คึกคัก ปรองดอง คึกคัก ภาครัฐ ชืดชา ประชาชน

เป็นไปอย่างว่องไวและเรียบร้อย ตามแบบฉบับของทหาร

กระบวนการ “ปรองดอง” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จุดพลุขึ้นมาให้สังคมไทยได้พิจารณาหลังปีใหม่

เดินหน้าไปอย่างฉับไวและคึกคักยิ่ง

เป็นความคึกคักในภาครัฐ

Advertisement

ที่อยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลทหาร

16มกราคม

ในที่ประชุม คสช. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลภารกิจการปรองดอง

Advertisement

นำตารางแนวทางการทำงานของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองที่กำหนดไว้มาแสดงหน้าจอโปรเจ็กเตอร์

ให้สมาชิก คสช. ที่เข้าร่วมประชุมได้รับทราบและพิจารณา

ในตารางช่องแรกสรุปประเด็นที่เห็นตรงกันและเห็นต่างกัน

ทั้งเรื่องการเมือง ยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูป ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม

ช่องที่ 2 กำหนดกลุ่มการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสามัคคีปรองดอง ที่มีพรรคเพื่อไทย กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ

แห่งชาติ (นปช.) พรรคประชาธิปัตย์

และประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (กปปส.)

ช่องที่ 3 กำหนดเวทีร่วมของทุกพรรคและกลุ่มการเมืองที่จะมีการพูดคุย

โดยนำเสนอผลที่ได้จากการหารือที่เห็นพ้องต้องกัน

ประเด็นที่มีความเห็นต่างกันในที่ประชุมหารือว่าจะมีทางออกอย่างไร

อาจจะมีกฎหมายที่ต้องแก้ไข

เช่น การใช้มาตรา 44 ปลดล็อกและการใช้อำนาจบริหาร

และช่องสุดท้ายคือการทำสัญญาประชาคม

ในที่ประชุม พล.อ.ประวิตรระบุว่าไม่อยากให้สื่อกดดันเพราะต้องให้เวลา

คาดว่า 3 เดือนน่าจะเห็นหน้าเห็นหลัง

ขานรับทันทีอย่างสอดคล้องกัน

หลัง พล.อ.ประวิตรมอบกระทรวงกลาโหมเป็นหลักในการขับเคลื่อนการปรองดอง

มีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ขึ้นมาดำเนินงานรวม 19 คน

อาทิ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม นั่งเป็นประธานร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย

ส่วนกรรมการประกอบด้วย ผบ.สส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. ผบ.ตร. รองปลัดกระทรวงกลาโหม

พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม

พล.ท.ณัฐ อินทรเจริญ รองเสนาธิการทหารบก ผอ.ศูนย์ปรองดอง คสช. (ผอ.ศปป.)

และ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม

โดยจะจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุดคือ

1.คณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น มีอนุกรรมการ 23 คน มี พล.อ.วัลลภเป็นประธาน

ร่วมด้วยตัวแทนเหล่าทัพระดับ พล.ท.หน่วยละ 2 คน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.)

ตัวแทนกรมพระธรรมนูญ และกระทรวงมหาดไทย

2.คณะอนุกรรมการจัดทำความเห็นร่วมเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ 22 คน

3.คณะอนุกรรมการจัดทำกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ 17 คน

และ 4.คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ 17 คน

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่าองค์ประกอบของกรรมการและอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นรวม 98 คน

จะมีทั้งทหาร ตำรวจ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ

และอย่างฉับไว ในวันเดียวกัน

พล.อ.ชัยชาญ ปลัดกระทรวงกลาโหม เรียกประชุมคณะกรรมการ ประกอบด้วย

เจ้าหน้าที่ทหารจากทหารกรมกิจการพลเรือนทหาร ผอ.การศึกษายุทธศาสตร์สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ผู้แทนจากกรมกิจการพลเรือนทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ

เจ้ากรมเสมียนตรา ผอ.สำนักนโยบายและแผนอำนวยการกองงบประมาณ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ตร. และกระทรวงมหาดไทย

เพื่อร่วมกันพิจารณาภารกิจ 3 ประการ ได้แก่

1.การดำเนินงานเรื่องความปรองดองสมานฉันท์และกรอบเวลา

2.การพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการและคณะทำงานซึ่งอยู่ระหว่างการจัดร่างคำสั่งแต่งตั้ง แนวทางการดำเนินการ

3.ประเด็นคำถามการสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้ที่เข้าร่วมประชุม

ในขณะที่การเคลื่อนไหว “ระดับบน” เป็นไปอย่างอึกทึกครึกโครม

ไม่ว่าจะจากฝ่ายทหาร ข้าราชการ

หรือการตอบรับจากพรรคการเมืองอย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์

ท่าทีของภาคประชาชน โดยเฉพาะญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ทางการเมือง

เป็นไปอย่างชืดชายิ่ง

ประเด็นที่จะต้องพิจารณามีอยู่ว่า

ถ้าผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริง ไม่ได้เข้าและไม่สนใจจะเข้าร่วมกระบวนการปรองดอง

กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้

จะยังนับว่าเป็นการปรองดองได้หรือไม่?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image