ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : การละเมิดผู้สูงอายุ ภัยที่ควรตระหนัก

ดุลยภาพ ดุลยพินิจ : การละเมิดผู้สูงอายุ ภัยที่ควรตระหนัก

วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันตระหนักภัยการละเมิดผู้สูงอายุโลก” (World Elder Abuse Awareness Day) ที่ริเริ่มโดยเครือข่ายสากลเพื่อการป้องกันการละเมิดผู้สูงอายุ (International Network for the Prevention of Elder Abuse (INPEA) เมื่อปี 2549 และได้รับการยอมรับให้เป็นวันองค์การสหประชาชาติโดยสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติตามมติ A/RES/66/127 เมื่อปี 2554 ซึ่ง UN เรียกร้องให้ประเทศสมาชิก องค์กร UN ตลอดจน องค์กรประชาสังคมและประชาชนให้จัดงานวันตระหนักภัยการละเมิดผู้สูงอายุโลกซึ่งในปีนี้จะจัดในหลายประเทศทั่วโลกแบบงานสังสรรค์มีเลี้ยงน้ำชากาแฟ มีการตั้งชื่องานที่ปลุกระดมให้สนใจปัญหาการละเมิดผู้สูงอายุ มีการจัดนิทรรศการ มีการเชิญคนมาพูดเตือนภัยการละเมิดผู้สูงอายุ หรือจัดทำเอกสารเพื่อเผยแพร่ เช่น ในปี 2565 WHO จัดทำรายงานเผยแพร่เรื่อง Tackling abuse of older people: five priorities for the United Nations Decade of Healthy Ageing (2021-2030) เป็นต้น

คำว่า “การละเมิดผู้สูงอายุ” นี้ ผู้เขียนแปลจากคำว่า elder abuse ใช้ไปพลางก่อน เนื่องจากเรายังไม่มีศัพท์บัญญัติของคำนี้ โดย ละเมิด ตามพจนานุกรมไทยแปลว่า ล่วงเกิน ฝ่าฝืน ทำโดยพลการ ขณะที่ elder abuse อาจแปลได้หลายอย่าง อาทิ “การทำผิดต่อผู้สูงอายุ” “การหลอกใช้ผู้สูงอายุ” “การรังแกผู้สูงอายุ” หรือ “ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ” ทั้งนี้ WHO (2022) ให้นิยามว่า elder abuse หมายถึง “การกระทำหรือละเว้นการกระทำที่พึงกระทำ อย่างจงใจ ของบุคคลที่อาจจะมีหรือไม่มีความสัมพันธ์กับผู้สูงอายุที่ถูกกระทำ ในสถานที่ที่ผู้สูงอายุควรไว้วางใจ และทำให้ผู้สูงอายุได้รับอันตรายต่อร่างกายหรือต่อสภาพจิตใจ”

รูปแบบของการละเมิดผู้สูงอายุอาจเป็น (1) ด้านร่างกาย (Physical abuse) – การทำให้เจ็บ หรือ บาดเจ็บร่างกายโดยการใช้กำลังตี ตบ เตะ กระแทก เอาไฟจี้ (2) ด้านจิตใจ (Psychological or emotional abuse) – การกระทำด้วยวาจาหรืออย่างอื่นให้เสียใจ หวาดกลัว ตกใจ เช่นการด่า การเยาะเย้ย การทำลายข้าวของ หรือการไม่ให้พบบุตรหลาน ญาติ พี่น้อง หรือเพื่อนฝูง (3) ด้านทรัพย์สินเงินทอง (Financial abuse) – การเอาเงิน หรือทรัพย์สมบัติของผู้สูงอายุไปใช้โดยพลการหรือโดยผู้สูงอายุไม่รู้ หรือไม่รู้เท่าทัน รวมทั้งการแอบเบิกเงินของผู้สูงอายุจากธนาคาร การใช้บัตรเครดิตของผู้สูงอายุ และการหลอกให้โอนเงิน การหลอกขายของออนไลน์ (4) การทอดทิ้งการละเลย ไม่ดูแล การปล่อยตัวของผู้สูงอายุเอง (Neglect, self-neglect) – การไม่ดูแลปัจจัยสี่ของผู้สูงอายุ อาหาร ยา การตรวจสุขภาพ การนอน การทิ้งให้อยู่ตามลำพัง และ (5) การละเมิดทางเพศ (Sexual abuse) – การมีสัมพันธ์ทางเพศด้วยวิธีใดก็ตาม การถูกต้องตัว การคุกคามทางเพศ (Centers for Disease Control and Preventions, 2016)

