ผังเมืองกรุงเทพฯ (3-ตอนจบ) โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

หลังจากที่เข้าใจแนวคิดหลักของการวางผังเมือง และประเด็นท้าทายในมิติกรอบกฎหมายของผังเมืองกรุงเทพฯ มาบ้างแล้วในสองตอนแรก ผมจะขอปิดมินิซีรีส์เรื่องผังเมืองกรุงเทพฯ ในสัปดาห์นี้ โดยจะตอบคำถามว่า ตกลงถ้าผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้เอื้อนายทุนแล้วผังเมืองกรุงเทพฯ เอื้ออะไร

โดยจะขยายความว่าผังเมืองกรุงเทพฯ นั้น ถ้าไม่ได้เอื้อนายทุน แต่เอื้อระบบทุนนิยมเสียมากกว่า

ตามที่ได้บอกไปแล้วว่า ผังเมืองกรุงเทพฯ นั้นเอื้อระบบทุนนิยม และที่สำคัญไม่ได้เห็นประชาชนและยอมรับสิทธิของประชาชนในการกำหนดความเป็นไปของเมือง รวมทั้งไม่ได้เพิ่มอำนาจให้คนในเมืองในการกำหนดชีวิตของเขาอย่างมีศักดิ์ศรี

นายทุนเจ๊งได้ แต่เมืองนั้นต้องการให้ทุนเติบโตโดยไม่ได้สัดส่วนกับสิทธิของคนที่จะอยู่และกำหนดเมืองอย่างมีศักดิ์ศรี (rights to the city)

Advertisement

หมายความอีกอย่างว่า ก่อนที่จะเชื่อว่าเครื่องมือในการวางผังเมือง ซึ่งหมายถึงในที่นี้ คือ ผังการใช้ประโยชน์ที่ดินจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหา ก็คงต้องเข้าใจว่าเครื่องมือในการแก้ปัญหาเมืองนั้นมีหลายอย่าง และแนวคิด รวมทั้งกระบวนการในการจัดทำทั้งผังเมืองและแผนยุทธศาสตร์เมืองรวมทั้งเรื่องอื่นๆในเมือง ที่ต้องทำควบคู่กันไป

แต่ทั้งนี้ สิ่งที่เราเห็นในร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ในปัจจุบันคืออะไร

คำตอบก็คือ การสร้างระบบการ “ควบคุมแบบจำแลง” เพื่อทำให้เมืองกลายเป็นเหมืองนั่นเอง

Advertisement

“จากเมืองสู่เหมือง” คือ หัวใจสำคัญของระบบการสร้างพัฒนาผ่านการควบคุมแบบจำแลง เพราะการสร้างความมั่งคั่งของเมืองทุนนิยมแบบที่เป็นอยู่ คือ การเข้าใจระบบการสะสมทุนแบบโบราณ (primitive accumulation) ที่เรียกว่าการสะสมทุนแบบที่พรากรากฐานและรากหญ้าของเมือง รวมทั้งพรากการใช้ชีวิตที่ลงตัวของคนชั้นกลางและคนรวยในบางเรื่องไปด้วย

ที่เรียกว่าเป็นการเอื้อทุนมากกว่าเอื้อคน

เป็นการให้ความสำคัญกับวัตถุและสิ่งปลูกสร้าง มากกว่าคนที่สร้างเมืองและขับเคลื่อนเมือง

จากระบบเมืองสู่ระบบเหมืองคืออะไร?

