ปรองดอง ไม่ได้ด้วยอำนาจ คำสั่งหรือเสียงข้างมาก : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

เป็นอันว่าคำสั่งอย่างเป็นทางการตามอำนาจมาตรา 44 ประกาศออกมาแล้วเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2560 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป)

มีกรรมการระดับรอง 4 คณะคือ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง

คณะกรรมการชุดหลังสุด รุกเร็ว รบเร็ว แพลมชื่อออกมาก่อน มีคณะอนุกรรมการย่อยอีก 4 ชุด รวมทั้งสิ้น 98 คน เป็นนายทหารเสียส่วนใหญ่ เลยกลายเป็นประเด็นเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความหลากหลายและการมีส่วนร่วม ลามไปถึงข้อเสนอให้กองทัพร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงจะไม่ใช้วิธีการปฏิวัติ รัฐประหารแก้ปัญหาอีกต่อไป

ปรากฏว่าข้อเสนอถูกปฏิเสธจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประธานคณะกรรมการยืนยันว่า ที่ทหารปฏิวัติเพราะความจำเป็น ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่อยากทำ

Advertisement

เลยมีคนพยายามมองมุมบวกถึงการที่มีแต่ทหารเต็มไปหมดในกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นเพียงการเริ่มต้น อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ เส้นทางยังอีกยาวไกล สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร อะไรทำนองนั้น

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 สะท้อนความคิดว่า ถ้าการปรองดองไม่สำเร็จอาจกระทบงานอื่น มีผลต่อการปฏิรูปขับเคลื่อนคณะอืนๆ ใน ป.ย.ป.

การสร้างความสามัคคีปรองดอง สมานฉันท์ จึงเป็นเรื่องสำคัญ โจทย์ใหญ่ โจทย์ยาก และสลับซับซ้อน

Advertisement

คำถามที่เกิดขึ้นตามมาไม่ได้มีเพียงแค่ว่า จะปรองดองกันเรื่องอะไร ใครปรองดองกับใคร ใครสมควรต้องลงนามบันทึกข้อตกลงบ้าง แต่ลึกลงไปถึงขั้นที่ว่า กองทัพเป็นคู่ขัดแย้งด้วยหรือไม่

โจทย์ข้อหลังนี้ กองทัพจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า องค์ประกอบ โครงสร้าง และกระบวนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ล้วนเป็นเงื่อนไขของความสำเร็จหรือล้มเหลวได้ด้วยกันทั้งสิ้น

เพราะหลักการใหญ่ที่จะนำไปสู่ความสามัคคี ปรองดอง คือ ความร่วมมือ ความยินยอมพร้อมใจ ไม่ใช่ด้วยคำสั่งการและอำนาจ

การให้เกียรติ เคารพศักดิ์ศรี มองคนอื่นเป็นมิตร ไม่ใช่ศัตรู ด้วยแนวทางสันติ การเมืองนำการทหาร คิดต่างแต่อยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่ใครไม่คิดอย่างตัว ไม่ทำแบบตัว เป็นคนหนักแผ่นดินไปหมด

ความคิด ท่าที การแสดงออกต่อไปนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ยิ่งต้องเพิ่มขีดความอดทนมากขึ้นอีกหลายเท่าเพื่อสร้างบรรยากาศของการยอมรับ เชื่อถือ เชื่อมั่น ก่อนก้าวสู่มาตรการต่างๆ ที่จะนำมาใช้ไม่ว่า รอการลงโทษ พักการลงโทษ ปล่อยชั่วคราว จนถึงนิรโทษกรรม ที่จะนำมาใช้ต่อไป

คงหนีไม่พ้นต้องแยกแยะเป็นระดับ เป็นรายกลุ่ม ซึ่งข้อมูลมีอยู่แล้ว ใครกลุ่มไหนเข้าข่ายต่างๆ นี้บ้าง แน่นอนกลุ่มประชาชนทั่วไปในทุกครัวเรือนที่เกิดความขัดแย้ง แตกแยกเพราะเห็นต่างระหว่างพ่อแม่ พี่น้อง ในบ้านเดียวกัน เป็นกลุ่มแรกที่ต้องคำนึงถึง

กลุ่มต่อไปเป็นมวลชนผู้บริสุทธิ์ที่เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองและถูกจับกุมคุมขัง กลุ่มแกนนำต่างๆ กลุ่มผู้ถูกดำเนินคดีเพราะขัดคำสั่ง คสช. รวมเลยไปถึงข้าราชการที่ถูกคำสั่งลงโทษโดยผลสอบสวนความผิดยังไม่ปรากฏชัด

ทุกกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนอยู่ในข่ายที่คณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ต้องนำมากลั่นกรองพิจารณาหามาตรการเยียวยาโดยเร็วเพื่อสร้างบรรยากาศ ความเชื่อมั่นและจริงใจ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ถูกมองมุมลบว่า ต้องการยื้อเวลาการเลือกตั้งออกไป

ฉะนั้นประสบการณ์จากอดีต คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ที่ผ่านๆ มามีให้เห็นแล้ว โดยเฉพาะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2555 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. เป็นประธาน

กระบวนการดำเนินงานถูกโต้แย้ง เพราะยังไม่ได้เปิดโอกาสให้สังคม กลุ่มองค์กร ภาคส่วนต่างๆ ได้มีส่วนร่วมรับรู้และร่วมตัดสินใจเท่าที่ควร

ในที่สุด กรรมาธิการซีกพรรคประชาธิปัตย์ลาออก พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ประกาศไม่ขอร่วมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานผลการศึกษาแนวทางปรองดอง คณะนักวิจัยสถาบันพระปกเกล้าประกาศขอถอนรายงานหากกรรมาธิการยืนยันใช้เสียงข้างมากเป็นตัวตัดสินแนวทางที่คณะนักวิจัยเสนอ

กระบวนการสร้างความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ครั้งนั้นจึงล้มไม่เป็นท่า เพราะขาดการมีส่วนร่วม ยินยอมพร้อมใจ เท่าที่ควร

ซึ่งสะท้อนนัยที่ลึกซึ้ง ยิ่งกว่าเสียงข้างมากในที่ประชุมกรรมาธิการเท่านั้น

 

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image