สกัดหาเสียงออนไลน์…สวนโลก ตกยุค

สกัดหาเสียงออนไลน์…สวนโลก ตกยุค

ยังไม่รู้ว่า องค์กรที่ได้รับข้อเสนอ “การพัฒนาพรรคการเมืองและการสร้างพลเมืองในยุคดิจิทัล : ปัญหาและแนวทางแก้ไข” โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา จะมีหน่วยงานใดบ้างที่ตอบรับ เดินหน้าต่อ สนองตอบความหวั่นไหว หวาดวิตก ย้อนยุค ของ ส.ว.ชุดสุดท้ายนี้กันบ้าง

ไม่ว่าคณะรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) คณะกรรมการการเลือกตั้ง และ กสทช. ฯลฯ

โดยเฉพาะ กกต. ถูกเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เท่าทันกับการเลือกตั้งและหาเสียงยุคใหม่

Advertisement

ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา กรรมาธิการสรุปปัญหาและอุปสรรคในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการพัฒนาการเมืองและการสร้างพลเมืองในยุคดิจิทัล 5 ประเด็น 1.ความเป็นเจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ที่อยู่ในต่างประเทศ ทำให้ประสานงานไม่ได้ 2.ความรู้ความเข้าใจของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของประชาชน ขาดความชำนาญและความเท่าทัน

3.สมรรถนะและความพร้อมของพรรคการเมืองไทย พรรคการเมืองที่มีความพร้อมได้เปรียบการเข้าถึงประชาชน 4.ประสิทธิภาพของหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีข้อจำกัดในเรื่องของกฎหมายที่ได้อ้างอิงถึง ซึ่งบุคลากรจะต้องมีการพัฒนา และ 5.ความไม่ทันสมัยของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ส.ว.แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ชี้เฉพาะไปที่การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เอไอและไอโอ เพื่อประโยชน์ในการเอาชนะเลือกตั้ง

Advertisement

ติดตามฟังตลอดแล้ว คิดถึงสำนวนไทย “ฟังความข้างเดียว”

การหาเสียงออนไลน์ยุคดิจิทัล มีแต่ผลเสีย ด้านลบ ไม่มีด้านบวกที่เป็นผลดีเลย

สวนทางกับความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ ทุกสรรพสิ่ง ความจริงแห่งชีวิต เหรียญมี 2 ด้าน ทั้งด้านดีและด้านร้าย

การใช้เทคโนโลยียุคใหม่เป็นเครื่องมือในการหาเสียงสร้างคะแนนนิยม ทำให้เข้าถึงผู้คน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รวดเร็ว ทั่วถึง จำนวนมากกว่า สะดวกกว่าการหาเสียงรูปแบบเดิมๆ ที่ผ่านมา

มีส่วนให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ สร้างสำนึกความตื่นตัวทางการเมืองได้กว้างขวางกว่า

หากมองด้านเดียว ด้านร้ายก็จะมองแต่ว่าเป็นช่องทางทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ การโกง

ทั้งๆ ที่ทุกคน ทุกพรรค มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นเดียวกัน ต่างกันตรงที่ความสนใจ ความรู้ ความสามารถ ความตื่นตัว กระตือรือร้นที่จะใช้เทคโนโลยีมีแค่ไหน

คนยุคใหม่ รุ่นใหม่ กับ คนยุคเก่า ตกสมัย แตกต่างกัน ก็ตรงนี้

ว่าไปแล้วเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือ เป็นช่องทางการสื่อสารช่วยสนับสนุนด้วยรูปแบบต่างๆ ความสำคัญยิ่งกว่าอยู่ที่คน ทั้งคนส่งสารและคนรับสาร

โดยเฉพาะเนื้อหาสาระของสารที่ส่งออกไป เป็นเรื่องจริง หรือเท็จ มีคุณค่า น่าเชื่อถือ แค่ไหน

ในทางการเมือง เนื้อหาสาระ รวมถึงตัวบุคคล คือ บุคลากรทางการเมืองที่ถูกนำเสนอต่อสังคม เปรียบไม่ต่างจากสินค้า มีคุณภาพหรือไร้คุณภาพ

หากสินค้าดี คนดี มีคุณภาพ ย่อมมีโอกาสได้รับการตอบรับ ส่งเสริม สนับสนุน รับซื้อจากลูกค้า ผู้บริโภค ซึ่งก็คือผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นั่นเอง

โหวตเตอร์รุ่นใหม่ ยุคใหม่ ไม่ได้โง่ ดักดาน ตามทันเทคโนโลยี ล้วนมีความคิด ความอ่าน เป็นของตัวเอง

ถ้าผู้ขาย สินค้าห่วย คนห่วย ไร้คุณภาพ ไร้จุดยืนประชาธิปไตย แต่ฝักใฝ่ รับใช้อำนาจนิยม เสนอตัวผ่านสื่อเก่า สื่อใหม่ จะใช้เครื่องมือเทคโนโลยีเข้าหนุนช่วยอย่างไรก็ไม่มีใครซื้อ

ความพยายามสกัดกั้น คนรุ่นใหม่ ที่มีคุณภาพ ผ่านการกำจัด ควบคุม การใช้เทคโนโลยี จึงเป็นอาการดิ้นรนของคนตกยุค สวนกระแสโลกสมัยใหม่ การสื่อสารข้ามสื่อ ข้ามรัฐ ลอดรัฐ

มีความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ การสื่อสารของผู้คนทั้งสังคม

แม้จะมีข้ออ้างถึงการปล่อยข่าวเท็จ ข่าวปลอม บิดเบือน มาสนับสนุนการจำกัด ควบคุมการหาเสียงออนไลน์ก็ตาม

ที่ผ่านมารัฐไทยมีกลไกตามกฎหมายต่างๆ อยู่แล้วมากมาย ไม่ว่า กม.อาญา แพ่ง กม.คอมพิวเตอร์ กม.ข้อมูลข่าวสารของราชการ กม.ข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล กม.ความมั่นคงฯ เพื่อใช้ในการต่อสู้ ปราบปรามข่าวสารข้อมูลเท็จ

หากการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐาน มีความเป็นธรรม กฎหมาย กลไก ที่มีอยู่ก็มากพอแล้วที่จะดำเนินการกับผู้ใช้เทคโนโลยีบิดเบือนเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง พรรคและนักการเมือง ทั้งเลือกตั้ง และแต่งตั้ง

แต่เนื่องเพราะว่าความสามารถในการสร้างคอนเทนต์ และใช้เทคโนโลยีสู้คนรุ่นใหม่ไม่ได้ เลยไม่ยอมรับ กลับพยายามหาวิธีการ จำกัด สกัดกั้นทุกรูปแบบ ก็เท่านั้นเอง

ถามว่า ภายใต้ความก้าวหน้ารวดเร็วของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คุณควบคุม กำจัด ได้จริงหรือ

แทนที่จะส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้คนใช้เทคโนโลยี อย่างรู้เท่าทัน ผลิตเนื้อหาที่ดีกว่า ถูกต้องกว่า
นำเสนอตัวบุคคลที่ดี มีคุณภาพมากกว่า ให้ผู้บริโภค ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เป็นผู้ตัดสินใจเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image