ต้นทางประวัติศาสตร์ไทย ในสุวรรณภูมิ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

วัวชนสุวรรณภูมิ ราว 2,500 ปีมาแล้ว (ต้นตอ “วัวชน” ในกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2011) ภาพเขียนสีแดงของถ้ำเลี้ยงผา เขาผาแรต ต. น้ำรอบ อ. ลานสัก จ. อุทัยธานี [ลายเส้นและข้อมูลของสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม]

สุวรรณภูมิเป็นแผ่นดินใหญ่ของอุษาคเนย์ (ไม่เกี่ยวกับหมู่เกาะ) ประเทศไทยมีดินแดนอยู่สุวรรณภูมิ ดังนั้นประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ (1.) เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ และ (2.) เป็นต้นทางประวัติศาสตร์ไทย

เมื่อ 18 ปีที่แล้วผมเคยเขียนหนังสือปกอ่อนเล่มเล็กๆ เล่าเรื่องสุวรรณภูมิอย่างสั้นๆ ง่ายๆ เพื่อสนองคนอ่านบ้านๆ ทั่วไป (ไม่เป็นนักวิชาการ) โดยตั้งชื่อว่า “สุวรรณภูมิต้นกระแสประวัติศาสตร์ไทย” (สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2549) ครั้นถึงทุกวันนี้พบข้อมูลเพิ่มขึ้น และประสบการณ์ตนเองไม่เหมือนเดิม ทำให้ความคิดหลายอย่างต่างจากแต่ก่อน และบางอย่างเปลี่ยนไปไม่น้อย

ไม่กี่วันมานี้มีผู้ส่งเอกสารให้อ่านเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ เพื่ออบรมครูสังคมศึกษาใช้งานการเรียนการสอนเรื่องสุวรรณภูมิ ที่เป็นหนังสือรวมบทความวิชาการของนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งอ่านยากมาก เข้าใจยากมากๆ และมีหลายประเด็นที่ผมเห็นต่าง จึงจะขอทบทวนด้วยการสรุปอย่างง่ายๆ มาแบ่งปันไว้เป็นสาธารณะดังต่อไปนี้

  • สุวรรณภูมิ ดินแดนทองแดง

ชื่อ สุวรรณภูมิเป็นภาษาอินเดียที่พ่อค้านักเสี่ยงโชคจากอินเดียใช้เรียกดินแดนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป ตั้งแต่ 2,500 ปีมาแล้ว ราว พ.ศ. 1 ดังนั้น สุวรรณภูมิไม่ใช่ชื่อท้องถิ่น ส่วนคนท้องถิ่นเรียกดินแดนนี้ว่าอะไร? ขณะนี้ไม่พบหลักฐาน

Advertisement

สุวรรณภูมิถูกใช้เรียกแผ่นดินใหญ่โดยรวมตั้งแต่เมื่อไร? ถึงเมื่อไร? ไม่พบหลักฐานตรงๆ แต่มีผู้สันนิษฐานไว้ต่างๆ เช่น พ.ศ. 1-1800, พ.ศ. 200-1800 เนื่องจากหลัง พ.ศ. 1800 พบว่ารัฐหลายแห่งนิยามดินแดนของตนเป็นสุวรรณภูมิดินแดนศักดิ์สิทธิ์

ทายาทสุวรรณภูมิ คือ ทุกประเทศบนแผ่นดินใหญ่ทุกวันนี้ ได้แก่ พม่า,ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย และไทย (บางทีจะรวมมณฑลยูนนานของจีน)

วัฒนธรรมสุวรรณภูมิ คือ วัฒนธรรมของชุมชนเกษตรกรรมเริ่มแรก ราว 3,000 ปีมาแล้ว (เป็นอย่างน้อย)

Advertisement

ทองแดง (ไม่ทองคำ) สุวรรณภูมิเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าดินแดนทอง หรือแผ่นดินทอง หมายถึงทองแดง (ไม่ทองคำ) ตามหลักฐาน ดังนี้

(1.) พบแหล่งทองแดงขนาดใหญ่หลายแห่งที่มีการถลุงและหลอมใช้งาน ราว 2,500 ปีมาแล้ว หรือเรือน พ.ศ. 1 บนแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป (ไม่หมู่เกาะ) โดยเฉพาะบริเวณสองฝั่งโขง ตั้งแต่มณฑลยูนนานในจีน ลงไปถึงลาวและไทยทางภาคอีสาน รวมทั้ง จ. ลพบุรี