คำตอบก็คือ หัวใจสำคัญในการวางผังเมืองที่เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือใบอนุญาตในการใช้ที่ดินให้เป็นไปตามสิ่งที่ผู้มีอำนาจได้กำหนดเอาไว้ ซึ่งในกรณีที่เห็นอยู่ในตอนนี้ก็เห็นอยู่แล้วว่าประชาชนแทบไม่มีอำนาจในการกำหนดเมืองที่เขาอยู่อย่างจริงๆ จังๆ

ผังเมืองที่เคยเป็นมาและที่กำลังจะเป็นไปจึงเป็นเสมือนการออกใบอนุญาตขุดเมือง หรือหาความมั่งคั่งกับพื้นที่ในเมืองได้อย่างเต็มที่ตราบใดที่กรอบและมาตรฐานผังเมืองนั้นจะอนุญาตเอาไว้

เช่นพื้นที่พาณิชยกรรมก็เอาให้สุด ยืดหยุ่นให้มากไว้ สูงได้คือสูง

พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางก็สูงได้มากกว่า แน่นได้มากกว่า พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (และจะเห็นว่าที่ดินถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่หนาแน่นปานกลางเพิ่มขึ้นในร่างผังใหม่ ทั้งที่เมืองนี้ประชากรลงทะเบียนลดลง ซึ่งหมายความว่ามันไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงว่าคนจำนวนมากไม่มีปัญญาจะอยู่ในเมืองได้เพราะราคามันแพง แต่ยังเอื้อให้พัฒนาที่ดินราคาแพงเพิ่มขึ้น แล้วใครจะอยู่ได้)

ขุดได้เท่าไหร่ คือ ขุดไป หมายถึงพัฒนาได้เต็มกำลังความสามารถที่ทำได้ภายใต้การควบคุม หรือใช้ประโยชน์ให้สูงสุดตราบใดที่ผังจะกำหนดเอาไว้ให้

แต่ที่มีปัญหาที่ผ่านมาก็คือ ประชาชนไม่เชื่อใจ และหลักฐานไม่ชัดเจนว่าเกณฑ์ในการอนุญาตมันสร้างความสมดุล หรือสร้างความลงตัวว่าเมื่อจะอนุญาตไปขนาดนั้นแล้วคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยมาก่อนนี้มันจะดีได้อย่างไร

ตามที่เห็นกันอยู่มากมายถึงคดีความที่เคยเจอ บางครั้งแก้แพ้ บางครั้งกว่าจะชนะก็กินเวลามายาวนาน

ถามว่าสิ่งนี้คือ ธรรมชาติของการพัฒนาไม่ใช่เหรอ

คำตอบคือ ไม่ใช่ เพราะการพัฒนาเมืองแบบที่เป็นอยู่นั้น มันวางอยู่บนทุนนิยมที่มีรากฐานแบบเสรีนิยม

ในความหมายที่ว่า มองว่าเมืองเป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนทุน และเป็นระบบที่ฝังความเชื่อว่าการพัฒนานั้น ถ้าอยู่ในกรอบที่เหมาะสมก็จะสามารถทำได้อย่างเสรี

แต่รากฐานสำคัญอยู่ที่เรื่องของการตั้งหลักที่ว่า คนที่อยู่ในเมืองจะอยู่ได้บนสิทธิที่สำคัญคือ ต้องครอบครองที่ดินของตัวเอง หรืออย่างน้อยก็ต้องเช่าอย่างเป็นระบบ มีเอกสารหลักฐานการเช่ารองรับ แต่เป็นการเช่าก็จะได้รับความคุ้มครองต่ำ ต่างจากบางเมืองที่การเช่าที่พักอาศัยได้รับการควบคุมได้แง่ของมาตรฐาน และห้ามขึ้นค่าเช่าอย่างก้าวกระโดด หรือห้ามขึ้นเลยจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลท้องถิ่น

สิ่งที่กล่าวไปข้างต้นจึงหมายความว่า คำว่าเสรีนั้นเป็นภาพลวงตาที่ความเป็นจริงคือ การรับรองสิทธิของพลเมืองอยู่ตรงที่เรื่องของการเป็นเจ้าของที่ หรือการได้รับรองการเป็นผู้พักอาศัยจากเจ้าของที่ดินเท่านั้น