Advertisement

การละเมิดผู้สูงอายุอาจมีรูปแบบอื่นๆ อีกมาก เพื่อนผู้เขียนที่เคยไปดูหนังเรื่อง “หลานม่า” บอกผู้เขียนว่า หนังเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นการละเมิดผู้สูงอายุรูปแบบหนึ่งโดยการปฏิบัติของหลานชาย (เอ็ม-บิวกิ้น พุฒิพงศ์) ต่ออาม่าอย่างไม่จริงใจแต่เพื่อหวังมรดก เป็นการแสดงความรักอย่างหลอกลวงเพื่อหวังสิ่งตอบแทน เป็นต้น

ในสิงคโปร์ พบว่า ลูกชายให้พ่อ (อายุ 90 กว่าปี ป่วยติดเตียงและสมองเสื่อม) กินข้าวแค่วันละมื้อเดียว และอาบน้ำให้สัปดาห์ละครั้ง โดยให้เหตุผลว่าเขาดูแลผู้สูงอายุไม่เป็น และเขาไม่ค่อยสนิทกับพ่อ (Theresa Tan 2023)

ทั้งนี้ การล่วงเกินผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นการหลอกใช้ เพราะการละเมิดด้านร่างกายหรือด้วยวาจา ดุด่าว่ากล่าว ถากถาง ไม่จำเป็นต้องหลอก แต่ก็นับว่าเป็น abuse

Advertisement

การทำผิดต่อผู้สูงอายุนับว่าเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ เนื่องจากผู้สูงอายุที่ถูกกระทำจะเกิดอันตรายบาดเจ็บรุนแรงทางกายหรือจิตใจต่อเนื่องยาวนาน ในภาพรวม WHO (2022) รายงานว่าในปี 2559 (1) จากการศึกษาใน 28 ประเทศ พบว่า ร้อยละ 16 ของผู้สูงอายุ จะถูกกระทำหรือละเมิด (2) การละเมิดผู้สูงอายุส่วนใหญ่เกิดในสถานดูแลคนชรา (2 ใน 3 ของพนักงานในสถานดูแลคนชรารายงานว่าเคยล่วงเกินผู้สูงอายุในความดูแล) (3) อัตราการละเมิดผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติในช่วงโควิด-19 ระบาด (4) การละเมิดผู้สูงอายุนำไปสู่การบาดเจ็บที่รุนแรงและผลกระทบทางจิตใจที่ยาวนาน (5) การละเมิดผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

ในขณะที่การละเมิดผู้สูงอายุมีอยู่ทั่วไปหลายประเทศ รวมทั้ง อเมริกา ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย แต่ประเทศที่พบว่าการละเมิดผู้สูงอายุมายาวนานและมีข้อมูลการศึกษาวิจัยและการทำงานในด้านนี้มาก คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งผู้เขียนจะยกตัวอย่างญี่ปุ่นเพียงเล็กน้อย

ในปี 2560 ญี่ปุ่นมีการละเมิดผู้สูงอายุถึง 1.7 หมื่นราย (เพิ่ม-ขึ้นร้อยละ 4.2 จากปีก่อนหน้า) ผู้สูงอายุที่ถูกละเมิดเป็นหญิง ร้อยละ 76 และชาย ร้อยละ 24 โดยผู้ที่ละเมิดผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นบุตรชายร้อยละ 40 เป็นสามีร้อยละ 21 และบุตรสาวร้อยละ 17 เหตุผลการละเมิดจากการสำรวจโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น (เลือกตอบได้หลายข้อ) คือ ความเหน็ดเหนื่อยและกดดันจากการต้องดูแลผู้สูงอายุ (ร้อยละ 24) ปัญหาด้านจิตใจของผู้ละเมิด (ร้อยละ 22) ปัญหาส่วนตัวกับผู้ถูกละเมิดก่อนการละเมิด (ร้อยละ 14) ปัญหาสมองเสื่อมของผู้ถูกละเมิด (ร้อยละ 14) (Nippon.com 2019)

การละเมิดผู้สูงอายุโดยพยาบาลในสถานดูแลคนชราในญี่ปุ่นในปีเดียวกันก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในจำนวนผู้สูงอายุ 854 คนที่ถูกละเมิดในสถานดูแลคนชรา ร้อยละ 60 เป็นการทำร้ายร่างกายหรือการจำกัดอิสรภาพในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยเช่นการผูกมัดหรือการตรึงร่างกาย หรือการควบคุมพฤติกรรมบางอย่าง รวมทั้งการจำกัดพื้นที่ในการเคลื่อนไหวร่างกาย (ห้องแยก บนเตียง หรือรถนั่ง) รองลงมาเป็นการละเมิดด้านจิตใจ (ร้อยละ 31) เช่นการใช้ภาษาไม่สุภาพ ดุด่า ตวาด ใช้สายตาดูหมิ่น ฯลฯ และอีกร้อยละ 17 เป็นการทอดทิ้งไม่ดูแล

