คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘Woke’การ‘ตื่นรู้’ ที่ทำให้ผู้คนบางส่วน‘แกล้งหลับ’

คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘Woke’การ‘ตื่นรู้’ ที่ทำให้ผู้คนบางส่วน‘แกล้งหลับ’

“สเตลลาร์เบลด” (Stellar Blade) เป็นเกมบนระบบเครื่องเล่นเกม PlayStation 5 ผลิตโดยค่ายเกม SHIFT UP จากประเทศเกาหลีใต้ เปิดให้เล่นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมาได้สร้างกระแสที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างผู้ชมและผู้เล่นเกม กับกระแส “ตื่นรู้ทางสังคม”

จุดที่ทำให้เกมสเตลลาร์เบลดเป็นที่พูดถึงตั้งแต่เปิดตัว คือตัวเอกหญิง “อีฟ” ที่ผู้เล่นจะได้สวมบทเป็นเธอในการกวัดแกว่งกระบี่ดาราผจญภัยในโลกที่ล่มสลายด้วยรูปลักษณ์ของเธอที่หากจะกล่าวตามตรง คือหน้าตาสวยหวานแบบสาวเอเชีย และทรวดทรงอรชรอ้อนแอ้นทรงนาฬิกาทรายตามที่ค่านิยมกระแสหลักนั้นนิยามว่าเป็นรูปแบบที่งดงามตาม “มาตรฐาน” ของสตรีเพศ

ไม่ต้องเดาว่าหน้าตาและรูปร่างของตัวเอกหญิงเช่นนี้จะเรียกความสนใจจากบรรดาผู้เล่นชายและผู้มีรสนิยมชื่นชมทางเพศต่อเพศหญิง แต่สิ่งนี้เองก็เป็นส่วนที่เรียกคมดาบให้เข้ามาโจมตีเกมนี้เช่นกัน โดยหัวหอกหลักมาจากสื่อเกมชื่อดังและเก่าแก่ IGN ที่เผยแพร่บทวิจารณ์เกมของทีมงานจากฝรั่งเศสที่เสียดเย้ยการออกแบบตัวละครว่า “เหมือนสร้างขึ้นเพื่อสนองตัณหาของที่ไม่เคยเห็นหรือสัมผัสกับผู้หญิงตัวเป็นๆ” ซึ่งข้อวิจารณ์นี้ก่อให้เกิดการเดือดดาลและโต้ตอบของชาวเน็ตและผู้คนในวงการเกม เพราะคำวิจารณ์นี้คือการเหยียดเพศในอีกแง่มุมหนึ่ง ทั้งยังขัดต่อความเป็นจริงที่ว่าผู้สร้างเกมนั้นมีภรรยาที่น่ารักไม่แพ้ตัวละครในเกม และรูปร่างของอีฟก็ขึ้นรูปมาจากนางแบบสาวชาวเกาหลีใต้ที่มีรูปร่างเช่นนั้นจริงๆ

แม้ในที่สุด IGN จะออกมายอมรับความผิดพลาดและขออภัย แต่ก็ไม่วายชี้ให้เห็นว่า การที่สังคมผู้เล่นเกมส่งเสริมสนับสนุนเกมที่ตัวเอกหญิงมีรูปร่างดีตามมาตรฐานค่านิยมดั้งเดิมนั้นเป็นการกดทับและทำร้ายผู้หญิงมากมายในโลกที่ต้องทนทุกข์หรืออาจจะถูกปฏิบัติไม่ดีจากคนรักหรือครอบครัวเพราะมีรูปร่างหน้าตาไม่เข้ากับค่านิยมมาตรฐานทางสังคมที่เกมนี้ทำซ้ำลงไปอีก และเมื่อเกมวางขาย IGN ก็ประกาศคะแนนเกมนี้อยู่ที่ 7 เต็ม 10 ซึ่งเป็นคะแนนที่ต่ำที่สุดในบรรดาสื่อเกมมาตรฐาน เหตุผลที่หักคะแนน คือ ตัวเอกหญิงออกแบบมาอย่างน่าเบื่อ

