โกลเด้นบอย, มหิธร ลุ่มน้ำมูล, และอโยธยา-อยุธยา โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ล้นหลาม – ประชาชนและผู้สนใจจำนวนมากเข้าชมความงามของประติมากรรมโกลเด้นบอยและสตรีพนมมือ ที่เปิดให้เข้าชมเป็นวันแรก หลังรับมอบคืนจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ห้องศิลปะลพบุรี พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. (ภาพและคำบรรยายจาก ข่าวสด ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม 2567 หน้า 1)

โกลเด้นบอย (Golden Boy) ไม่ใช่ชื่อจริง ยึดถือเป็นชื่อจริงๆ ไม่ได้ เพราะเป็นชื่อเล่น หรือชื่อชั่วคราว หรือชื่อเรียกอย่างลำลองจากนักสะสมโบราณวัตถุทั่วโลก ใช้เรียกประติมากรรมสำริดกะไหล่ทองชิ้นหนึ่ง ซึ่งพบที่ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ ลุ่มน้ำมูล เชิงเขาพนมดงรัก ประเทศไทย

พระศิวะ (Standing Shiva) เป็นชื่อของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปรลิทัน (The Metropolitan Museum of Art—The MET) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ใช้เรียกประติมากรรมสำริดกะไหล่ทอง (ที่นักสะสมโบราณวัตถุทั่วโลกเรียกชั่วคราวว่าโกลเด้นบอย)

แต่แท้จริงไม่ใช่พระศิวะ เพราะไม่มีตาที่สาม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะในไทย สรุปตรงกันว่าประติมากรรมกะไหล่ทอง ขาดองค์ประกอบสำคัญ จึงไม่ใช่พระศิวะ คือตาที่สามบนหน้าผาก (หรือพระเนตรที่สามบนพระนลาฏ)

พระศิวะมีอีกนามหนึ่งว่าพระอีศวร, ส่วนตาที่สาม คือ ตาไฟ (บางทีเรียกฤๅษีตาไฟ) สุนทรภู่เขียนถึงฤๅษีตาไฟ-พระอีศวร-พระศิวะ ไว้ในรำพันพิลาป ว่า

Advertisement

ขอเดชะพระสยมบรมนาถ                         เจ้าไกรลาศโลกามหาสถาน
ทรงงัวเผือกเงือกหงอนสังวรสังวาล           ถือพัดตาลตาไฟประลัยกัลป์

ด้านความเชื่อ ประติมากรรมสำริดกะไหล่ทอง (ที่เรียกโกลเด้นบอย) เป็นสัญลักษณ์ของพระเจ้าชัยวรรมัน ที่ 6 คือเทพบิดร (หรือ เชษฐบิดร) หรือผีบรรพชนของคนลุ่มน้ำมูล เมื่อเรือน พ.ศ. 1600

  1. Lerner นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาวอเมริกัน (อดีตภัณฑารักษ์ The MET) เป็นต้นคิดเมื่อ พ.ศ. 2532 (1989) หลังจากนั้น ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ รับแนวคิดไปขยายผล จนพบข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งมีค่ายิ่งต่อประวัติศาสตร์การเมืองแบบเครือญาติระหว่างไทย-เขมร ว่าประติมากรรมชิ้นนี้มีชาวบ้านขุดพบที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ต. ตาจง อ. ละหานทราย จ. บุรีรัมย์

รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล เห็นต่าง แต่ความเห็นต่างเป็นข้อปลีกย่อย ส่วนสาระสำคัญสอดคล้องกัน เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองแบบเครือญาติ ระหว่างลุ่มน้ำมูล ที่ราบสูงโคราช กับโตนเลสาบ (ทะเลสาบ) กัมพูชา

Advertisement

วัฒนธรรมลุ่มน้ำมูล ที่ราบสูงโคราช

โกลเด้นบอยเป็นงานช่างลุ่มน้ำมูล ที่ราบสูงโคราช ซึ่งไม่มีพรมแดน (เส้นกั้นอาณาเขต), ไม่มีเชื้อชาติ หรือสัญชาติ ถ้าจะมีก็มีวัฒนธรรมลุ่มน้ำมูลของคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” เมื่อเรือน พ.ศ. 1600

โกลเด้นบอยเป็นประติมากรรมสำริดกะไหล่ทอง พบที่ซากปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา ต. ตาจง อ. ละหานทราย จ. บุรีรัมย์ ลุ่มน้ำมูล ที่ราบสูงโคราช ซึ่งเป็นหลักแหล่งของราชวงศ์มหิธร ที่สืบเชื้อสายเป็นกษัตริย์เขมรหลายพระองค์ ได้แก่

พระเจ้าชัยวรรมัน ที่ 6 เสวยราชย์เมืองพระนครที่โตนเลสาบ

พระเจ้าสุริยวรรมัน ที่ 2 สร้างปราสาทนครวัด เมืองพระนคร

พระเจ้าชัยวรรมัน ที่ 7 สร้างปราสาทบายน เมืองนครธม

ราชวงศ์มหิธรมีศูนย์กลางอยู่เมืองพิมาย และมีหลักฐานเป็นจารึกอยู่ปราสาทพนมรุ้ง มีข้อความบอกเล่ารวมๆ ว่าเชื้อสายหลายองค์ของราชวงศ์มหิธรเป็นกษัตริย์ครองอาณาจักรกัมพูชา