(2.) การค้าระยะไกลทางทะเล ราว 2,500 ปีมาแล้ว เรือน พ.ศ. 1 คือการค้าทองแดงเป็นหลัก (อาจมีอย่างอื่นด้วย เช่น “ของป่า”) ที่พ่อค้านักเสี่ยงโชคจากอินเดียซื้อจากชุมชนคนพื้นเมืองแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป ไปขายต่อในอินเดียถึงกรีก-โรมัน

(3.) ไม่เคยพบแหล่งทองคำขนาดใหญ่ที่มีการถลุง-หลอม ใช้งานเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว

เหล็ก พบมากในอีสาน บิรเวณทุ่งกุลาร้องไห้, ภาคเหนือพบทางลำพูน, ภาคกลางพบมากที่ลพบุรี ฯลฯ

แผ่นดินใหญ่ ไม่หมู่เกาะ สุวรรณภูมิเป็นชื่อดินแดน มีความหมายดังนี้ (1.) แผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ภาคพื้นทวีป (โดยรวม) (2.) ไม่ระบุจำเพาะเจาะจงที่ใดที่หนึ่งเพียงที่เดียว (3.) ไม่หมู่เกาะ (แม้มีนักวิชาการบางคนพยายามโยงขยายพื้นที่ถึงหมู่เกาะ แต่ไม่พบหลักฐานหนักแน่น ส่วนหลักฐานที่นักวิชาการบางคนอ้างยังไม่น่าเชื่อถือ)

พิธีเซ่นผีขอฝนในสุวรรณภูมิ เมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว (ในภาพ) ช้างพร้อมลูกช้าง, ปลาขนาดใหญ่ 2 ตัว, เต่า, กระทิง, ขวัญเป็นลายสัญลักษณ์หยักๆ, มือแดงของเจ้าแม่, คนสวมหน้ากากหัวสามเหลี่ยมตั้งบนทรงกระบอก

(ภาพเขียนบริเวณผาแต้ม อ. โขงเจียม จ. อุบลราชธานี จากหนังสือ ศิลปะถ้ำ ผาแต้ม โขงเจียม คัดลอกโดย พเยาว์ เข็มนาค กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2532)

การเมือง สุวรรณภูมิทางการเมืองมีดังนี้ (1.) ไม่เป็นชื่อรัฐ (2.) ไม่เป็นชื่ออาณาจักร (3.) ไม่เป็นอาณานิคมอินเดีย

การเมืองการปกครองของสุวรรณภูมิเป็นแบบศาสนา-การเมือง หญิง เป็นหัวหน้าพิธีกรรม (ทางศาสนาผี) ทำหน้าที่หัวหน้าเผ่าพันธุ์ (Chiefdom) มีอำนาจเหนือชาย ชาย โดยทั่วไปอยู่ใต้อำนาจของหญิง แต่บางชาติพันธุ์อาจมีอำนาจเหนือหญิงก็ได้

ชนชั้น มีความแตกต่างทางชนชั้น โดยคนกลุ่มหนึ่งเป็นตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์ มีเครื่องประดับมากกว่าคนอื่น และบางส่วนเป็นของจากที่ห่างไกล ส่วนพิธีกรรมหลังความตายมีมากกว่าคนทั่วไป

หลังความตาย พิธีกรรมมีดังนี้ (1.) ฝัง (ไม่เผา) (2.) ศพใส่ภาชนะดินเผา (ต้นตอโกศใส่ศพนั่ง) (3.) เรียกขวัญ (คืนร่างให้คนตายฟื้น) และส่งขวัญ (ขึ้นฟ้ารวมพลังเป็นผีฟ้า) ตามความเชื่อเรื่องขวัญด้วยการร้องรำทำเพลงอึกทึกครึกโครม (ทั้งหมดเป็นต้นตอมหรสพงานศพทุกวันนี้)

ศาสนา ประชาชนสุวรรณภูมินับถือศาสนาผี มีความเชื่อเรื่องขวัญ (ไม่รู้จักวิญญาณ ไม่มีเวียนว่ายตายเกิด) ว่าคนตาย ขวัญไม่ตาย (กลายเป็นผี)

นับถือผีใหญ่สุดเรียกผีฟ้า (ผีแถน) มีพิธีเข้าทรง ผ่านร่างทรงเป็นหญิง (ไม่ลงทรงผู้ชาย) มีคำทำนายข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์มากน้อยอย่างไร? เพื่อเตรียมรับสถานการณ์

