ความงุนงงสงสัยกับเรื่องของส.ว. โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในที่สุดกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็เริ่มเดินหน้า ทั้งในส่วนของการประกาศขั้นตอนการเลือก การเริ่มรับสมัคร และการพยายามตอบคำถามของ กกต. ว่าอะไรทำได้ หรืออะไรทำไม่ได้

สิ่งที่ผมอยากจะพูดในสัปดาห์นี้ก็คือ ตอนนี้มีเรื่องที่กลายเป็นฉันทามติของสังคม และสิ่งที่ไม่เป็นฉันทามติของสังคมในเรื่องของ ส.ว.

ในส่วนที่ไม่เป็นฉันทามติของ ส.ว. ก็คือ ตกลงการหาเสียงควรทำได้แค่ไหน ทำไม ส.ว.จะต้องเลือกกันเอง ซึ่งหมายถึงประชาชนทั่วไปที่อายุไม่ถึงสี่สิบไม่มีสิทธิเลือก และคนที่อายุถึงจะมีสิทธิเลือกก็ต้องไปลงสมัครและเสียเงินค่าสมัครถึง 2,500 บาท ถึงจะใช้สิทธินี้ได้

แถมยังมีกระบวนการที่ซับซ้อนว่าจะต้องมีการสมัครผ่านการระบุกลุ่มอาชีพที่ต้องการลงสมัคร ซึ่งมีตายตัวอยู่ยี่สิบกลุ่ม และสุดท้ายต้องมาเลือกไขว้กันเองอีกในหลายระดับ

Advertisement

มิหนำซ้ำคำถามที่สำคัญก็คือการรณงค์นั้นทำได้แค่ไหน มันเป็นเรื่องแค่ กกต. กับประชาชนใช่ไหม กลุ่มการเมืองต่างๆ จะเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้อย่างไร

ถ้านิยามแบบแคบคือ ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่กลุ่มการเมืองอื่นๆ (เช่น ที่เคยเป็นพรรคการเมืองมาก่อน แล้วถูกตัดสิทธิ) จะมีบทบาทในเรื่องนี้ได้อย่างไร

อีกเรื่องที่ดูจะมีความสำคัญก็คือ กกต.นั้นจะมีความชอบธรรม และ สมรรถนะในการจัดการการเลือกตั้งครั้งนี้ได้แค่ไหนอย่างไร

Advertisement

เรื่องทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สิ่งที่ผมคิดว่ามีส่วนที่เราหลงลืมไป ก็คือ เอาจริงๆแล้วเราซื้อความคิด หรือยอมรับกันจริงๆ ใช่ไหมว่า ส.ว. นั้นจะต้องมีอำนาจมากเหมือนที่เป็นมา และเป็นที่มาขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่สร้างเหตุสร้างผล และเป็นอิสระจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

เดิมในสังคมไทยนั้น ส.ว.ไม่ได้มีอำนาจมากขนาดนี้มาก่อน โดยภาพรวมแล้ว ส.ว. เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ เพราะได้รับการแต่งตั้งมาจากฝ่ายรัฐบาล และโดยกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญนั้น ส.ว. แม้จะมีอำนาจยับยั้งกฎหมายได้ ก็เป็นอำนาจในลักษณะชั่วคราว เมื่อเรื่องถูกกลับไปที่สภาผู้แทนฯอีกครั้ง และสภาผู้แทนนั้นมีทั้งเอกภาพและเจตจำนงที่แน่วแน่ และยืนยันด้วยคะแนนเสียงที่มากกว่าเสียงข้างมากก็จะสามารถนำเรื่องไปสู่ขั้นตอนต่อไปคือ ทูลเกล้าถวายพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพิจารณาลงพระปรมาภิไธย

ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดขึ้นกับ ส.ว.ในยุคสมัยหลัง สามารถย้อนกลับไปพิจารณาที่กระแสการปฏิรูปการเมืองที่นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในปี 2540 ที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่โดยภาพรวมแล้วต้องการพัฒนาการเมืองไปอีกระดับหนึ่ง