Advertisement

ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าผลของการวิจารณ์และพยายามสร้างกระแสต่อต้านเกมนี้จะส่งผลอย่างไร แต่ยอดขายเกมสเตลลาร์เบลดนั้นร้อนแรงไม่แพ้ตัวเอกหญิง ที่ประเมินกันว่าสามารถขายได้เกิน 1 ล้านชุด ภายในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง แม้แต่ในประเทศไทยเองกระแสของเกมสเตลลาร์เบลด ก็ทำให้ร้านเกมต่างๆ ที่ยังขายเกมในรูปแบบแผ่นอยู่นั้นต้องขายเกมนี้ในราคาเต็มหรือแพงขึ้นกว่าราคาที่ผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการไทยกำหนดไว้เล็กน้อย และเกมนี้ไม่ได้ร่วมในโปรโมชั่นลดราคาประจำเดือนของแพลตฟอร์มออนไลน์ใดๆ แต่ถึงอย่างนั้นแผ่นเกมก็ขายได้ขายดีจนหลายร้านต้องสั่งเพิ่ม ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่พบได้ง่ายนักสำหรับเกมของเครื่อง PlayStation 5 ที่ขายในประเทศไทย

พร้อมกับที่เกมเมอร์ทั่วโลกต่างเข้าไปรีวิวเกมนี้และให้คะแนนระดับ 9 ขึ้นไปจนติดอันดับเกมที่ผู้เล่นโหวตคะแนนให้มากที่สุด โดยเชื่อกันว่ากระแสของผู้เล่นทั่วโลกที่มีต่อเกมสเตลลาร์เบลดนี้ เป็นไปเพื่อตอบโต้ IGN และสื่อที่เป็นแนวร่วมในการสร้างกระแสการโจมตีเกมนี้ เพราะตามจริงแล้วหากประเมินกันอย่างยุติธรรม แม้จะยอมรับว่านี่เป็นเกมที่ดี สนุก และลงตัว แต่เกมนี้ก็ไม่ใช่เกมที่ดีเลิศอะไรขนาดนั้น และเกมก็ยังมีจุดบกพร่องที่ควรแก้ไขอยู่พอสมควร คะแนนที่ยุติธรรมจริงๆ ของเกมนี้คือค่าเฉลี่ยจากสื่ออื่นๆ นอกจาก IGN ที่ให้กันที่ 8 ถึง 8.5 คะแนน

สิ่งที่ผู้เล่นเกมต้องการแสดงออกเพื่อต่อต้านจริงๆ นั้นไม่ใช่เพียงสื่อ IGN หากแต่เป็นแนวคิดที่อยู่เบื้องหลัง คือการรณรงค์ด้วยการสร้างความ “ตื่นรู้” เชิงสังคม ที่เรียกว่า “โว้ก” (Woke) ที่เป็นกริยาช่องที่ 2 ของ Wake ที่แปลว่าตื่น “โว้ก” จึงหมายถึงการที่ได้ตื่นรู้ขึ้นมาแล้ว

Advertisement

ตื่นรู้จากอะไรนั้น ได้แก่การตื่นรู้ว่าเดิมนั้นค่านิยมทางสังคมที่ถ่ายทอดผ่านสื่อบันเทิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย ภาพวาด ภาพยนตร์ การ์ตูน และรวมถึงเกมในปัจจุบันนั้น ถูกครอบงำโดยแนวคิดแบบชายคนขาวเป็นใหญ่ ที่ “พระเอก” ของสื่อเหล่านั้นจะต้องเป็นผู้ชายผิวขาวที่รูปหล่อดูดีสมชายชาตรี ส่วน “นางเอก” ก็จะต้องเป็นสาวสวยทรงนาฬิกาทราย ที่อาจจะเป็นฝรั่งผมบลอนด์ หรือคนเอเชียหรือสาวชาวเกาะที่ผิวเข้มงามขำก็อาจจะได้ โดยเราจะไม่มีทางได้เห็นตัวเอกเป็นคนเชื้อชาติอื่นหรือมีรูปร่างหน้าตาที่ไม่เป็นไปตามค่านิยมนี้ได้เป็นตัวเอกในสื่อของโลกยุคที่ผ่านมาเลย ซึ่งผู้ที่สมาทานแนวคิดการตื่นรู้มองว่า นี่คือการกีดกัน หรือ Exclude คนส่วนใหญ่ในสังคมที่มีสีผิวและรูปร่างที่แตกต่างไปจากค่านิยมมาตรฐาน

กระแสแห่งความตื่นรู้จึงเรียกร้องให้ผู้ผลิตสื่อยอมรับความหลากหลายของผู้คนที่เคยอยู่นอกเหนือหรือถูกกันออกไปจากความสวยงามกระแสหลัก พูดง่ายๆ คือไม่ว่าจะสูงต่ำดำขาวหรืออ้วนล่ำอย่างใด ก็ควรจะมีโอกาสได้เป็นพระเอก นางเอก หรือตัวเอก ในภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือเกมต่างๆ ได้ เช่นเดียวกับคนหล่อสวยผิวขาวรูปร่างดีตามค่านิยมที่เคยครองพื้นที่ในสื่อบันเทิงยุคหลับใหล ก่อนที่จะมีการตื่นรู้ทางสังคม

