สุจิตต์ วงษ์เทศ : คลองคูจาม ในประวัติศาสตร์ต้นอยุธยา

เวียงเล็กของพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ยกให้สร้างเป็นวัดพุทไธศวรรย์ มีพระปรางค์แบบขอม อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกเกาะเมืองอยุธยาด้านทิศใต้ (ที่นี่ไม่เคยมีกระบี่กระบองสำนักดาบ)

คลองคูจาม (ต. สำเภาล่ม อ. เมือง จ. พระนครศรีอยุธยา) อยู่ใกล้วัดพุทไธศวรรย์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านตรงข้ามวัดพนัญเชิง

ผมยังวนเวียนกลับมาคลองคูจามอีก มีความเป็นมาอย่างย่อที่สุด ดังนี้

พระรามาธิบดี (ถูกสมมุติเรียกตามตำนานว่าอู่ทอง) เป็นเชื้อสายวงศ์ละโว้ (ขอม พูดภาษาเขมร เครือญาติใกล้ชิดกับกษัตริย์กัมพูชา) มีโอรสชื่อพระราเมศวร ต่อมาเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา

พระราเมศวร มีโอรสชื่อพระรามราชา เป็นพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา

Advertisement

พระรามราชา ขัดแย้งกับเสนาบดี (ขุนนาง) จะเข้าควบคุมกุมจับ แต่เสนาบดีหนีข้ามไปอยู่ฟาก “ปท่าคูจาม”

เสนาบดี (ของพระรามราชา) นัดหมายเจ้านครอินทร์พระเจ้าแผ่นดินสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) ยกไพร่พลยึดอยุธยา แล้วให้พระรามราชา “ไปกินเมืองปท่าคูจาม”

ปท่าคูจาม ต้องมีความสำคัญมากในยุคนั้น เพราะเมื่อขัดแย้งทางการเมืองก็มักหนีไปที่นั่นแล้วปลอดภัย

Advertisement

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ้างพระราชวินิจฉัย ร.5 ว่า ปท่าคูจาม มาจาก “ปละท่าคูจาม” หมายถึง ฟากข้าง, ฝ่ายข้าง [อธิบายฯ ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา กรมศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ. 2542 หน้า 212]

ปท่า ไม่ใช่ชื่อสถานที่ แต่เป็นคำบอกตำแหน่งว่าอยู่ตรงไหน? คำนี้กร่อนจาก ปละท่า แปลว่า ฝั่งโน้น, คนละฝั่ง หรือ ฟากข้างโน้น, ฝ่ายข้างโน้น บางทีเขียน “ประท่า” ก็ได้

คูจาม เป็นชื่อสถานที่ หรือบอกลักษณะสถานที่ ว่าเป็นคูน้ำที่ขุดขึ้นแสดงขอบเขตของเวียงที่มีพวกแขกจาม (มุสลิม) ตั้งบ้านเรือนสองฟาก ปัจุจบันเรียกคลองคูจาม

ปท่าคูจาม สอดคล้องเข้ากันได้กับเวียงเล็ก ที่ประทับชั่วคราวของพระรามาธิบดี ที่ขุดคูน้ำแสดงขอบเขตไว้

ตำนานบอกว่าเมื่อจะสถาปนาอยุธยา พระรามาธิบดีมีตำหนักอยู่เวียงเล็ก (มักเรียกสมัยหลังว่า เวียงเหล็ก) อยู่ฟากตรงข้ามวัดพนัญเชิง ซึ่งเป็นย่านพ่อค้าจีน

เวียง หมายถึง บริเวณที่มีคูค่ายเป็นขอบเขต เวียงเล็ก คือ บริเวณที่มีคูค่ายเป็นขอบเขตไม่กว้างขวางใหญ่โตนัก [เวียงเหล็ก คือ บริเวณที่มีคูค่ายมั่นคงแข็งแรงเสมือนเหล็ก (เป็นคำยอยศ แต่อาจไม่จริงตามนั้นทั้งหมด)]

ท้องถิ่นคูจาม

ความเป็นมาของบริเวณคลองคูจามที่อยุธยา ถือเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งต้องใช้ทั้งหลักฐานประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพื่อสร้างคำอธิบาย

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคม หรือประวัติศาสตร์สังคมต้องมีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอยู่ด้วยเป็นเนื้อเดียวกัน จะแยกกันมิได้

อยุธยา เคยเป็นราชธานีของราชอาณาจักรสยามแห่งแรก แต่ปัจจุบันเป็นท้องถิ่นหนึ่งของไทย ดังนั้น อยุธยาจึงมีทั้งประวัติศาสตร์ราชธานีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นทับซ้อนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image