คนที่ไม่มีสิทธิเหล่านี้จึงอยู่ได้ผ่านการรวมตัวต่อรอง กดดัน และในบางครั้งถูกมองว่าพวกเขาน่ารำคาญ หรือไม่ควรมีสิทธิกำหนดชีวิตและความเป็นไปของเมือง

ทั้งที่พวกเขาแบกเมืองเอาไว้ หรือสร้างความมั่งคั่งในเมือง โดยเป็นทั้งผู้ใช้แรงงาน และผู้บริโภคในเมือง

และสิ่งที่เราเห็นในวิกฤตที่เกิดขึ้นในเมืองนั้นก็คือ วิกฤตเกิดคู่กับโอกาส แต่ประโยชน์ที่จะได้กลับลงสู่ประชาชนต่างกลุ่มทั้งที่เขาร่วมกันพัฒนาเมืองทั้งคู่

ไม่มีหรอกครับ ที่มองว่าพื้นที่ไหนในเมืองนั้น เป็นแต่ปัญหาและแหล่งอาชญากรรมเหมือนที่เคยมองกันสมัยก่อน เดี๋ยวนี้ทุกคนเห็นว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยคนแบกเมืองที่ให้บริการแรงงานและบริการราคาถูกที่หล่อเลี้ยงเมือง แต่พวกเขาถูกมองว่าไม่ควรมีสิทธิอยู่ในเมืองในพื้นที่ที่มีมูลค่าเหล่านั้น

พูดง่ายๆ เมืองกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ต้องจัดวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นศูนย์กลางความมั่งคั่ง เปิดพื้นที่ให้เป็นเหมืองขนาดใหญ่ที่ทุนสามารถพัฒนาพื้นที่ได้เต็มที่ แต่ไม่ได้ต้องรับผิดชอบว่าคนที่เคยอยู่มาก่อน หรือมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองนั้นจะต้องอยู่อย่างไรได้

อธิบายง่ายๆ ว่า สมมุติว่าเราวางผังสีแบบที่เป็นอยู่ เราจะยอมรับว่าพื้นที่ส่วนที่สร้างมูลค่าได้สูงสุดคือ พาณิชยกรรมนั้นไม่ต้องตั้งคำถามเรื่องการพักอาศัย พื้นที่อาศัยหนาแน่นมาก เรายอมรับว่ามันไม่ใช่เรื่องว่าคนที่รายได้น้อยจะอยู่อย่างไรในพื้นที่เหล่านั้น

แล้วเขาจะไปอยู่ที่ไหนได้หล่ะ

ไม่มีคำตอบตรงจากผังการใช้ที่ดิน เพราะในการใช้ที่ดินตามผังนั้นไม่ใช่เรื่องที่เชื่อมต่อกับนโยบายที่อยู่อาศัย และหน่วยงานทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติก็ไม่เคยได้รับแรงกดดันเหล่านี้ว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องจัดหาที่อยู่อาศัยให้เพียงพอและมีมาตรฐาน

(นั่นคือส่วนที่ผมคิดว่าผังเมืองนั้นคุยกันได้ ตีกันได้ สิ่งที่ขาดระดับสูงสุดในประเทศนี้คือ การคิดการพัฒนาพื้นที่เมืองในระดับกระทรวง ไม่ใช่เป็นกรมที่พัฒนาแต่เครื่องมือ ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ที่สำคัญกรม หรือกระทรวงที่พักอาศัยก็ต้องคิดควบคู่กันไป ไม่ใช่มีแต่กระทรวงอุตสาหกรรมและเกษตร)

จากที่กล่าวมา เราจึงพบว่ายิ่งมีผังเมืองแบบที่เป็นอยู่ ความขัดแย้งจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนรวยที่เคยอยู่ก่อนตั้งแต่พื้นที่เป็นเขตที่พักอาศัยก็เจอกับการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่พวกเขาไม่ได้เลือก คนจนที่อยู่มาก็ถูกผลักออกเพราะต้องการใช้พื้นที่ดินเหล่านั้นให้เกิดมูลค่าสูงสุด