ตามการสำรวจดังกล่าว สาเหตุหลักของการละเมิด (ร้อยละ 60) ของญี่ปุ่นเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับการศึกษา ความรู้ และเทคนิคการพยาบาลผู้สูงอายุ รองลงมา (ร้อยละ 26) เป็นปัญหาเกิดจากพนักงานดูแลมีความกดดันและไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ (I Nippon.com 2019)

ในช่วงโควิด-19 ระบาด ในปี 2564 มีรายงานการละเมิดผู้สูงอายุในสถานดูแลคนชราและการขอคำปรึกษา 2,390 ราย สูงขึ้นร้อยละ 14 จากปี 2563 ในจำนวนนี้มีผู้สูงอายุ 1,366 คนถูกละเมิด และ 2 คนเสียชีวิต ส่วนใหญ่เกิดจากการละเมิดทางร่างกาย (ร้อยละ 52) รองลงมาเป็นการละเมิดด้านจิตใจ (ร้อยละ 38) และการละทิ้ง (ร้อยละ 24) ในจำนวนทั้งหมดนี้มี 332 รายที่ถูกจำกัดอิสรภาพในการเคลื่อนไหว (Ishikawa 2022)

ขณะที่ในครัวเรือน การสำรวจพบว่ามีการละเมิดผู้สูงอายุ 16,426 ราย โดยคนในครอบครัว ญาติหรือผู้อยู่อาศัย ซึ่งลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 5 การละเมิดส่วนใหญ่เกิดจากบุตรชาย ร้อยละ 39 จากสามี ร้อยละ 23 และบุตรสาว ร้อยละ 19

ตามรายงานของมหานครโตเกียว บอกว่าในการละเมิดผู้สูงอายุในครอบครัวนั้นส่วนใหญ่คนทำไม่ได้ตั้งใจ ไม่รู้ว่าการกระทำของตนต่อผู้สูงอายุเป็นการละเมิด แม้ว่าผู้สูงอายุจะอยู่ในสภาพที่เป็นอันตราย ในบางครั้งการกระทำเพียงเล็กน้อยแต่สะสมกันนานเข้าก็กลายเป็นการละเมิดผู้สูงอายุได้ (Tokyo Metropolitan Government 2024)

ครับ ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างนิดหน่อย ซึ่งสังเกตได้ว่า กรณีของญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นการละเมิดด้านร่างกาย การละเมิดด้านจิตใจ และการละทิ้ง แต่ไม่เห็นตัวเลขกรณีการละเมิดด้านทรัพย์สิน การหลอกลวง หรือการคุกคามทางเพศ สำหรับภาครัฐที่เข้ามาดูแลเรื่องการละเมิดมีทั้งกระทรวงสาธารณสุขและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น

ถึงตรงนี้ก็อดหันมาดูประเทศไทยไม่ได้ว่ารัฐบาลไม่ได้ตระหนักหรือใส่ใจในปัญหาการละเมิดผู้สูงอายุเท่าที่ควร แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยในปี 2566 ข้อมูลกรมการปกครองแสดงว่าไทยมีประชากรผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็น กว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ 66 ล้านคน

และแม้ว่าใน พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาตรา 11 วรรค 8 จะระบุว่า “ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับความคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านต่างๆ ดังนี้ ..วรรค (8) การช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรมหรือถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกทอดทิ้ง” แต่ก็ไม่ได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง ไม่มีระบบหรือองค์กรติดตามดูแลที่ชัดเจน ไม่มีข้อมูลหรือระบบข้อมูลสนับสนุนในการติดตามปัญหาการละเมิดผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น การสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย หรือรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุประจำปี ก็ไม่มีการพูดถึงปัญหาการละเมิดผู้สูงอายุแต่อย่างใด

แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึง ฉบับที่ 3 ก็ไม่ได้ตระหนักในปัญหาการละเมิดผู้สูงอายุ แม้แผนปฏิบัติการย่อยของแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 ข้อ (6) ระบุว่า “พัฒนาระบบการพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงทั้งในฐานะผู้รับบริการ ผู้รับสวัสดิการ หรือผู้บริโภค” รวมทั้งมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ มาตรการหลักที่ 1 การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและคนทุกวัย มาตรการย่อยที่ 1.1 การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ ที่ระบุว่า “ดำเนินการสร้างระบบคุ้มครอง พิทักษ์สิทธิ ให้ครอบคลุมผู้สูงอายุทุกประเภท และสอดรับกับรูปแบบสังคมเมืองและสังคมชนบท เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ มีการดูแลตามมาตรฐาน ด้วยบุคลากรด้านผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ จะทำให้ลดปัญหาการกระทำความรุนแรงและละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ” (กรมกิจการผู้สูงอายุ 2562) ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดแนวทางการป้องกันและปราบปรามการละเมิดผู้สูงอายุ

สงสัยจะรอฤกษ์ “วันตระหนักภัยการละเมิดผู้สูงอายุโลก”

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image