ปราบยา โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ในที่สุดผู้นำสายบู๊แห่งฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเเตร์เต ก็เดินทางมาพบปะเจรจากับรัฐบาลไทยในสัปดาห์นี้ เพื่อลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านต่างๆ

เนื้อหาความร่วมมือนี้อาจจะไม่น่าสนใจเท่ากับตัวประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่กลายเป็นผู้นำคนดัง ครองพื้นที่ข่าวอินเตอร์เน็ตอยู่บ่อยครั้ง

นอกจากการเดินหน้านโยบายปราบปรามยาเสพติดด้วยมาตรการบู๊เดือดจนมียอดตายไปแล้วหลายพันชีวิต พร้อมยืนกรานไม่เลิกจนกว่าผู้ค้ายาคนสุดท้ายในประเทศจะถูกสังหาร

ยังมีบุคลิกส่วนตัวที่โดดเด่น ทั้งการพูดจาโผงผาง บางครั้งหลุดคำสบถและพูดในสิ่งที่คิดโดยไม่ทันไตร่ตรองผลกระทบตามที่ปรากฏในข่าว จึงทำให้ดูแตร์เตในวัย 70 เป็นที่รู้จักในเวลารวดเร็ว

Advertisement

นับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 39 ซึ่งเป็นคะแนนที่ไม่มากท่วมท้น แต่ก็ทิ้งจากผู้แพ้ที่ได้คะแนนตามมาร้อยละ 23

ที่สำคัญคือเป็นผู้นำคนแรกๆ ที่กระพือกระแสประชานิยม หรือ populism ซึ่งมาแรงมากในช่วงสองสามปีมานี้

ประชานิยมที่ว่านี้อาจจะไม่ค่อยเหมือนประชานิยมที่ใช้โจมตีกันในบ้านเรา เพราะของเราเน้นไปที่เรื่องทุ่มงบฯลงเศรษฐกิจรากหญ้าและระบบสวัสดิการของรัฐ ส่วนของฝรั่งเน้นไปในเรื่องการปิดกั้นตัวเองจากโลกาภิวัตน์ ไม่ต้องการผู้อพยพหรือการแบกรับภาระผู้ด้อยโอกาสกว่า

Advertisement

กระแสที่ว่านี้เชื่อว่ามีส่วนให้ผลประชามติของสหราชอาณาจักรออกมาเป็นเบร็กซิท และ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะ นางฮิลลารี คลินตัน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอยู่ในปัจจุบัน

แต่ฝ่ายเสรีนิยมในประเทศต่างๆ ก็พยายามแสดงออกถึงจุดยืนที่แตกต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเดินขบวน หรือร้องเรียนผ่านกระบวนการรัฐสภา หรือต่อสู้ในกระบวนการศาล

กรณีของฟิลิปปินส์ ดูแตร์เตเผชิญการทัดทานจากผู้คนไม่น้อย รวมถึงจากรองประธานาธิบดีหญิงที่อยู่คนละพรรค ไปจนถึงสมาชิกสภายุโรปที่เพิ่งลงมติเรียกร้องให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เร่งสอบสวนนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลฟิลิปปินส์ เพราะส่งผลให้เกิดกระบวนการฆ่าตัดตอนจนมีผู้เสียชีวิตรวมราว 7,000 รายแล้ว

เพราะปัญหาคือใน 7,000 รายนี้ มีคนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ถูกยิงตายไปด้วยกี่คน ซึ่งต่อให้มีคนเดียวก็นำไปสู่คำถามว่ามันยุติธรรมหรือ

นายดูแตร์เตจึงต้องเผชิญคำถามนี้ไปตลอดและเชื่อได้ว่าหากพ้นวาระไปแล้วก็จะไม่พ้นความรับผิดชอบ

ประเทศไทยเองก็เคยผ่านช่วงเวลาของการปราบปรามยาเสพติดแบบดุเดือด จนเกิดกระบวนการฆ่าตัดตอนที่มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 2,500 ราย ซึ่งยังเป็นประเด็นถกเถียงว่าวิธีการนี้ได้ผลในระยะยาวอย่างไร ยุติธรรมหรือไม่

กรณีเจ้าหน้าที่ทหารจับตายชาวลาหู่ ตัวแทนเยาวชนต้นกล้า จ.เชียงราย ที่บริเวณจุดตรวจถาวรด้านยาเสพติด จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มี.ค. เกิดคำถามทั้งจากชุมชน เครือข่ายและองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจนถูกต้องตรงความเป็นจริง

ในเมื่อมาตรการปราบปรามยาเสพติดมีขึ้นเพื่อคุ้มครองชีวิตผู้คนในสังคม ดังนั้นต้องเคารพชีวิตคนเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image