ป.ย.ป.-ยุทธศาสตร์ชาติ ที่รอคอย : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ตามคำสั่งมาตรา 44 โดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคณะกรรมการระดับรอง 4 คณะคือ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง

เดิมคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศจะมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สองรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแลร่วมกัน ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงให้นายสมคิดไปอยู่ร่วมกับ ดร.วิษณุ เครืองาม ในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ พล.อ.อ.ประจินดูแลคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติคนเดียว คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ มี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร กับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ร่วมกันกำกับ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กำกับดูแลเหมือนเดิม

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการสลับนายสมคิดไปอยู่ร่วมกับ ดร.วิษณุ กลายเป็นประเด็นให้วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา ลดบทบาทบ้าง เกิดเกาเหลากันภายในรองนายกรัฐมนตรีด้วยกันเองบ้าง ว่ากันไปเรื่อย เหตุเพราะไม่มีการชี้แจงแถลงเหตุการจัดตัวบุคคลให้เหมาะสมกับงานต่อสังคมหรือสาธารณชนที่สนใจติดตามกระบวนการบริหารจัดการประเทศในห้วงระยะโรดแมปช่วงสองต่อช่วงสาม นั่นเอง

คณะผู้เกี่ยวข้องอาจเห็นว่าเป็นเรื่องการทำงานภายใน ไม่จำเป็นที่สังคมจะต้องรับรู้ไปทั้งหมดทุกขั้นทุกตอน ทุกเรื่อง การจัดกระบวนงาน การวางตัวคนขึ้นอยู่กับการพูดคุยเจรจา ไม่น่ามีปัญหาอะไร เป็นเรื่องไม่สำคัญ ขอให้ผลงานออกมาน่าประทับใจก็แล้วกัน เป็นอันจบ

Advertisement

กระนั้นก็ตามประเด็นที่น่าสนใจว่าด้วยเรื่องปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความสามัคคีปรองดอง ยังมีต่อว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579) จะได้ข้อยุติเมื่อไหร่ จะมีการปรับเปลี่ยนกันอีกนานเท่าไหร่ ตกลงประเทศจะเดินหน้าไปทางไหนแน่

เพราะนับแต่คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่จะใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาในระยะ 20 ปีต่อจากนี้ไป

คณะกรรมการจัดทำได้ข้อยุติยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน 4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม 5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ

Advertisement

กำหนดตารางเวลาไว้ว่าเมื่อผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว จะนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 แต่ความเป็นจริงในทางปฏิบัติไม่เป็นไปตามนั้น ยังไม่มีการประกาศใช้บังคับ เพราะมีเรื่องต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอน

เริ่มตั้งแต่รอการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ รอกฎหมายลูกคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้ความเห็นชอบส่งไปให้คณะรัฐมนตรีแล้ว รอการตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร จะปรับแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็จะต้องมีกลไกใหม่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมาอีก 2 คณะ คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ชาติ

โดยเฉพาะคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นกรรมการระดับสูงสุดจะมีนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้ทรงคุณวุฒิด้านยุทธศาสตร์กลุ่มภารกิจต่างๆ อีกส่วนหนึ่ง เป็นกรรมการ

ขณะนี้ยังไม่มีการเลือกตั้ง จึงยังไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร ฉะนั้น กรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ก็จะต้องรอภายหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามโรดแมปปี 2560 หรืออาจเลื่อนไปปี 2561

เมื่อเกิดคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามกฎหมายลูกดังกล่าวนี้แล้ว ร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีที่คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ตามมติ ครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2558 จัดทำไว้ถึงจะถูกนำเข้าไปพิจารณาตัดสินว่าจะเอาตามนั้น จะใช้บังคับหรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงใหม่

แต่ก่อนจะถึงขั้นตอนนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน คือร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติแรกนี้จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่หมาด ที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กำกับ ติดตาม ดูแล หาข้อยุติเสียก่อน

ซึ่งไม่รู้ว่าจะใช้เวลาดำเนินการอีกนานเท่าไหร่ จะเกิดกระบวนการทำซ้ำในประเด็นต่างๆ อย่างไรอีกหรือไม่

เสร็จแล้วต้องส่งเข้าให้คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ให้ความเห็นชอบอีก

ครับ ที่ผมลำดับมาทั้งหมดนี้ เพราะคำนวณเวลาไม่ถูก นับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ถึงขณะนี้เกือบ 2 ปี ต้องใช้เวลาต่อไปอีกนานเท่าไหร่ กระบวนการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติถึงจะเกิดผลในทางปฏิบัติจริง

สมหมาย ปาริจฉัตต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image