เพลิงพระนางพิพาท โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ข้อพิพาทว่าด้วยเรื่องละคร “เพลิงพระนาง” ที่มีซุปเปอร์สตาร์ “อั้ม” พัชราภา ไชยเชื้อ เป็นนางเอกแม่เหล็กของเรื่อง ดูท่าว่าจะจบไม่ง่าย

จบไม่ง่ายในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงรูปแบบละคร 7 สี ว่าถ้าเรตติ้งสูงก็จะยื้อตอนออกไปได้อีก

แต่เป็นการจบแบบค้างคาใจในข้อพิพาทจากพระญาติของอดีตราชวงศ์พม่า ซึ่งเรียกร้องให้ยุติการออกอากาศของละคร เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสองชาติ

แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วข้อเรียกร้องนี้คงไม่มีผลต่อการออกอากาศของละคร เพราะไม่ใช่การประท้วงในระดับรัฐบาล

Advertisement

และละครคงไม่หยุดฉายดื้อๆ แบบกรณีละคร “เหนือเมฆ 2” ซึ่งเกิดขึ้นแบบลึกลับซับซ้อนในช่วงกระแสการเมืองแปลกๆ ก่อตัวเมื่อปี 2556

กรณีดังกล่าวนี้เป็นข่าวระดับอินเตอร์ไปแล้ว เมื่อมีสื่อนอก เช่น บีบีซี เอเอฟพี แชนแนลนิวส์เอเชีย นำเสนอข้อขัดแย้งในมุมมองของฝั่งพม่า

ซอ วิน พระปนัดดา (เหลน) ของพระเจ้าธีบอ อายุ 70 ปี ให้สัมภาษณ์ “ข่าวสดอิงลิช” ว่าสมาชิกครอบครัวของท่านไม่พอใจละครเรื่องนี้มาก พร้อมตำหนิว่า ไม่สร้างประโยชน์แก่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งอบรมว่า ควรนำบทเรียนทางประวัติศาสตร์มาใช้ให้เป็นประโยชน์กับประเทศ ไม่ใช่เพื่อดิสเครดิตผู้อื่น

Advertisement

เหลนพระเจ้าธีบอดูจะทราบถึงคำอธิบายของผู้สร้างฝั่งไทยแล้วว่า ละครเรื่องนี้สมมุติขึ้น สร้างจากจินตนาการ ไม่ได้สร้างจากประวัติศาสตร์ชาติใด แต่เขาก็มองว่า ทั้งโครงเรื่องและการแต่งกายนั้นใช่

จุดที่คาใจหลักอยู่ที่ฉากตบตีของตัวละคร ซึ่งเขามองว่าเป็นพฤติกรรมป่าเถื่อน จึงเป็นภาพลบมากสำหรับฝ่ายเขา

เหตุผลนี้อาจทำให้แฟนละครไทยอาจงงไปเลย เพราะละครไทยแนวดราม่าเกือบทั้งหมดเน้นฉากวิวาทตบกันสนั่นจอ

ส่วนผู้จัดละครก็อาจงงด้วย เพราะการสร้างละครด้วยเขียนบทแบบศึกษาประวัติศาสตร์อย่างจริงๆ จังๆ นั้นมีน้อยมาก

คุณ “อั้ม” พัชราภา ก็ยืนยันตามผู้จัดเหมือนกันว่าทุกอย่างเป็นเรื่องสมมุติ ดูได้จากเสื้อผ้าคงไม่มีใครใส่แบบนั้น หรือทำทรงผมปั้นสูงขนาดนั้น

เมื่อมองในจุดนี้แสดงว่า ผู้สร้างไทยนั้นทำไปโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่จริงๆ แต่ฝั่งพระญาติของพม่าเห็นว่าโครงเรื่องและองค์ประกอบไปใกล้เคียงกับเรื่องราวของเขาพอดี จึงอาจต้องใช้เวลาอีกสักพักจึงจะเกิดความเข้าใจตรงกัน

แต่เบื้องต้นกรณีนี้บ่งบอกว่าเราไม่ได้รู้เรื่องของเพื่อนบ้านมากนัก และความไม่รู้นี้เองจึงอาจทำให้เราทำอะไรไปโดยไม่ทันคิดถึงความรู้สึกของชาติเพื่อนบ้าน

ทางออกที่ดีคือน่าจะแสวงหาความรู้เพิ่มเติม เช่น ศึกษาอ่านบันทึกทางประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้านมากขึ้น ถ้าอยากรู้ว่าเรื่องเพลิงพระนางคล้ายกับราชวงศ์คองบองจริงหรือไม่ อาจจะอ่านหนังสือแปลของสำนักพิมพ์มติชนเมื่อสองปีก่อน ทั้ง “ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง” เขียนโดย สุดาห์ ชาห์ แปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส และ “ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน” เขียนโดย แฮโรลด์ ฟีลดิ้ง-ฮอลล์ แปลโดย สุภัตรา ภูมิประภาส และสุภิดา แก้วสุขสมบัติ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่บอกเล่าช่วงพม่าเสียเมืองจากการรุกรานของอังกฤษ นำเสนอมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับราชินีศุภยาลัตที่ถูกตราหน้าว่าเป็นราชินีเลือดเย็น

สนุกน่าศึกษาไปอีกแบบ แม้จะไม่มีเรื่องราวตบกันก็ตาม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image