พันธมิตรกองกำลังชาติพันธุ์และความกังวลของจีน โดย ลลิตา หาญวงษ์

ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม กองกำลังชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพปลดปล่อยตะอาง (TNLA) กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา ของโกก้าง (MNDAA) และกองทัพอาระกัน (AA) ที่เรียกตัวเองว่าพันธมิตรสามภราดรภาพ (Three Brotherhood Alliance) เปิดฉากโจมตีกองทัพพม่า ในปฏิบัติการที่ใช้ชื่อว่า Operation 1027 การสู้รบเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในรัฐฉานทางตอนเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตปกครองพิเศษโกก้าง และเขตปกครองของว้า ติดกับชาวแดนจีน

ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตปฏิบัติการของแก๊งจีนเทา หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่เข้าไปใช้พื้นที่ในเขตอิทธิพลของว้า-โกก้าง ได้แก่ เมืองป๋างซาง เมืองป้อก และเมืองเล่าก์ก่าย เป็นแหล่งปั๊มเงิน หลอกให้คนพม่า คนไทย และชาวต่างชาติเข้าไปร่วมขบวนการหลอกโอนเงิน มีบางส่วนที่ถูกหลอกไปเป็นทาสทางเพศ หากขัดขืนก็จะถูกทรมานทุกทาง

เมื่อมีการสู้รบอย่างหนักทั่วรัฐฉานตอนเหนือและพื้นที่ชายแดนจีน-พม่า ทำให้เมืองที่เป็นฐานปฏิบัติการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์จีนเทาถูกปิดล้อม ทำให้เหยื่อทั้งหมดไม่สามารถหนีออกมาได้ จากรายงานของสำนักข่าวหลายสำนัก ชี้ตรงกันว่ามีคนไทยที่ติดอยู่นับร้อยคน ส่วนหนึ่งราว 133 คน ได้รับความช่วยเหลือออกมาแล้วแต่ถูกนำไปไว้ที่ค่ายทหารพม่า ซึ่งเป็นเป้าโจมตีของกองกำลังชาติพันธุ์ อีกส่วนหนึ่งยังหลบซ่อนอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย มาเฟียจีนเทาอาจส่งคนกลุ่มนี้ให้กับเครือข่ายของตนในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

พื้นที่ชายแดนในรัฐฉานตอนเหนือเป็นพื้นที่ที่มีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก หากจะสรุปสั้นๆ คือนอกจากจะเป็นพื้นที่ชายแดนพม่า-จีน ที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสีเทาๆ แล้ว ยังเป็นฐานที่มั่นของกองกำลังชาติพันธุ์ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับจีน (โกก้างเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จีน) รัฐบาลจีนจึงเข้าไปลงทุนในโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ ได้แก่ โครงการท่อก๊าซความยาว 800 กิโลเมตร เพื่อขนส่งก๊าซและน้ำมันจากรัฐยะไข่ (เมืองจ๊อกผิ่ว) ผ่านมัณฑะเลย์ มักก่วย และรัฐฉานตอนเหนือ เข้าไปยังจีน นอกจากนี้ ยังมีเขตความร่วมมือเศรษฐกิจชายแดนชายแดนรุ่ยลี่-มูเซ เขตเศรษฐกิจชายแดนชินฉ่วยฮ่อ (Chin Shwe Haw Border Business Zone) และโครงการสร้างสะพานเพื่อเชื่อมหุบเขาก๊อกเต๊กกับเมืองคุนหลง

Advertisement

แน่นอนว่าการสู้รบระหว่างพันธมิตรสามภราดรภาพกับกองกำลังฝั่งคณะรัฐประหารพม่าทำให้รัฐบาลปักกิ่งเป็นกังวลเพราะเกรงว่าจะไปกระทบกับโครงการของตน ด้วยจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับกองกำลังโกก้างและว้า รวมทั้งกับกองทัพฝั่งพม่าด้วย ท่าทีของจีนต่อสงครามกลางเมืองในพม่าจึงเป็นไปในแนวแบ่งรับแบ่งสู้ หรือแบบบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น

จุดที่น่าสนใจที่ชี้ให้เห็นความกังวลของจีนมาจากแถลงการณ์ร่วมของกองทัพพันธมิตรทั้ง 3 ฝ่าย ที่ออกมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม มีเนื้อหาว่ากองกำลังทั้งสามจะร่วมกันปกป้องโครงการต่างๆ ของจีน และจะไม่ให้นักลงทุนจากจีนต้องได้รับผลกระทบจากการสู้รบในเขตชายแดนพม่า-จีนด้วย แถลงการณ์พุ่งเป้าไปที่การปราบปรามอาชญากรรมประเภทการลักพาตัวเรียกค่าไถ่ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในพื้นที่เขตปกครองพิเศษโกก้าง ซึ่งมีผลกระทบกับนักธุรกิจและนักลงทุนจีน ระหว่างปี 2022-2023 มีกรณีการเรียกค่าไถ่มากถึง 40 ครั้ง และมีชาวจีนที่ถูกลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่ไปแล้ว 15 คน และมี 1 คนที่เสียชีวิต

