น นาย ก นาย ข ผู้หญิง ผู้ชาย หมา มนุษย์ เทวดา พรหม และสมมุติเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการนั้นว่า คนเกิด คนแก่ คนตาย เป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ สัตว์เกิด สัตว์ตาย มีคำว่า “เรา” “ของเรา” “คนอื่น” “ของคนอื่น” เกิดขึ้น เหมือนการรวมกันของล้อ ตัวถังเครื่องยนต์ โครง ประตูหน้า ประตูหลัง คำว่ารถจึงเกิดขึ้น

ความไม่มีตัวตนอันถาวรของชีวิต สามารถแยกส่วนประกอบออกได้เป็น 5 ส่วน ที่เรียกว่า “ขันธ์” คือ…รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญาณขันธ์

รูปขันธ์ เป็นส่วนที่ไม่รับรู้อารมณ์ รวมขึ้นมาเป็นรูปร่างกาย มีรูปที่เป็นประธาน 4 รูป ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุดิน มีลักษณะที่แข็ง-อ่อน ธาตุน้ำมีลักษณะเอิบอาบเกาะกุมยึดส่วนประกอบต่างๆ เอาไว้ด้วยกัน ธาตุไฟมีลักษณะเย็น-ร้อน ทำให้เกิดการเครื่อนไหวไปมาได้ นอกจากนั้น ยังมีอุปทายรูปมาอิงอาศัยอยู่ เช่น จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาสาท กายปสาท ความเป็นหญิงเป็นชาย เป็นต้น

Advertisement

รูปขันธ์นั้นมีทั้งส่วนที่เกิดจากกรรม จิต อุตุ และอารมณ์ เป็นสิ่งไร้แก่นสาร เหมือนก้อนฟองน้ำ รวมตัวกันขึ้นเป็นรูปเป็นร่างแล้วลอยไปตามกระแสน้ำ สักหน่อยก็แตกสลายไป

รูปที่เป็นมหาภูตรูปทั้ง 4 สามารถพิจารณาตามพระพุทธพจน์ ดังนี้…

อุปาทินนกรูป…เป็นของแข็ง ของหยาบ เช่น ผม เล็บ ฟัน เป็นต้น และอีก 4 ส่วนเป็นนามขันธ์ที่มาอาศัยเกิดดับอยู่ในร่างกาย เป็นสิ่งที่รับรู้อารมณ์ได้ คือ เวทนา สังขาร วิญญาณ

Advertisement

เวทนาขันธ์…เป็นความรู้สึกสุข ทุกข์ และอทุกขมสุข ทุกขเวทนา เกิดจากการกระทบผัสสะชนิดที่จะทำให้เกิดอทุกขมสุข เป็นครั้งๆ ตามเหตุ เกิดขึ้นแล้วแตกไป เป็นสิ่งไร้แก่นสาร เป็นสิ่งลมๆ แล้งๆ เท่านั้น

สัญญาขันธ์…คือความจำได้ ความกำหนดความหมาย สีแดงสีเขียว คนสัตว์ ชายหญิง เป็นที่หมายรู้สำหรับสื่อสารกัน เก็บไว้เป็นข้อมูล แต่ข้อมูลโดยมากที่เก็บเอาไว้ผิดพลาดมาก เช่น นิจจสัญญา จำหมายว่าเที่ยง สุขสัญญาจำหมายว่าสุข อัตตาสัญญา จำหมายว่าตัวตน เป็นต้น

สัญญานั้นเป็นสิ่งไร้แก่นสาร คอยหลอกลวงว่ามีจริงจัง ดุจดั่งแดดที่เกิดบนถนน เมื่อมองดูเหมือนมีน้ำอยู่ข้างหน้า แต่โดยความเป็นจริงแล้ว หามีอยู่ไม่

สังขารขันธ์…เป็นสภาวะที่ปรุงแต่งจิตให้มีอาการแตกต่างกันไป ให้เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ฝ่ายไม่ดี เช่น โทสะ โมหะ มัจฉริยะ วิจิกิจฉา เป็นต้น ส่วน ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ ปัญญา นี้เป็นฝ่ายโสภณะ เจตนา วิริยะ ปีติ นี่เป็นฝ่ายที่เข้ากับใครก็เป็นอย่างนั้น เข้ากับฝ่ายดีก็ดีเป็นเจตนากุศล ถ้าเข้ากับฝ่ายไม่ดี ก็เป็นอกุศล

