เหตุการณ์ประท้วงสงครามอิสราเอล ละม้ายกับการต่อต้านสงครามเวียดนาม

เหตุการณ์ประท้วงสงครามอิสราเอล ละม้ายกับการต่อต้านสงครามเวียดนาม

เหตุการณ์ประท้วงสงครามอิสราเอล
ละม้ายกับการต่อต้านสงครามเวียดนาม

ดูประหนึ่งว่าเดือนพฤษภาคมเป็นฤดูกาลที่โหดร้ายของอเมริกา เหตุการณ์นักศึกษาประท้วงอิสราเอลทำสงครามที่ขาดไร้มนุษยธรรมต่อฉนวนกาซานั้น ไม่ต่างไปจากเหตุการณ์ประท้วงสงครามเวียดนามเมื่อเดือนพฤษภาคม 1970 ซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์ที่จุติขึ้นมาใหม่ อันเป็นกรรมเดียวกัน แต่ต่างวาระ

วันที่ 4 พฤษภาคม 1970 ณ มหาวิทยาลัยเคนต์สเตท รัฐโอไฮโอ ตำรวจกราดยิงนักศึกษาระหว่างเดินขบวนสันติภาพต่อต้านการขยายบทบาทในสงครามเวียดนามของสหรัฐเพื่อเข้าไปยังกัมพูชา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 9 คน กรณีจึงกลายเป็นสันปันน้ำ

เป็นบทเรียนแห่งเลือดและน้ำตา และก็เป็นจุดเยือกแข็งแห่งประวัติศาสตร์การต่อต้านสงครามเวียดนาม โดยมีอเมริกันชน 4 ล้านคน ลงถนนทำการประท้วง เหตุการณ์ร้ายแรงดุเดือด คัดค้านสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในแดนไกล อีกทั้งปฏิเสธคำสั่งการเกณฑ์ทหาร เพื่อมิให้คนรุ่นหนุ่มของอเมริกาต้องกลายเป็นเถ้าถ่านในสนามรบเอเซีย

Advertisement

เหตุการณ์ที่ทหารเข้ากวาดล้างสลายม็อบโดยการกราดยิงนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหลายสิบแห่งครั้งนี้ เป็นเหตุให้สายตาอเมริกันชนเริ่มแปรเปลี่ยน โดยวินิจฉัยว่าการทำสงครามเย็นเป็นการอันมิชอบด้วยเหตุผล

ในกาลอดีต อเมริกันชนจำนวนมากเห็นว่าการเข้าแทรกแซงสงครามเวียดนามเป็นการป้องกันมิให้เอเชียกลายเป็น “ระบบแดง” แต่หลังเหตุการณ์กราดยิงนักศึกษา ความคิดเห็นของประชาชนได้เปลี่ยนไป เพราะพวกเขาเห็นว่าสงครามเวียดนามคือสงครามที่ไม่มีความยุติธรรม

ไม่มีความยุติธรรม เพราะทหารอเมริกันสังหารประชาชนอย่างพร่ำเพรื่อ ดูได้จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 1968 ประชาชนเวียดนามใน “หมู่บ้านมายไล” ได้ถูกทหารอเมริกันสังหารหมู่ มีผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 200 กว่าคน รวมทั้งสตรีและเด็กเล็ก และยังมีหญิงที่ถูกข่มขืน แต่เรื่องราวถูกทหารอเมริกันปิดบังกลบเกลื่อน ต่อมาประมาณ 1 ปี จึงถูกเปิดเผย

Advertisement

แม้รัฐบาลนิกสันในสมัยนั้นมีท่าทีแข็งกร้าว และชี้นำให้สื่อกระแสหลักประณามว่า “บรรดานักศึกษาที่ทำการต่อต้านล้วนได้ถูกอำนาจคอมมิวนิสต์ครอบงำ” แต่ความเดือดดาลของอเมริกันชนก็ยังไม่คลาย

พฤติกรรมใส่ร้ายป้ายสีนักศึกษาของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ในอดีต ไม่ต่างไปจากรัฐบาลโจ ไบเดน ปัจจุบัน แม้ต่างสมัยต่างพรรค แต่วัตถุประสงค์เดียวกัน

สัจธรรม 1 เรื่องที่จะไม่ให้ผู้อื่นรู้ มีอยู่ทางเดียวคืออย่าทำ แม้เพนตากอนพยายามปิดบังกลบเกลื่อนเรื่องโศกนาฏกรรม แต่ในที่สุดก็ถูกเปิดเผย และเป็นประจักษ์ว่า สงครามคือความโหดร้ายและไร้เหตุผล

ปฏิเสธมิได้ว่า เดือนพฤษภาคมของอเมริกาเป็นฤดูกาลที่โหดร้ายอย่างแท้จริง วิกฤตสลายม็อบวันนี้และโศกนาฏกรรมวิทยาเขตเมื่อ 54 ปีก่อน จะมองเป็นอื่นมิได้ นอกจากเป็นการสร้างความชอบธรรม โดยอาศัยความโศกเศร้าแห่งมนุษยธรรม คัดค้านเหตุการณ์นองเลือดอันเป็นเท็จ ต่อต้านสงครามที่ไร้เหตุผลเป็นข้ออ้าง เพราะในความเป็นจริง ไม่มีสิ่งใดที่อยู่เหนือมนุษยธรรมอีกแล้ว

ความเศร้าโศกที่ฉนวนกาซากับความเศร้าโศกที่สงครามเวียดนามในอดีต ล้วนเป็นการประท้วงการทำลายชีวิตมนุษย์ที่ขาดไร้เหตุผลและมนุษยธรรมอย่างแท้จริง

การประท้วงของนักศึกษาในสหรัฐได้ถูกสื่อกระแสหลักใส่ร้ายว่าเป็นลัทธิต่อต้านชาวยิว แต่ในความเป็นจริง บรรดานักศึกษาและคณาจารย์ที่ร่วมทำการประท้วงนั้น มีจำนวนไม่น้อยเป็นเชื้อสายยิว พวกเขาเหล่านั้นล้วนไม่พอใจอำนาจ “เนทันยาฮู” ที่ดำรงอยู่ในอิสราเอล อันเกี่ยวกับการทำลายชีวิตสุจริตชนแบบเหมาเข่งที่กาซา เพราะพฤติการณ์เป็นการทำลายภาพลักษณ์ของทหารอิสราเอล และทำลายผลประโยชน์ของประเทศ

กรณีละม้ายกับทหารอเมริกันกราดยิงใน “มหาวิทยาลัยเคนต์” สหรัฐ และ “หมู่บ้านมายไล” เวียดนาม ทั้งนี้ โดยอ้างอิงว่าทำไปเพราะความรักชาติ แต่ความจริงเป็นการทำลายชาติ กรณีไม่เพียงแต่ทำลายชื่อเสียงของสหรัฐ หากยังทำลายผลประโยชน์ของประเทศอีกด้วย

เหตุการณ์ทหารอเมริกันกราดยิงสลายม็อบในมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐ เป็นพฤติกรรมที่ย้ำรอยอดีต เป็นการฝันกลับกลางดึกของอเมริกันชน คงเหลือไว้แต่เงาแห่งคุณธรรมเท่านั้น

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image