หมายถึงการพยายามสร้างระบบที่สามารถตรวจสอบนักการเมืองที่เข้มข้นขึ้น มากกว่าปล่อยให้การตรวจสอบนักการเมืองนั้นเกิดจากการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว (หรือเกิดผ่านรัฐประหาร คือล้มกระดานกับไปเป็นรอบๆ)

ส.ว. จึงทำหน้าที่สำคัญในการเป็นที่มาขององค์กรอิสระ นอกเหนือจากการมีความเกี่ยวพันกับการเมืองในรัฐสภามากขึ้น ทั้งที่ความชอบธรรมของ ส.ว.ในช่วงนั้นก็คือเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้ง ส.ว.รายจังหวัด ซึ่งโดยรายละเอียดแล้ว หลายคนในยุคนั้นก็มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เพราะบางคนเคยได้รับการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมากก่อน ซึ่งหมายถึงมีความยึดโยงกับประชาชนอย่างเน้นแฟ้น สามารถยืนระยะในการตรวจสอบทางตรงในการตั้งกระทู้ถาม และมีบทบาททางส่งต่อรัฐบาลที่มาจากความนิยมจากการเลือกตั้งได้

และก็มีบทบาททางอ้อมในการตั้งองค์กรอิสระที่มาตรวจสอบนักการเมืองในหลายๆ ทาง

ยุคหลังจาก ส.ว.เลือกตั้งรอบแรก ส.ว.เริ่มกลายเป็นสภาผัวเมีย สะท้อนว่าความชอบธรรมทางการเมืองของ ส.ว.นั้นเริ่มลดลง จากนั้นก็มีการทำรัฐประหาร และ ส.ว.กลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในฐานะเครื่องมือของระบอบรัฐประหารเต็มรูปในช่วงเปลี่ยนผ่านออกจาก เพราะมาจากการแต่งตั้งจากระบอบดังกล่าวอย่างเกือบจะตรงไปตรงมา ส.ว.จำนวนไม่น้อยมีผลงานโดดเด่นในการเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพในระบอบรัฐประหารมาก่อนหน้านั้น เช่น อยู่ในแม่น้ำห้าสายมาก่อน

ที่สำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของ คสช.นั้น รัฐธรรมนูญให้อำนาจ ส.ว.ในการมีส่วนในการลงคะแนนเลือกรัฐบาล และทำให้ผลของการจัดตั้งรัฐบาลในรอบนี้ไม่ได้สะท้อนออกอย่างตรงไปตรงมาจากผลเลือกตั้ง จากเดิมสองพรรคที่คะแนนสูงสุดและยืนตรงข้ามกับระบอบรัฐประหารนั้นมีความพยายามจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน แต่ติดที่ความพยายามดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากพรรคการเมืองที่เคยร่วมงานกับระบอบรัฐประหารมาก่อน และจาก ส.ว.นั่นเอง

สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำก็คือ ในขณะที่หลายคนไม่พอใจกับบทบาทของ ส.ว.ในชุดปัจจุบัน และหลายคนไม่พอใจกับกระบวนการที่ซับซ้อนและไม่เปิดกว้างในการเลือกตั้ง ส.ว.ในรอบนี้

แต่ดูเหมือนกับว่าทุกฝ่ายจะยอมรับว่า ส.ว.ควรจะมีบทบาทอย่างสูงในการเมืองไทย ซึ่งแม้ว่าในรอบหน้านี้จะไม่มีบทบาทในการเลือกรัฐบาลแล้ว แต่บทบาทในการเป็นที่มาขององค์กรอิสระ และในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีอยู่สูง

ทั้งที่กระบวนการที่จะเปิดขึ้นในการเลือก ส.ว.ไม่สามารถให้หลักประกันได้เลยว่าจะสามารถมีตัวแทนที่มาจากประชาชนได้ เพราะ ส.ว.นั้นไม่ได้มากจากการเลือกของคนทั้งประเทศ

ระบบที่เป็นอยู่จึงขาดมิติของการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่สามารถให้หลักประกันว่าจะได้รับเลือกจากคนดีที่มีความสามารถในสาขาเหล่านั้นได้

อย่างในระบบสหรัฐอเมริกา ส.ว.มีอำนาจมาก แต่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในแต่ละมลรัฐอย่างตรงไปตรงมา ส.ว.จึงมีบทบาทที่สำคัญ และประธานาธิบดี (รวมทั้งผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี) หลายท่านก็มาจากอดีต ส.ว.