วิญญาณขันธ์…เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ได้แก่ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบอารมณ์ ตากระทบรูป จักขุวิญญาณก็เกิดขึ้น หูกระทบ
สียง โสตวิญญาณก็เกิดขึ้น จมูกกระทบกลิ่น ฆานวิญญาณก็เกิดขึ้น ลิ้นกระทบรส ชิวหาวิญญาณก็เกิดขึ้น ใจกระทบธรรมะ มโนวิญญาณก็เกิดขึ้นเป็นกระบวนการที่รวดเร็วและเป็นอัตโนมัติ ไม่ได้เป็นเรื่องมีตัวมีตนอะไร เมื่อมองเห็นทางตาแล้ว ใจก็รับช่วงต่อ นึกคิดเกี่ยวกับเรื่องเห็นนั้นทันที วิญญาณเกิด-ดับรวดเร็วอย่างนี้จึงหลอกคนให้หลงได้ ดุจนักมายากลที่มีความเร็ว หลอกให้คนดูงงงวย หรืออัศจรรย์ใจ เพราะความรวดเร็วพรางตา

รูปนามขันธ์ 5 นี้ อิงอาศัยกันและกันอยู่ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “กายของเรานี้กุมกันเป็นรูปร่าง ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูป 4 เกิดจากบิดามารดา เจริญวัยเพราะข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยงแท้ ต้องอบต้องนวดเฟ้น มีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา วิญญาณของเราอาศัยและเนื่องอยู่กับกายนี้

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาเกี่ยวกับขันธ์ 5 เพื่อแสดงให้เห็นถึงความไม่มีตัวตนอันถาวร ชีวิตหรือสิ่งสมมุติเรียกว่า “สัตว์” “ตัวเรา” “ตัวเขา” นั้นเป็นเพียงขันธ์ที่รวมกันขึ้น มีลักษณะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จะได้เลิกเห็นผิด และเลิกยึดมั่น ถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 นั้น

ดังพระพุทธพจน์ที่พระองค์สอนให้พิจารณาอยู่เสมอว่า…

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร? รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

…ไม่เที่ยงพระพุทธเจ้าข้า!

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะพิจารณาเห็นสิ่งนั้นว่า

นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา

…ข้อนั้นไม่ควรเลย พระพุทธเจ้าข้า!

สรุปว่า ชีวิต รูปกับนาม กายกับใจ ขันธ์ทั้ง 5 นั้น เป็นสิ่งที่มีขึ้นและเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มาจากความเปลี่ยนแปลงแล้วก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามกระบวนการแห่ง “ปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดทุกข์” ส่วนตัวเราจริงๆ นั้น ไม่มี สิ่งใดที่เกิดจากเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยที่ทำให้มันเกิดล้วนแต่ไม่เที่ยง สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัยที่ไม่เที่ยง จะมั่นคงทนอยู่ตลอดไป ให้มันดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์แบบ ย่อมทำไม่ได้…มันจึงมีทุกข์อยู่ในตัวของมันเอง

สังขารทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ เป็นตัวทุกข์ ล้วนแต่ไม่มีตัวไม่มีตน มันเป็นอนัตตา ไม่สามารถบังคับบัญชาเอาได้ นั่นเอง!

ผู้เขียน เชื่อว่าหลังจากอธิบายถึงความทุกข์ ความไม่เที่ยงของชีวิตมาพอควรแล้ว ผู้อ่าน คงอยากทราบว่า อะไรที่ทำให้เกิดทุกข์กันแน่? และจะบรรเทาทุกข์ได้อย่างไร?

พุทธศาสนาชี้ให้เห็นว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้ชีวิตเป็นทุกข์นั้น มีหัวหน้าหลักๆ อยู่ 2 อย่าง คือ…อวิชชา ความไม่รู้อริยสัจ ไม่รู้ข้อเท็จจริงของชีวิตอย่างครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม พอไม่รู้จักชีวิตดีพอก็ทำให้หลงเข้าใจผิด ไปเห็นว่า เป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา เป็นของดี ของวิเศษ ของสุข ของน่ายึดเอา และเกิดตัณหา ความเพลิดเพลินยินดี เมื่อเกิดความหลงเพลิดเพลินยินดีในชีวิตในทุกข์ รักทุกข์ ก็เป็นเหตุให้เกิดความยึดถือในทุกข์ ไม่ยอมปล่อยทุกข์ (ปล่อยวาง) ก่อให้เกิดการกระทำ
เพื่อให้ได้ทุกข์ที่มีรูปร่างหน้าตาต่างๆ กันออกไป วนเวียนไปเรื่อยๆ

ดังนั้น การจะดับทุกข์หรือลดทุกข์ให้เหลือน้อยนั้นต้องพิจารณา ถึงทุกขนิโรธ ซึ่งแปลว่า…ความดับทุกข์ ความไม่มีทุกข์ หรือสภาวะไร้ทุกข์ โดยสภาวะได้แก่พระนิพพาน แต่โดยทั่วไป ได้แก่ความดับ โดยการสำรอกให้หมดโดยไม่มีส่วนเหลือซึ่งตัณหา นั่นแหละ ตามพระพุทธพจน์ว่า…