ซึ่งก็เหมือนกับว่า ข้อเรียกร้องของผู้ตื่นรู้ทางสังคมนี้ก็ได้รับการตอบรับจากสื่อกระแสหลักและผู้ผลิตสื่อในระดับสากล ดังเราจะเริ่มเห็นว่าประมาณกว่าสิบปีมาแล้ว ที่เราได้เห็นตัวละครที่มีเชื้อชาติและผิวสีที่หลากหลายมากขึ้นในสื่อภาพยนตร์หรือซีรีส์ตะวันตก ที่บางทีเกือบกลายเป็นสูตรสำเร็จไปแล้วว่าหากตัวละครอยู่กันเป็นกลุ่ม จะต้องมีตัวละครผู้หญิง คนผิวดำ หรือคนเชื้อสายเอเชียหรือชาวพื้นถิ่นประกอบอยู่ด้วย

หากก็ไม่ใช่ทุกคนในสังคมที่จะเห็นด้วยไปกับการ “ตื่นรู้” นี้ เพราะก็มีความคิดอีกแนวทางหนึ่งเช่นกันว่า สื่อบันเทิงไม่ว่าจะรูปแบบใด ควรจะสร้างความ “บันเทิง” ได้อย่างถูกใจผู้ชม ดังนั้น เมื่อผู้ชมคาดหวังว่าจะได้เห็นความสวยหล่อตามค่านิยมแล้ว พวกเขาก็ควรได้เห็นสิ่งนั้นในสื่อบันเทิงที่ไม่เห็นจำเป็นต้องมีความหลากหลายสมจริงอะไร

วิวาทะเรื่องนี้ปะทุขึ้นมาจนกลายเป็นข้อพิพาท เมื่อผู้สร้างสรรค์สื่อบันเทิงรายใหญ่ของโลก เริ่มนำนโยบายตื่นรู้และเคารพในความหลากหลายยกระดับหนึ่งมาอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของตัวละครเดิมที่เคยคุ้นให้มีความหลากหลายขึ้น กรณีที่ชัดเจนและเป็นที่กล่าวถึงกันมากที่สุด เมื่อวอลต์ ดิสนีย์ได้นำเอาการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่อง “เงือกน้อยผจญภัย” ฉบับปี 1989 มาสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดงประกอบกราฟิกคอมพิวเตอร์ในปี 2023 โดยมีการตีความใหม่นางเงือกน้อย “แอเรียล” ให้เป็นเงือกผิวดำที่นำแสดงโดย แฮลลี เบลีย์ และเหตุการณ์เกิดขึ้นในเกาะทะเลใต้ค่อนไปทางแอฟริกา ซึ่งแม้ว่าภาพยนตร์ฉบับปี 2023 นี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อต้านอย่างรุนแรงว่าทำลายภาพลักษณ์ของนางเงือกน้อยเดิมที่ดิสนีย์ออกแบบไว้ ที่เป็นสาวครึ่งปลาผิวขาว ซึ่งสอดคล้องกับภาพจำของผู้คนที่มีต่อนางเงือกฝรั่ง (Mermaid) แต่ถึงอย่างนั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำรายได้ได้ดีเป็นที่น่าพอใจ

กระแสการ “ตื่นรู้” ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของตัวละครในสื่อบันเทิงนี้ลามไปถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนจริงอย่าง แอนน์ โบลีน (Anne Boleyn) ซึ่งมินิซีรีส์ของช่อง Channel 5 ที่ใช้ชื่อและเรื่องราวของพระนางอดีตราชินีของอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 16 ถูกตีความใหม่และแสดงโดยนักแสดงผิวดำ ซึ่งกรณีนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่ามันล้ำเส้นของการสร้างความตระหนักรู้ไปเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ชัดเจนว่าพระนางเป็นสตรีผิวขาวคอเคซอยด์