พิธี “บวดควาย” ในสุวรรณภูมิ เมื่อควายเปลี่ยว (ควายเปรียว) เป็นควายตัวผู้มีอาการดุร้าย ไม่อยู่ในความควบคุม ต้อง “บวดควาย” เพื่อกำราบปราบปรามในพิธีขอฝนหน้าแล้ง สืบเนื่องถึงสมัยหลังเรียก “กระอั้วแทงควาย” ปัจจุบันรู้จักในชื่อกระตั้วแทงเสือ

[บวดควาย หมายถึงควบคุมควายตามต้องการของคน (บวด เหลือเค้าในภาษาถิ่นใต้ ใช้เรียกบวดวัว หรือ วัวบวด เมื่อล้มวัวในการชนวัวพนัน)]

(ในภาพ) คนจูงควาย (ตัวผู้) ราว 2,500 ปีมาแล้ว (ลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากรจากหนังสือ ศิลปะถ้ำเขาปลาร้า อ. ลานสัก จ. อุทัยธานี กรมศิลปากร พ.ศ. 2533)

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ แผ่ถึงสุวรรณภูมิ เมื่อหลังบริเวณสุวรรณภูมิเติบโตมั่งคั่งเป็นรัฐใหญ่ ราวเรือน พ.ศ. 1000 (ไทยเรียกวัฒนธรรมทวารวดี) จากนั้นปนกันเป็น “ผี-พราหมณ์-พุทธ” สืบมาจนทุกวันนี้

ประชาชน สุวรรณภูมิมีประชาชนหลายชาติพันธุ์ ตั้งหลักแหล่งปะปนกัน แต่จำนวนคนน้อย เพราะพื้นที่กว้างขวางมาก จึงมีพื้นที่รกร้างว่างเปล่า (เป็นต้นเหตุสมัยหลังมีสงครามกวาดต้อนผู้คนเป็นเชลยไปเป็นแรงงาน แต่ไม่ยึดดินแดนบ้านเมือง)

ประชาชนสุวรรณภูมิ ประกอบด้วยตระกูลภาษาต่างๆ ได้แก่ มลายู, มอญ-เขมร, ม้ง-เมี่ยน, จีน-ทิเบต, พม่า-ทิเบต, ไท-ไต หรือ ไท-กะได ฯลฯ

อาหาร กินข้าวเป็นอาหารหลัก มีข้าว 2 ชนิด ข้าวเมล็ดป้อม (ข้าวเหนียว) และข้าวเมล็ดเรียว (ข้าวเจ้า) คนสุวรรณภูมิส่วนมาก (รวมภาคกลาง, ภาคใต้ปัจจุบัน) กินข้าวเมล็ดป้อม หรือข้าวเหนียว, ข้าวนึ่ง

กับข้าว มีไม่มาก ส่วนมาก คือปลา จึงมีคำพูดติดปากเป็นภาษาไทยว่า “กินข้าว กินปลา” ส่วนกับข้าวหลักของสุวรรณภูมิคือ “เน่าแล้วอร่อย” ได้แก่ ปลาแดก, ปลาร้า, น้ำพริก, กะปิ, น้ำปลา ฯลฯ

เซ่นผีแม่ข้าวเป็นพิธีกรรมก่อนลงมือทํานาจริงในสุวรรณภูมิ ราว 2,500 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นต่อมาอีกนานถูกปรับเปลี่ยนเป็นระยะๆ กระทั่งทุกวันนี้ในชุมชนชาวนาแถบลุ่มน้ำโขงเรียกพิธี “นาตาแฮก” หมายถึงนาแปลงแรกที่จําลองขึ้นมีขนาดตามสมควร ใช้ทําพิธีกรรมก่อนทํานาจริง เพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ (คือต้นข้าว) คําว่า “ตา” คือ ตารางใช้เรียกนาจําลอง, “แฮก” คือ แรก

“นาตาแฮก” เป็นต้นทางพิธีกรรมของชุมชนชาวนาแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรียก “แรกนาขวัญ” ซึ่งมีพัฒนาการเข้าสู่ราชสํานัก เรียกพระราชพิธี “จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ”

[ลายเส้นของกรมศิลปากร โดย พเยาว์ เข็มนาค คัดลอกจากภาพเขียนที่ผาหมอนน้อย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี]

