ความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมในกรณีสารพิษที่สมุทรสาคร โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ผมรับทราบข่าวการค้นพบสารพิษ (กากแคดเมียม) จำนวนมากในจังหวัดสมุทรสาคร ที่มาจากจังหวัดตาก แล้วล่าสุดไปเจอร่องรอยที่ชลบุรีเข้าไปอีก คือว่ารับทราบข่าวแล้วก็ไม่เข้าใจว่าคนในประเทศนี้เหมือนจะปล่อยผ่านประเด็นนี้ไปอย่างง่ายๆ ไม่ได้มีแรงกดดันอย่างจริงๆ จังๆ สักเท่าไหร่ ไม่เกินสองวันในหน้าสื่อก็ถูกข่าวอื่นกลบไปหมด (เว้นไทยพีบีเอส)

ทิศทางข่าวเป็นไปในเรื่องของข่าวอาชญากรรมมากกว่าข่าวภัยพิบัติสิ่งแวดล้อม

หมายถึงการนำเสนอที่ไปเน้นว่าสิ่งที่พบนั้นคือของที่ผิดกฎหมาย ในช่วงแรกยังไม่มีการประกาศเขตภัยพิบัติ แล้วก็เน้นไปที่การรายงานขั้นตอนการขนส่งมาจากตาก และการพูดถึงการห้ามเข้าโรงงานเก้าสิบวัน อีกทั้งยังพูดถึงการส่งกลับที่เดิมคือจังหวัดตาก

จนกระทั่งการประกาศเขตภัยพิบัติ สิ่งที่ยังเป็นที่กังขาก็คือ แล้วสารพิษที่ยังตกค้างในจังหวัดระหว่างรอขนย้ายกลับในเจ็ดวันนั้นจะเป็นอย่างไร

Advertisement

และพื้นที่โดยรอบจะเป็นอย่างไร

ไม่นับพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาครเอง

จากนี้จะดูแลสุขภาวะของคนในสมุทรสาครอย่างไร หรือต้องรอรักษาเอาทีหลัง

Advertisement

การไล่ตามข่าวทำให้พบว่า ประชาชนรับทราบเรื่องราวในแง่ของความผิดทางกฎหมาย เพราะกากแคดเมียมจะต้องฝังกลบเท่านั้น ดังนั้น จึงผิดในทางกฎหมาย

แต่ประชาชนไม่เคยทราบว่าสารแต่ละตัวที่กฎหมายกำหนดนั้นมันอันตรายอย่างไร และมีผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนั้นมันมากแค่ไหน

อีกเรื่องที่สำคัญคือ ไม่มีภาพข่าวในเชิงพื้นที่ว่าผลของสารพิษตัวนี้จะกระทบพื้นที่แวดล้อมไปแค่ไหน

อย่าลืมว่าพื้นที่สมุทรสาครนั้นห่างจากกรุงเทพ มหานครแค่สามสิบกิโล และห่างจากสมุทรสงคราม โดยเฉพาะพื้นที่อัมพวาที่เป็นพื้นที่เกษตรประมาณเดียวกัน

กลายเป็นว่าจากเดิมที่เรามักสนใจภัยพิบัติในแง่ของน้ำท่วม และภัยแล้งเป็นหลัก ในช่วงนี้ภัยพิบัติด้านมลพิษนั้นเพิ่มมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ไล่เรียงมาตั้งแต่ฝุ่น PM.25 มาจนถึงเรื่องสารแคดเมียมในเมืองดังที่เป็นข่าว

พอเข้าไปดูงานวิชาการต่างประเทศ งานที่ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมกับมลพิษในเมืองและการวางผังเมือง รวมทั้งการบริหารจัดการเมืองนั้นก็เน้นไปที่เรื่องของการวางแผนจัดเตรียมพื้นที่และวางมาตรการควบคุมในตอนก่อนที่จะลงมือทำเสียมากกว่าที่จะทำแล้ว

แต่ก็ยังมีอีกสองเรื่องที่สำคัญก็คือ เรื่องของบทบาทของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนต่อผลกระทบของสารพิษต่อชุมชน และเรื่องของความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม

เรื่องแรกในแง่ของบทบาทของชุมชนและประชาชนต่อกระบวนการตัดสินใจด้านมลพิษ และสิ่งแวดล้อม จะพบว่าสิ่งที่สำคัญมากๆ คือสิทธิที่ประชาชนควรรู้ ทั้งก่อนและหลังการมีสารพิษในพื้นที่

เรื่องในรายละเอียดก็คือการสื่อสารกับประชาชนให้รวดเร็วและไม่ล่าช้าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด โดยที่เรื่องเหล่านี้ในสหรัฐอเมริกา อยู่ในเรื่องที่ EPA (United States Environmental Protection Agency) เป็นผู้ดูแล หมายถึงหน่วยงานระดับชาติที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกี่ยวพันไปถึงการวางแผนสถานการณ์ฉุกเฉินและสิทธิของชุมชนในการที่จะรับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีสถานะเป็นกฎหมาย โดยจะต้องมีคณะกรรมการในการวางแผนสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่น และต้องมีการแต่งตั้งผู้ที่มีความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม (ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้มีอำนาจในลำดับชั้นของหน่วยงาน) และองค์กรชุมชนที่จับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมการนี้จะต้องทั้งจัดทำแผนและกำหนดพื้นที่สถานการณ์ฉุกเฉินในท้องถิ่น และพิจารณาเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนและสังคม

จะเห็นว่าสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นประชาชนสามารถที่จะร้องเรียนหน่วยงานของเอกชน และของรัฐที่ล้มเหลวในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยได้

ทั้งนี้ ในคู่มือของ EPA ยังระบุถึงการทำการวิเคราะห์มลพิษในพื้นที่ด้วย การตั้งคำถามว่าชุมชนนั้นมีสิทธิที่จะรู้ว่ามีสารพิษอะไรในพื้นที่่ และเมื่อมีการปล่อยสารพิษนั้นจะต้องมีการระบุพื้นที่ให้ชัดเจน รวมไปถึงว่าในชุมชนนั้นจะต้องมีการรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหากมีการรั่วไหล โดยตั้งคำถามได้ว่าในพื้นที่มีทรัพยากรอะไรในการจัดการ (จะเห็นว่าของไทยนั้นจากข่าวมีแต่เครื่องมือกฎหมายเป็นหลัก และยังคาสารเอาไว้ในพื้นที่เจ็ดวัน รวมทั้งการรอการตัดสินใจจากผู้ว่าฯ)

นอกจากนั้นยังต้องรวมถึงการพูดถึงว่าประชาชนในพืนที่จะต้องมีความรู้ ข้อมูล และการเตรียมพร้อม ซักซ้อมอะไรเมื่อเกิดสถานการณ์ดังกล่าว และอะไรคือมาตรการในการป้องกันไม่ให้เหตุร้ายด้านการรั่วไหลในพื้นที่เกิดขึ้นได้

การทำการวิเคราะห์ความเปราะบางของพื้นที่และความเสี่ยงของพื้นที่ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งตอนนี้เราพอจะมีองค์ความรู้แล้วว่า โรงงานรีไซเคิลอาจจะเป็นจุดที่ต้องเฝ้าระวัง ถามว่าตอนนี้ในพื้นที่อื่นๆ ในประเทศมีการตื่นตัวและตรวจสอบบ้างหรือยัง

(ดูที่ National LEPC-TEPC Handbook: https://www.epa.gov/epcra/national-lepc-tepc-handbook)

เรื่องที่สองที่เราคงต้องคิดกันก็คือเหนือไปจากเรื่องภัยพิบัตินั้นเป็นเรื่องที่มากกว่ากฎหมายและขั้นตอนการจัดการ ไปสู่เรื่องผลกระทบด้านความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะต่อสังคม นั่นหมายความว่า อย่างน้อยในกรณีของสหรัฐอเมริกาเขายอมรับของความจริงที่เจ็บปวดมานานแล้วว่ามลพิษนั้นมักจะอยู่ใกล้ชิดกับชุมชนคนยากจน หรือชุมชนที่ไร้อำนาจในการต่อรอง เช่น การไปตั้งพื้นที่จัดการขยะในบริเวณพื้นที่คนจนที่รวมตัวไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะพื้นที่คนผิวสี
และชนพื้นเมือง ทั้งในชนบทและในเมือง

นอกจากนี้แล้วในการจัดรับฟังความคิดเห็นนั้น นอกจากการจัดเวลาและสถานที่ที่ประชาชนเข้าร่วมได้ สิ่งสำคัญที่เป็นตัวชี้วัดในเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนก็คือการจัดทำข้อมูลที่รอบด้าน เป็นธรรม และจริงใจต่อประชาชน ไม่ว่าจะด้านกระบวนการทางกฎหมาย ข้อมูลทางกฎหมาย ข้อมูลสิ่งแวดล้อม ข้อมูลด้านเทคโนโลยีที่เป็นจริงและข้อจำกัดของเทคโนโลยีเหล่านั้น และสิทธิของผู้คนที่ได้รับผลประทบหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เหล่านั้น

นอกจากนี้ การมีผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาในกระบวนการนั้นโดยไม่ได้ยืนข้างใครก็สำคัญ ไม่ใช่เป็นที่ปรึกษาของรัฐ แต่ต้องได้รับการไว้ใจและยอมรับจากประชาชนและชุมชน และสร้างกระบวนการที่ประชาชนสามารถติดตาม ตรวจสอบเฝ้าระวังในพื้นที่ได้จริง (ดูต่อที่ EPA, Social Aspects of Siting RCRA Hazardous Waste Facilities. 2000)

เรื่องที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างที่ในประเทศอื่นเขามี แต่เมืองไทยไม่มี หรืออาจจะมีแต่ไม่ทำกัน

แต่ก็ต้องเข้าใจว่ากว่าอเมริกาจะมีเขาก็สู้กันมานาน

ดังนั้น ที่บ้านเราคงจะต้องสู้กันอีกนาน อย่าไปคิดว่าจะเป็นไปได้ในวันสองวัน

ตอนนี้แค่ขอให้เชื่อก่อนว่าประชาชนในพื้นที่เขารับรู้เรื่องราวต่างๆ ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งจากข่าวที่น่าหดหู่ในบ้านเราก็คือเป็นเรื่องยากมากที่ประชาชนจะรับรู้ในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างทันท่วงที

ระหว่างแก้ปัญหาเรื่องนี้แบบค่อยเป็นค่อยไปทั้งที่สถานการณ์รุนแรงยิ่ง เรื่องต่อๆ คงถาโถมเข้ามาเรื่อยๆ ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image