แต่ราวกับผู้ผลิตสื่อทั้งหลายเห็นชอบว่ากระแส “ตื่นรู้” นี้เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้วของสื่อบันเทิงยุคใหม่ จึงเกิดการผลิตสื่อบันเทิงจากการตีความใหม่นี้ตามมาอีกมาก พร้อมกับเสียงต่อต้านของผู้คนที่ไม่เห็นด้วยก็โต้ตอบอย่างรุนแรง เช่น ละครเวที “โรเมโอกับจูเลียต” ที่จะเปิดแสดงที่โรงละครเวสต์เอนด์ของลอนดอนนั้น ได้ให้ ฟรานเชสกา อาเมวูดาห์-ริเวอร์ส นักแสดงชาวอังกกฤษเชื้อสายแอฟริกันมาแสดงเป็นจูเลียต ซึ่งได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากผู้คนที่ไม่เห็นด้วย เพราะขัดกับภาพในบทประพันธ์และความเข้าใจของผู้คนที่มีต่อตัวละครหญิงชื่อดังที่สุดตัวหนึ่งของโลก การต่อต้านนี้เป็นไปอย่างรุนแรงและแน่นอนว่าเต็มไปด้วยการเยาะเย้ยถากถางในโลกออนไลน์ จนผู้กำกับและผู้จัดละครออกมาโต้ตอบว่า นี่เป็นการคุกคามทางเชื้อชาติอันน่าสังเวชทางออนไลน์ และยืนยันว่าจะต้องหยุดสิ่งนี้ แต่ถึงอย่างนั้น ผลจากการโจมตีอย่างหนักดังกล่าว ก็ทำให้ละครต้องประกาศยกเลิกรอบพรีวิวที่ควรจะจัดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ก่อนนี้ โดยอ้างว่าเป็นเหตุผลเชิงเทคนิค

กรณีเดียวกันกับ “สโนว์ไวท์” ฉบับคนแสดงของดิสนีย์ที่เจ้าหญิงหิมะขาวจะปรับรูปลักษณ์ไปเป็นสาวน้อยเชื้อสายอเมริกาใต้ พร้อมกับที่คนแคระทั้งเจ็ดจะกลายเป็น “ความหลากหลายทั้งเจ็ด” แต่เพียงเปิดภาพแรกของหนังเรื่องนี้ออกมาเท่านั้น ก็เกิดกระแสโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์จนภาพยนตร์ต้องเลื่อนวันฉายไปอีกหนึ่งปี ด้วยเหตุผลตามที่อ้างคล้ายกัน คือ ปัญหาทางเทคนิค

แม้ว่าในตอนนี้ กระแสตื่นรู้ทางสังคมหรือ “โว้ก” อาจจะเป็นเหมือนตัวปัญหา ที่เป็นข้อพิพาทและเชื่อว่าอาจจะเป็นตัวการที่ทำลายวงการบันเทิงในทุกรูปแบบในอนาคต แต่ความ “ตื่นรู้” นี้ก็ไม่ใช่จะเป็นเรื่องที่สร้างกระแสแหวกขนบอันไร้เหตุผล เพราะเราต้องยอมรับว่า การกีดกันทางเพศ ผิวสี ชาติกำเนิด การให้เปรียบหรือสร้างความเสียเปรียบให้ผู้คนด้วยรูปลักษณ์ทางกาย และการมีมาตรฐานความงามแบบเดียวที่กีดกันผู้คนจำนวนมากนั้นเป็นเรื่องจริง

ในสังคมไทย ปัญหาที่ชัดเจนของเรื่องนี้ที่เราต่างสัมผัสได้ คือการแพร่ระบาดของยาหรืออาหารเสริมลดความอ้วนและเปลี่ยนสีผิวให้ขาวขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าถูกต้องตามมาตรฐานแล้วก็จะไม่ได้ผลชัดเจนเมื่อเทียบกับเงินที่จ่ายไป ส่วนที่เห็นผลชัดก็เป็นสารเคมีอันตรายที่ไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ที่สินค้าเหล่านี้ขายได้ขายดีและมีผู้ยินดีจ่ายเงินและเสี่ยงชีวิต นั่นก็เพราะต้องการที่จะเป็นคนที่ดูดีตามมาตรฐานความสวยงามที่กีดกันคนส่วนหนึ่งออกไปแล้วตั้งแต่ต้นโดยกำเนิด ซึ่งนี่คือปัญหาที่ผู้ที่ “ตื่นรู้” ทางสังคมพยายามจะแก้ไขด้วยการปลูกฝังและสร้างค่านิยมใหม่ของสังคมลงไปเพื่อให้คนยอมรับในความสวยงามที่หลากหลายตามที่ผู้คนควรจะเป็น

แต่ผลของความตื่นรู้และการเร่งปฏิบัติเพื่อสร้างค่านิยมใหม่อย่างไม่แยบยล ก็อาจจะส่งผลในมุมกลับให้เป็นการสร้างผู้คนที่หลับตาปี๋แล้วเอาหมอนปิดหู เพราะรำคาญพวกตื่นแล้วแต่ส่งเสียงดังไปเสียอย่างนั้น และอย่างที่เราทราบกันดี ว่าเราไม่สามารถปลุกคนที่แกล้งหลับได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image