เคี้ยวหมาก ฟันดำ ประชาชนหญิง-ชาย เคี้ยวหมาก ทำให้ฟันดำ

ยารักษาโรค สมุนไพรในป่า เกลือ ปรุงอาหารและเป็นยารักษาโรค เกลือสินเธาว์พบทั่วไป แต่มีมากบริเวณทุ่งกุลาในอีสาน (นอกจากใช้ปรุงอาหารแล้วยังใช้ร่วมถลุงเหล็ก) ส่วนเกลือสมุทรมีเฉพาะใกล้ทะเลเป็นบางแห่ง

เครื่องนุ่งห่ม “ผ้าผืนเดียว เตี่ยวพันกาย” หมายถึง ชาวสุวรรณภูมิมีผ้าผืนเดียวขนาดเล็ก เรียกเตี่ยว หรือผ้าเตี่ยว ใช้ปิดอวัยวะเพศเท่านั้น ส่วนบนเปลือยเปล่า-เปลือยอกทั้งหญิงชายทุกระดับ

เครื่องราง ประดับตามตัวด้วยลูกปัดชนิดต่างๆ, ลูกกระพรวน, เขี้ยวสัตว์ ฯลฯ เสียงที่กระทบกันของเครื่องรางหรือเครื่องประดับเชื่อว่าป้องกันผีร้าย โทเท็ม (Totem) เลือดจากสัตว์เซ่นผี เช่น ควาย, วัว ป้ายเป็นแถบบนใบหน้าเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์หรือพืชประจำตระกูล

สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ กบ, จระเข้, งู, ตะกวด ฯลฯ เชื่อว่าเป็นผู้บันดาลให้มีน้ำฝน และเป็นผู้พิทักษ์แหล่งน้ำ ดังนั้น ใช้หนามและกระดูกสัตว์แหลมขีดข่วนผิวหนังตนเองเป็นรอยแบบสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น (เป็นต้นตอลายสักรูปต่างๆ ทุกวันนี้)

บ้าน หมายถึงชุมชนหรือหมู่บ้าน ประกอบด้วยพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน มีเรือนหลายหลังอยู่รวมกัน และทุ่งนาป่าเขา (ถ้ามี)

เรือน หมายถึงที่อยู่อาศัย เป็นเรือนเสาสูงทำด้วยไม้ไผ่ มุงด้วยใบไม้ เช่น ใบคาหรือตับจาก และใบอื่นๆ

ร้องรำทำเพลง สุวรรณภูมิมีดังนี้ นาฏศิลป์ ฟ้อน-เต้น เป็นแบบแผนมั่นคงแล้ว ฟ้อนเนิบช้า (ต้นแบบท่าพระ-นางในโขนละคร) เต้น กางแขนถ่างขาเลียนแบบกบ (เพื่อขอฝน) เพราะเชื่อว่ากบทำให้ฝนตก (ต้นแบบท่าโขน ยักษ์-ลิง และท่าละครโนรา) ดนตรี ปี่ (จากไม้อ้อ, ไม้ไผ่), แคน, กระบอกไผ่, กลองไม้, พานฆ้อง, กลองทองสำริด (ไทยเรียกมโหระทึก)

ชุมชนทมิฬอินเดียใต้ มีกระจัดกระจายหลายแห่ง เช่น เขาสามแก้ว (ชุมพร), ดอนตาเพชร (กาญจนบุรี) เป็นต้น

รับวัฒนธรรมอินเดีย เช่น ภาษา แต่ยังไม่พบว่ารับศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และพุทธ

ชุมชนฮั่น (จีน) มีบ้าง แต่ไม่พบหลักฐานชัดเจน พบแต่การแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรมทางภาคเหนือ เช่น แม่ปีลูกปี และภาชนะสามขา พบตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคใต้ตามแนวพรมแดนตะวันตก

โยกย้ายไปมา ประชาชนหลายชาติพันธุ์มีการโยกย้ายผู้คนจากที่ไกลๆ เช่น ลุ่มน้ำ ฮวงโห, ลุ่มน้ำแยงซี ไปลุ่มน้ำอื่นๆ บริเวณสุวรรณภูมิ เป็นต้น ทำให้มีการประสมประสานทางชาติพันธุ์ตั้งแต่หลายพันปีมาแล้วจนปัจจุบัน

ดังนั้น สายเลือดบริสุทธิ์ไม่มีจริง

ข้อมูลสุวรรณภูมิยังมีมากกว่านี้ แต่มีสติปัญญาทำได้แค่นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image