นี่คือวงจรของการสะสมทุนในเมือง และการสร้างความมั่งคั่งในเมืองให้ได้เต็มที่ที่สุดโดยผังเมืองเหมืองเป็นสิทธิบัตรที่รัฐมอบให้ว่าแต่ละที่ขุดได้เท่าไหร่ คนไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในเมืองก็ต้องยอมจำนนและออกไป หรือเชื่อมั่นว่ากระบวนการมีส่วนร่วมแบบวัดประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจะช่วยปกป้องคนที่อยู่มาก่อนได้

ทั้งที่มันไม่ได้เริ่มจากเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่มันเริ่มจากสิทธิที่เขาไม่ต้องการให้เกิดการพัฒนาที่สร้างผลกระทบให้กับพวกเขา

ลองคิดง่ายๆ แบบเรื่องการป้องกันน้ำท่วมสิครับ เมืองทั้งเมืองร่วมใจกันไม่ให้น้ำเข้าเมือง สูบน้ำไปทิ้งที่อื่น ไม่เห็นมานั่งเถียงเลยว่า เรามีบริษัทผู้เชี่ยวชาญมาประเมินแล้วว่า น้ำท่วมสักแค่ไม่ถึงเข่าก็ควรจะรับได้

ในเรื่องของมาตรฐานการผังเมืองในฐานะการควบคุมจำแลงนั้น จะขอเล่าต่อว่าสิ่งสำคัญก็คือ การสร้างแรงจูงใจว่าในแต่ละพื้นที่ของการพัฒนาตามผังสีนั้น หากสร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มได้หมายถึงการเว้นพื้นที่ของตัวเอง ก็จะได้รับการอนุญาตให้สร้างตึกได้สูงขึ้น

คำถามก็คือ การพัฒนาแบบนี้เป็นการอนุญาตที่ตายตัว แต่ไม่ได้เอื้อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นระบบในพื้นที่ในภาพรวม สมมุติว่าไม่มีผู้พัฒนาที่ดินคนไหนทำ เมืองทั้งโซนนั้นก็จะแน่นได้หมด แน่นตามมาตรฐานที่ยอมให้แน่น แน่นตามหลักการเมืองกระชับที่เป็นเรื่องตลกร้าย เพราะเมืองกระชับมันวางบนฐานว่าจะไม่ใช่เมืองขนาดใหญ่ แต่เป็นเมืองระดับย่อยที่การกระชับมีไว้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมโดยรอบและเชื่อมกับโครงการการเดินทาง

ไม่ใช่เมืองกระชับคือ ความเชื่อที่ว่าเมืองที่ขีดเส้นด้วยถนนวงแหวนชั้นในนั้นยังไม่แน่นพอ แล้วไม่ได้มีมาตรฐานว่าในพื้นที่แน่นขนาดนั้นภาพรวม หรือส่วนรวมของพื้นที่นั้นพวกเขาต้องการมาตรฐานชีวิตอะไรบ้างเป็นตัวตั้ง

การนั่งคิดเรื่องมาตรฐานชีวิตที่น่าอยู่ และมีศักดิ์ศรีนั้นเกิดไม่ได้จากรัฐโดยตรง แต่ต้องเกิดจากการที่ประชาชนรวมตัวกันเรียกร้องสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดี มีศักดิ์ศรี

และมีชีวิตร่วมกัน

นั่นก็คือ การต้องถามว่าสิทธิที่จะอยู่ในเมืองมันจะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง

เหมือนกับที่นั่งคิดว่ากรุงเทพฯ ใหญ่ไป เพราะมีประชากรแฝง

คำถามใหม่ก็คือ ประชากรแฝงนั้นเขาไม่ได้มาสร้างปัญหาให้กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่เขาสร้างความมั่งคั่งให้กรุงเทพฯ เท่าไหร่ เขาจ่ายภาษีบริโภคให้กับเมืองขนาดไหน ปัญหาอยู่ที่เขา หรือการที่รัฐมองเรื่องการจัดสรรและบริหารงบประมาณไม่ออกกันแน่

หรืออย่างเรื่องของความเชื่อว่า การสร้างระบบคมนาคมขนส่งแบบราคาแพงในเมือง คือ ทิศทางของการพัฒนาเมือง เราคงต้องคิดใหม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น คือ การสร้างระบบการส่งเสริมความมั่งคั่งของเมืองที่ไม่ได้สัดส่วนกับการพัฒนาการใช้ชีวิตเมืองในด้านอื่น

วันนี้ความจริงเริ่มถูกเปิดเผยแล้วว่า ความสูงส่งและความศักดิ์สิทธิ์ของความเชื่อว่าเมืองต้องเจริญไปตามแนวทางรถไฟฟ้าสุดท้ายทำให้ที่ดินที่รถไฟฟ้าผ่านนั้นราคาสูงขึ้น คนเริ่มต้องออกจากเมืองไปไกลขึ้น และต้องรับผิดชอบกับค่าเดินทางที่สูงขึ้นของราคาการเดินทางที่แท้จริง ทั้งรถไฟฟ้าที่ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆจากระบบสัมปทาน ไม่ใช่ระบบระยะทางจริง (เช่น อ่อนนุชถึงหมอชิตระยะทางไกลกว่า แบริ่งถึงสยามสแควร์ แต่เพราะระยะทางหลังผ่านระบบสัมปทานสองต่อก็เลยแพงกว่า) รวมทั้งระบบรถเมล์ที่สูงขึ้นทั้งที่เป็นรถไฟฟ้า ซึ่งควรจะถูกลง และระบบการจัดการเส้นทางที่มั่วไปหมด เพราะส่วนหนึ่งการเปิดให้มีรถร่วมนั้นยิ่งเป็นภาระกับเส้นทางที่ทำกำไรได้น้อย

แต่ระบบการสนับสนุนชีวิตเมืองทั้งการพักอาศัย การเดินทาง และคุณภาพชีวิตไม่ได้เชื่อมเป็นระบบและได้สัดส่วนกับความมั่งคั่งของการพัฒนาที่ดินและกำไรของได้สัมปทานระบบคมนาคมเอาเสียเลย

คนจนเมืองไม่มั่นคงมากขึ้น แต่เขาต้องการเมืองมากกว่าเดิม ต้องออกไปไกลขึ้นเดินทางมาทำงานในเมือง ไม่เช่นนั้นก็ต้องหลบซ่อนในพื้นที่ที่เขาไม่มีสิทธิในเมือง ความเปราะบางในเมืองมีมากขึ้นเมื่อเมืองมั่งคั่งขึ้น การรวมตัวต่อสู้ต่อรองไม่ได้เกิดอย่างสวยหรูประเภทได้นั่งโต๊ะเจรจา หรือให้ข้อมูลกับจักรกลและอุตสาหกรรมการวางผังเมืองง่ายๆ เพราะพวกเขาไม่มีสิทธิในที่ดินและในการพักอาศัยในเมืองด้วยซ้ำ

คนรวยและคนชั้นกลางก็ใช่ว่าจะรอดในเมืองนี้ ปัญหานรกแตก (wicked problems) เช่น ปัญหาฝุ่นในเมืองก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยการแก้ปัญหาที่ไม่เคยได้สัดส่วนความรุนแรงของปัญหาเหล่านั้น แน่นอนว่าพวกเขาอาจมีวิธีป้องกันตัวเอง เช่น มีมาตรฐานอาคารและเครื่องกรองอากาศที่ดีกว่า แต่เขาก็ออกไปมีชีวิตนอกเมืองแห่งนี้ไม่ได้อยู่ดี เพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการสร้างความมั่งคั่งในเมืองนี้เช่นกัน