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ความดับตัณหาไม่เหลือด้วยวิราคะ ความสละ ความพ้น ความไม่อาลัยในตัณหา”

เมื่อ “สัจจะแห่งชีวิต” คือสิ่งที่ไม่คงทนถาวร ปรากฏขึ้นและดำรงอยู่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แม้ในขณะดำรงอยู่ความเสื่อมก็ปรากฏไล่ตามหลังมาเรื่อยๆ ทำให้ดำรงอยู่ด้วยความยากลำบาก ความเป็นเด็กก็ไม่ดำรงนาน ความเป็นหนุ่มสาว ความสุข เสียงหัวเราะ ความอบอุ่นในอ้อมกอดของญาติพี่น้อง สิ่งเหล่านี้มาแล้วก็ไป ไม่เคยอยู่กับเรานานเลย

ดร.สมัคร เจียมบุรเศรษฐ์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์และประธานผู้พิพากษาสมทบฯ เขียนไว้ใน “สมบัติธรรม” ตอนหนึ่งว่า…พระไตรลักษณ์ 3 พระอนิจจัง พระทุกขัง พระอนัตตา สิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงเสื่อมสลายได้ ไม่ยั่งยืน เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป มีการเกิดดับเป็นธรรมดา สิ่งที่ไม่เที่ยงเหล่านี้เป็นทุกข์ และสิ่งที่เป็นทุกข์ทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนของเรา เป็นอนัตตา ไม่เป็นตัวตน เรา เขา หรือของใคร มันเป็นธาตุ มันเป็นสาธารณสมบัติ เป็นสมบัติของโลก ไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นตัวเรา ของเรา …พร้อมกับเปรยเตือนสติเพื่อนฝูงอยู่เสมอๆ ว่า “อำนาจและลาภยศ สรรเสริญ เป็นสิ่งไม่เที่ยง เหมือนลมเพ ลมพัด เมื่อพัดมาแล้วก็พัดไป ไม่มีอะไรยั่งยืน…หรอกนะ!”

เมื่อปรากฏสัจจะแห่งชีวิตเป็นดังนี้ ในดิถีปีใหม่นี้ จึงอยากฝากความปรารถนาดีต่อญาติมิตรและแฟนๆ ผู้อ่าน โดยเฉพาะกับผู้ที่หมางเมินต่อหลักความจริง “สัจจะแห่งชีวิต” จงอย่าได้ประมาทกับชีวิตและจงได้ดำรงชีวิตอยู่อย่างมีสัมมาสติ-ปัญญา ด้วยการพยายามมสร้างสมแต่ความดี บุญกุศล สิ่งใดที่ควรลดละ-ปล่อยวางก็ควรปล่อยวางเสีย เพราะ…ชีวิตก็มีเพียงเท่านี้!…ว่าไหม?!

เหนือสิ่งอื่นใด ขอเรียนว่าเนื้อหาสาระในบทความนี้ ได้มาจากบทประพันธ์ของอาจารย์สุภีร์ ทุมทอง ชื่อ “สัจจะแห่งชีวิต” พ็อคเก็ตบุ๊กเล่มเล็กๆ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยอรรถรสทางธรรมะ อันนับว่าเป็นบทประพันธ์อธิบายถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนา ที่น่าติดตามศึกษาอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ อาจเป็นบุญกุศลอย่างหนึ่งก็ว่าได้ ที่นำพาให้ไปพบบทประพันธ์ดีๆ นี้โดยบังเอิญ ซึ่งบรรจุไว้ในถุงของขวัญ ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมสีชมพู สวยสดงดงาม โดยผู้เขียนเก็บไว้ในตู้โชว์ที่ทำงานมานานพอควร ครั้นหยิบขึ้นมาดู ปรากฏว่าด้านในมีกระเป๋าหนังอย่างดี 1 ใบ พร้อมหนังสือธรรมะ 1 เล่ม เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้ว จึงนึกขึ้นได้ว่า ที่แท้เป็นของขวัญที่ได้รับจาก ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย เมื่อครั้งไปเยี่ยมคารวะท่านที่ห้องประธานรัฐสภานั่นเอง….

ท้ายนี้ จึงต้องขอขอบพระคุณผู้ประพันธ์ทั้งสอง และท่านประธานรัฐสภา ที่ได้มอบสิ่งดีๆ อันเป็นประโยชน์ต่องานเขียนของผู้เขียนและมีคุณค่าทางปัญญาต่อพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย มา ณ โอกาสนี้อีกครั้งด้วย

ไพรัช วรปาณิ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image