ขณะที่ในอังกฤษ ส.ว.ในสภาสูง (สภาขุนนาง) นั้น ไม่ได้มีอำนาจมาก แต่จะได้รับการยอมรับจากประชาชนว่ามีความรู้ความสามารถ ทั้งจากชาติกำเนิด และความรู้เฉพาะทาง (ในความเป็นจริงฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านสามารถเสนอชื่อแต่งตั้งเข้ามา โดยนายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อทูลเกล้าเพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง ทั้งนี้ รวมทั้งความเห็นของคณะกรรมการคัดเลือกของ ส.ว.ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นอิสระจากสภาขุนนาง (สภา ส.ว.) ด้วย และ ส.ว.ของเขามักจะเข้ามาให้ความเห็นในเรื่องที่เขาถนัด ไม่ใช่ทุกเรื่อง – (ดูเพิ่มที่ https://www.parliament.uk/business/lords/whos-in-the-house-of-lords/members-and-their-roles/how-members-are-appointed/)

เป็นที่เข้าใจได้ว่าการจัดวางโครงสร้างเชิงสถาบันของการเมืองไทยมีลักษณะที่ยุ่งเหยิงยิ่ง โดยเฉพาะหลังจากการเปลี่ยนผ่านออกจากระบอบรัฐประหารในรอบที่ผ่านมา ประชาชนและฝ่ายประชาธิปไตยโดยรวมเองก็ลำบากใจ ถ้าเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญโดยจำกัดอำนาจ ส.ว. ก็จะทำไม่ทัน เพราะเลือก ส.ว.ในรอบนี้มาก่อนแก้รัฐธรรมนูญ (แม้บทเฉพาะกาลที่ ส.ว.จะมีส่วนเลือกนายกรัฐมนตรีจะจบลง) แต่ทุกฝ่ายก็งงใจว่าจะทำอย่างไรที่จะได้ ส.ว.ที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนที่แท้จริงเพราะโอกาสในการนำเสนอตัวเองของ ส.ว.ในแง่ความคิดจุดยืนก็จำกัดเหลือเกิน โดยเฉพาะเมื่อ ส.ว.ไม่ได้ถูกเลือกโดยประชาชนทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้งในความหมายเดียวกับที่เลือก ส.ส.

สุดท้ายทุกคนที่มีปัญญาเข้าร่วมกับกระบวนการ ส.ว.ในรอบนี้ก็จะเข้าร่วมในพิธีกรรมที่ไม่ได้มีความหมายและคุณค่าอะไรมากนัก

และการเลือกตั้ง ส.ว.ในรอบนี้จะไม่ได้ทำหน้าที่สำคัญคือ สร้างความชอบธรรมให้กับระบอบการเมืองที่เป็นอยู่

หากคนตื่นตัวมาก กลไกจัดการเลือกตั้งและฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ประชาธิปไตยเติบโตก็จะมองว่านี่ไม่ใช่เจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว

แต่ถ้าคนไม่ตื่นตัว ประชาชนที่ต้องการตัวแทนเข้าไปขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองเชิงประชาธิปไตยก็อาจหมดหวัง แปลกแยก หรือโกรธแค้นและออกมาแสดงความเห็นเหล่านั้น รวมถึงความไม่พอใจนี้จะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการผลักดันประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งก็จะทำได้ยากยิ่งจากเงื่อนไขที่มีอยู่

หรือพวกเขาอาจกดดันใหรัฐบาลแสดงท่าทีบางประการต่อกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองในการเลือก ส.ว.ได้น้อยมาก

ทั้งที่ ส.ว.มีอำนาจมาก และต้องการเงื่อนไขการเชื่อมโยงกับประชาชนมากขึ้น

อีกไม่นานก็คงรู้กันครับผม

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image