นอกกระแส โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

A combination of pictures made on April 23, 2017 shows French presidential election candidate for the En Marche ! movement Emmanuel Macron (L) and French presidential election candidate for the far-right Front National (FN) party Marine Le Pen posing in Paris. / AFP PHOTO / Eric Feferberg AND Joël SAGET

3 ปีมานี้หลายประเทศจัดการเลือกตั้งที่มีผลต่อการบริหารราชการประเทศ รวมถึงมีผลต่อโลกโดยรวมด้วย

อินโดนีเซียเลือกนายโจโก วิโดโด พม่าได้พรรคเอ็นแอลดี พร้อมนางออง ซาน ซูจี ไปเป็นรัฐบาล ส่วนฟิลิปปินส์ได้นายโรดริโก ดูแตร์เต เป็นผู้นำเขย่าศึกปราบปรามยาเสพติด

ด้านกลุ่มมหาอำนาจ อเมริกาก็ช็อกโลกด้วยการเลือกโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี แคนาดาได้ผู้นำหนุ่มแนวเสรีนิยม จัสติน ทรูโด ส่วนอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ก็มีเลือกตั้งในปีนี้

ภายใน 3 ปี ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของโลกสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่า กระแสเอียงขวา ชาตินิยม ต่อต้านผู้อพยพ การต้านทานโลกาภิวัตน์ การดิ้นรนในการต่อสู้ด้านสิทธิมนุษยชน ความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ การเติบโตของสื่อโซเชียลที่มีอิทธิพลต่อข้อมูลข่าวสารทางการเมือง ฯลฯ

Advertisement

แน่นอนว่าการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่เป็นการแสดงปฏิกิริยาของผู้คนในสังคมได้อย่างมีกติกา

ผลการเลือกตั้งย่อมไม่ได้ทำให้ทุกคนพอใจโดยเฉพาะฝ่ายพ่ายแพ้ แต่การยึดเสียงส่วนใหญ่คือกติกาที่ประนีประนอม หลีกเลี่ยงความรุนแรง และเคารพต่อผู้อื่น

สุดสัปดาห์ที่เพิ่งผ่านมามีการเลือกตั้งที่น่าสนใจมากในฝรั่งเศส

Advertisement

เพราะผลที่ออกมาบอกว่าชาวฝรั่งเศสจำนวนมากไม่เอาพรรคการเมืองสายหลัก ทั้ง เลส์ เรปูบลิแกงส์ หรือ รีพับลิกัน ฝ่ายขวา กับพรรค ลา ปาร์ตี โซเชียลลิสต์ ฝ่ายซ้าย

ผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสองตัวเลือกที่เหลือให้ชาวฝรั่งเศสลงคะแนนในรอบตัดสินวันที่ 7 พ.ค. คือ ไม่ขวาจัดไปเลย ก็เป็นหน้าใหม่ไปเลย

ระหว่าง นางมารีน เลอเปน ผู้นำหญิงจากกลุ่มขวาจัด อายุ 48 ปี กับ นายเอ็มมานูเอล มาครง อดีต รมว.เศรษฐกิจ วัย 39 ปี

หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งในอเมริกาเมื่อปีก่อน ผู้คนก็เลิกปรามาสว่า นางเลอเปนจะถูกมองข้ามแบบคุณพ่อ ฌอง มารี ที่ลงชิงตำแหน่งผู้นำฝรั่งเศสมา 5 ครั้งแล้วไม่สำเร็จ

ด้านนายมาครง เหมือนจู่ๆ ก็เหาะมา เพราะยังไม่เคยเป็น ส.ส. มาก่อน แม้จะเคยเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในรัฐบาลของนายฟรังซัวส์ ออลลองด์ ช่วงปี 2557-2559

ตอนนี้ถึงขั้นลุ้นจะได้เป็นประธานาธิบดีอายุน้อยที่สุดของฝรั่งเศสเลยทีเดียว

สีสันชีวิตรักของนายมาครงนั้นเป็นที่ฮือฮามาก เพราะภรรยามีอายุมากกว่า 24 ปี ทั้งเคยเป็นคุณครูของนายมาครงมาก่อน ตอนฝ่ายชายอายุ 15 ปี

การเลือกคู่ชีวิตแบบนี้แฟนๆ นิยายจีนคงนึกถึงเอี้ยก้วยที่รักกับอาจารย์เซียวเหล่งนึ่ง ที่แหวกแนวนอกกระแสดีจริงๆ

ไม่เฉพาะเรื่องนี้ นายมาครงยังตั้งกลุ่มการเมืองนอกกระแสชื่อ ออง มาร์ช! เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ที่รวมเอาซ้ายและขวามาไว้ด้วยกันเป็นพรรคตรงกลาง

ทางเลือกนี้ถ้าเป็นบ้านเราคงจะเท่มากๆ เพราะเราชอบพูดถึงการยึดแนวสายกลาง จึงน่าสนใจว่าจะมีใครอาสามาเชื่อมซ้ายกับขวาเข้าด้วยกัน

ในที่นี้หมายถึงเข้าร่วมแบบสมัครใจ ไม่บังคับว่าต้องทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยโดยไม่ให้ชุมนุมแสดงออกอะไรทั้งนั้น

ที่สำคัญคือคนจะยอมรับแนวสายกลางนี้หรือไม่ ต้องจัดการเลือกตั้งเป็นตัวพิสูจน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image