ลุ่มน้ำมูล มีหลายกลุ่ม

ลุ่มน้ำมูลเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญคือเกลือและเหล็ก รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ “เค็ม-แห้ง-แล้ง-ทราย” เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานสมัยเริ่มแรก จึงมีชุมชนบ้านเมืองและผู้คนมากที่สุดในที่ราบสูง ทำให้มีวัฒนธรรมต่างกันอย่างน้อย 3 กลุ่ม แต่เป็นเครือญาติและเครือข่ายการค้า-วัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ได้แก่ ต้นน้ำ, กลางน้ำ, ปลายน้ำ

ต้นน้ำ เป็นพวก “เสียมกุก” ชาวสยาม (ที่มีภาพสลักอยู่ปราสาทนครวัด) พูดภาษาไท-ไต เป็นภาษากลาง และมีศูนย์กลางอยู่เมืองเสมา อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา

กลางน้ำ เป็นพวกราชวงศ์มหิธร มีศูนย์กลางอยู่ปราสาทพิมาย อ. พิมาย จ. นครราชสีมา

ปลายน้ำ เป็นพวกราชวงศ์จิตรเสน มีศูนย์กลางอยู่ปราสาทวัดพู แขวงจำปาสัก ในลาว มีเครือข่ายถึงพื้นที่อุบลราชธานี-ยโสธร-ทุ่งกุลาร้องไห้

ทั้งหมด 3 กลุ่ม อยู่ที่ราบสูง แต่มีเครือญาติและเครือข่ายไปมาหาสู่สม่ำเสมอกับที่ราบลุ่มทั้งโตนเลสาบ (กัมพูชา) และเจ้าพระยา (ไทย) โดยผ่านช่องเขาซึ่งมีนับไม่ถ้วน

ราชวงศ์มหิธร

บรรพชนราชวงศ์มหิธรเป็นคนพื้นเมืองลุ่มน้ำมูล มีความเป็นมานับพันๆ ปีมาแล้ว

รับศาสนาพุทธมหายานจากกลุ่มเมืองเสมาที่มีมาตั้งแต่เรือน พ.ศ. 1000 (วัฒนธรรมทวารวดี) จากนั้นสถาปนาปราสาทพิมาย เนื่องในมหายาน (ผสมพราหมณ์และผีพื้นเมือง)

หลังจากนั้นเป็นต้นแบบให้บ้านเมืองอื่นๆ ถึงอยุธยา

(1.) ปราสาทพิมายเป็นต้นแบบให้ปราสาทเมืองศรีเทพ (อ. ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์)

(2.) พระเจ้าชัยวรรมัน ที่ 7 เชื้อสายราชวงศ์มหิธร รับมหายานจากพิมายไปสร้างปราสาทบายน เมืองนครธม

(3.) อโยธยารับคติรามเกียรติ์จากเมืองพิมาย

(4.) อยุธยาสร้างปรางค์วัดพุทไธศวรรย์และปรางค์วัดราชบูรณะโดยรับแบบแผนปราสาทพิมาย และปราสาทสองพี่น้อง (เมืองศรีเทพ) เป็นหลักฐานสำคัญแสดงว่าลุ่มน้ำมูลไปมาหาสู่กับอโยธยา-อยุธยา ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

เมืองพิมาย-เมืองพนมรุ้ง

ราชวงศ์มหิธรมีศูนย์กลางอยู่เมืองพิมาย-เมืองพนมรุ้ง มีประชากรหลายชาติพันธุ์ พูดหลายภาษา ได้แก่ ตระกูลมอญ-เขมร, ชวา-มลายู เป็นต้น

หลัง พ.ศ. 1700 ร่วงโรยลดความสำคัญ เพราะความรุ่งเรืองและมีอำนาจอยู่ที่เมืองราดของพ่อขุนผาเมือง (ที่เมืองเสมา) ซึ่งเป็นชาวสยามพูดภาษาไท-ไต แล้วร่วมกับเมืองศรีเทพ, เมืองละโว้ สถาปนาอโยธยา นับถือศาสนาพุทธ เถรวาท แบบลังกา (นับถือรามเกียรติ์แบบลุ่มน้ำมูล)

เรือน พ.ศ. 2000 เมืองพิมายกับเมืองพนมรุ้งของราชวงศ์มหิธร ยอมอ่อนน้อมต่ออยุธยา นับแต่นั้นประชากรเมืองพิมาย-เมืองพนมรุ้งที่เคยพูดภาษาเขมรและอื่นๆ ก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นพูดภาษาไท-ไต-ไทย เป็นชาวสยาม ครั้นนานไปก็เรียกตนเองว่าไทย

โกลเด้นบอยและราชวงศ์มหิธร ลุ่มน้ำมูล คือสัญลักษณ์ความเกี่ยวดองเป็นเครือญาติทางสังคมและวัฒนธรรมทั้งกับโตนเลสาบ (กัมพูชา) และลุ่มน้ำเจ้าพระยา อย่างแยกมิได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image