เป็นไปได้มากว่ารัฐบาลปักกิ่งกดดันให้กองทัพพันธมิตรออกแถลงการณ์ว่าจะร่วมกันปราบปรามอาชญากรรม ที่เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อการลงทุนของจีนในพื้นที่ชายแดนพม่า-จีน ในมุมมองของปักกิ่ง ความสงบภายในพม่า โดยเฉพาะในเขตชายแดนจะเป็นประโยชน์กับจีนมากกว่า จริงอยู่ว่าหลังรัฐประหาร จีนได้ประโยชน์มหาศาล เพราะบริษัทขนาดใหญ่จากโลกตะวันตกถูกกดดันจนต้องถอนตัวออกจากพม่าแบบถาวร แต่เมื่อการสู้รบยังคงมีอยู่ โอกาสที่จีนจะเก็บดอกผลจากโครงการขนาดใหญ่ในพม่าก็เป็นไปได้ยากเช่นเดียวกัน

Advertisement

แม้รัฐบาลจีนจะพยายามกดดันกองกำลังทุกฝั่งในพม่าไม่ให้เข้าไปยุ่มย่ามในเขตเศรษฐกิจของตนในรัฐฉานตอนเหนือ แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะก็เกิดการปะทะกันเรื่อยมา Operation 1027 ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปลายเดือนตุลาคม เป็นตัวชี้วัดว่าปักกิ่งไม่ได้มีอิทธิพลมากพอที่จะทำให้การสู้รบในรัฐฉานตอนเหนือชายแดนพม่า-จีนเบาบางลงได้ และยิ่งเมื่อฉากทัศน์ของการสู้รบตามแนวชายแดนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากเดิมเป็นกองกำลังต่อสู้กับกองทัพพม่าแบบตัวใครตัวมัน มาในตอนนี้กลายเป็นการจับกลุ่มระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์ด้วยกัน และยังผนึกกำลังกับกองกำลัง PDF หรือฝ่ายต่อต้านรัฐประหารอีก ยิ่งสร้างความเสียหายให้กับกองทัพพม่าและเศรษฐกิจในพื้นที่สู้รบแบบประเมินค่าไม่ได้

จุดที่น่าเป็นห่วงอีกประเด็นหนึ่งของรัฐบาลจีนคือเมื่อกองกำลังพันธมิตรกำลังได้เปรียบและขับกองทัพพม่าออกไปจากพื้นที่รัฐฉานตอนเหนือเกือบทั้งหมด แม้แต่เมืองชินฉ่วยฮ่อ ที่เป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ ก็ถูกกองกำลังพันธมิตรยึดได้แล้ว โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนออกมาแถลงอย่างรวดเร็วให้ท้องฝ่ายใช้การเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้ง เราไม่ค่อยเห็นท่าทีแบบนี้ของจีนเท่าใดนัก ท่าทีที่รวดเร็วและเต็มไปด้วยความกังวลชัดเจน

ระหว่างเดือนเมษายนถึงกันยายนในปีนี้ 1 ใน 4 ของการค้าทั้งหมดระหว่างจีนกับพม่าผ่านเส้นทางชินฉ่วยฮ่อนี้ มูลค่ารวมของการค้าระหว่างสองประเทศอยู่ที่ประมาณ 1.8 พันล้านเหรียญ เฉพาะที่ผ่านเมืองนี้มีมูลค่าถึง 500 ล้านเหรียญ นี่เป็นเพียงผลกระทบในปัจจุบัน ยังไม่รวมโครงการของจีนที่มีอยู่แล้ว และกำลังจะมีในอนาคต ในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการ Belt and Road และระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า (China-Myanmar Economic Corridor) ที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมืองในพม่า จีนวางแผนว่าจะสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมจีนตอนใต้กับเมืองต่างๆ ในพม่า และยังเป็นทางออกไปสู่อ่าวเบงกอลได้ด้วย จีนเข้าไปลงทุนในลักษณะเดียวกันในหลายประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงพม่าที่ทำให้แผนการของ
จีนรวน

ผู้เขียนมองว่าจีนเองก็ไม่ได้มียินดีกับรัฐประหารในพม่าสักเท่าไหร่ และยิ่งว้าวุ่นอย่างหนักเมื่อรัฐประหารนำไปสู่ความขัดแย้งที่ซับซ้อน ซึ่งจะมีผลต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีน ดังนั้นทางออกของจีนคือการเป็นตัวกลางเพื่อให้เกิดการเจรจาหยุดยิงระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์กับกองทัพพม่า แต่ยังไงก็ไม่เห็นผล อย่างที่ผู้เขียนพูดไปข้างต้นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตชายแดนรัฐฉานตอนเหนือในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อน แบบที่ไม่เคยปรากฏในพื้นที่ใดในประเทศเพื่อนบ้านของเรามาก่อน แม้แต่จีนยังไม่สามารถกดดันให้ทุกฝ่ายในพม่าหันหน้าเข้าหากันได้ ก็อย่าไปคาดหวังว่าองค์กรระดับภูมิภาคอย่างอาเซียนจะประสบความสำเร็จ แล้วไทยล่ะ เราทำอะไรเพื่อบรรเทาความรุนแรงของสงครามกลางเมืองในพม่าได้บ้าง?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image