ผมไม่เชื่อว่าจะมีผังเมืองที่ดีที่สุดสำหรับกรุงเทพฯ เท่ากับกระบวนการทางการเผยแพร่ความคิดว่าเมืองที่ดีเราสร้างและต่อรองได้บนความเข้าใจความสลับซับซ้อนของกระบวนการนคราภิวัฒน์ (urbanization) หรือที่เรียกว่า กระบวนการพัฒนา หรือเสื่อมถอยของเมือง (urban process-growth or decline) โดยไม่ได้มองแค่ว่าใครได้ ใครเสีย แต่ต้องมองให้ดีว่าคนได้ หรือเสีย คนมีชีวิตที่ดี และแย่ลงนั้นเป็นกระบวนการเดียวกัน

มองการพัฒาเมืองไม่ใช่เริ่มจากการไม่พัฒนามาสู่การพัฒนา หรือถูกทำให้มองว่าการพัฒนาเมืองเริ่มจากการพัฒนาที่ไม่พอสู่การพัฒนาที่พอ หรือมองว่าการพัฒนาเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความยากจน

แต่ต้องมองว่า การพัฒนานั้นอาจเกิดจากการสร้างปัญหา และเป็นบ่อเกิดของความยากจน คือ พัฒนาไม่ได้แปลว่า แก้ปัญหาการไม่พัฒนา แต่ความยากจน หรือความลำบากในชีวิตเมืองเกิดจากการพัฒนาด้วยแนวคิดและทิศทางแบบที่ผ่านมา หรือกำลังเป็นอยู่

วิกฤต หรือปัญหาที่มีไม่ได้เกิดการไม่พัฒนา แต่อาจเกิดจากการพัฒนาแบบที่ทำๆ กันอยู่

ทุกปัญหาไม่ใช่มีทางออกง่ายๆ และทุกทางออกง่ายๆ นั้นเต็มไปด้วยปัญหาที่รออยู่

การสร้างกระบวนการสนทนาและตั้งหลักก่อนว่าเราจะใช้ชีวิตร่วมกันในเมืองอย่างไร หรือความลงตัวในเมือง คือ ชีวิตที่ต้องใช้ร่วมกัน การอยู่ด้วยกันสำคัญกว่าตั้งหลักว่าใครมีสิทธิหรือไม่มีสิทธในเมืองมาถามว่า ถ้าสิทธิที่อยู่ในเมือง คือ ทรัพยากรร่วมที่ทุกคนที่มีส่วนร่วมในความมั่งคั่งและปัญหาในเมืองนี้ต้องแก้ร่วมกัน ไม่ใช่เรื่องของทรัพย์สินและการถือครอง

เราอาจจะเริ่มมองเรื่องทั้งหมดใหม่ รับฟังเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ก่อนที่จะกันคนออกจากกระบวนการไปเรื่อยๆ

หรือแสดงความไม่เดียงสาในการรับรู้วิกฤตของชีวิตในเมืองที่ทุกคนเผชิญอยู่ร่วมกันอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้

คิดซะใหม่ว่าสิ่งที่กรุงเทพฯต้องการคือ ผัง หรือแผนการใช้ชีวิตร่วมกันในเมืองอย่างมี(ศักดิ์)ศรี

ไม่ใช่ผังการอนุญาตพัฒนาที่ดินให้เต็มคาราเบลในแต่ละสีที่ยังสื่อสารกับประชาชนที่เขาไม่เคยหายข้องใจสักทีว่า ทำไมพวกเขาถึงได้เดือดร้อนเช่นนี้มาตลอด

หมายเหตุ – ขอบคุณแนวคิดดีๆ ของอาจารย์ อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา และอาจารย์
ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์

ย้อนอ่านบทความที่เกี่ยวข้อง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image