เดินหน้าชน : สายเดินเรือแห่งชาติ

ดูเหมือนรัฐบาลเพื่อไทยยังคงเดินหน้านโยบายการจัดตั้งสายเดินเรือแห่งชาติเหมือนกับรัฐบาลที่ผ่านมา

เรื่องนี้จำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบคอบ 

เพราะที่ผ่านมาในอดีต เราเคยต้องยุบ บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด หรือ บทด. รัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคมมาแล้ว

เคยเสียหายมาแล้ว

Advertisement

น่าจะศึกษาบทเรียนในอดีตเกี่ยวกับธุรกิจเดินเรือ หรือพาณิชย์นาวี และปัจจุบันภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความเข้มแข็ง คล่องตัว เงินทุนมหาศาล พัฒนาไปไกลแล้ว

หากรัฐจะควักกระเป๋างบประมาณลงทุนร่วมกับเอกชนบางรายแล้วไปแข่งขันกับเอกชนรายอื่น

จะเหมาะหรือไม่

Advertisement

และหากไม่แข่งกับเอกชนรายอื่น หรือไม่วิ่งทับเส้นทางเอกชนรายอื่นเดินเรืออยู่แล้ว จะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่

เพราะเอกชนแต่ละรายคงเลือกเส้นทางที่ทำกำไรได้ดีไปหมดแล้ว

ยกเว้นว่าจะมีโครงการแลนด์บริดจ์ หรือมีเส้นทางใหม่ๆ ทำกำไรได้งามๆ

แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่ใช่ให้ภาครัฐ หรือเอกชนบางรายผูกขาด

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติว่า ได้มอบหมายให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพร้อมผลักดันให้เกิดโดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการขนส่งทางชายฝั่งและทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย มีมาตรฐาน อีกทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ด้าน นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า กทท.ศึกษาและผ่านบอร์ดเสนอไปกระทรวงคมนาคมแล้ว จากนั้นเลือกรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) หรือ กทท.จะลงทุนเอง รวมถึงจะมีการส่งเสริมการลงทุนโดยบีโอไอหรือไม่ ก่อนเสนอ ครม.อนุมัติ

ผลการศึกษาเส้นทางเดินเรือทั้งในประเทศและต่างประเทศเบื้องต้นจะดำเนินเส้นทางในประเทศก่อน มี 8 เส้นทางเหมาะสม สามารถเปลี่ยนโหมดการขนส่งจากทางบกมาสู่ทางน้ำได้ 

มี 3 เส้นทางที่เหมาะลงทุนและไม่ทับซ้อนกับเส้นทางเอกชน 1.เส้นทางท่าเรือมาบตาพุด (ระยอง)-ท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี) 2.เส้นทางท่าเรือไฟร์ซัน (สมุทรสงคราม)-ท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี) และ 3.เส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี)-ท่าเรือสุราษฎร์ธานี 

ก่อนหน้านี้ กทท.ได้เผยรูปแบบการบริหารสายการเดินเรือแห่งชาติพบว่า ควรเน้นการร่วมลงทุนกับเอกชน รัฐลงทุนสัดส่วนไม่เกิน 25% จะทำให้คล่องตัวในการบริหารงาน เป็นการดึงจุดเด่นของภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางชายฝั่งของไทย 

จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการจ้างงานในธุรกิจการเดินเรือและกำไรที่ได้จากผลประกอบการ 

ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางอ้อมไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การต่อเรือ การประกันวินาศภัยทางทะเล เป็นต้น

กทท.คาดการณ์ปริมาณสินค้าจะมาใช้บริการเรือบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ของบริษัทสายการเดินเรือแห่งชาติ ประมาณ 2% ของการส่งออกและนำเข้า คิดเป็นจำนวนสินค้าคอนเทนเนอร์ 31,005 ทีอียู ขนาดเรือให้บริการเป็นเรือตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ขนาด1,500ทีอียู จำนวน 4 ลำ แต่ละลำทำรอบหมุนเวียน 8 รอบต่อปี

รายละเอียดที่ชัดเจนสำหรับสายเดินเรือแห่งชาติอาจต้องรอผลการศึกษาจาก กทท.

แต่โดยหลักถ้าหน่วยงานรัฐอย่าง กทท.ลงไปแข่งขันกับเอกชนซะเอง 

ไม่ปล่อยให้เอกชนแข่งขันกันเอง และภาครัฐคอยกำกับกติกาให้แข่งอย่างเป็นธรรม ไม่ให้เกิดการทุจริต

น่าจะเหมาะสมกว่าหรือไม่

คงต้องรอให้รัฐบาลชี้แจง

สุรพล สุประดิษฐ์ ณ อยุธยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image