สุจิตต์ วงษ์เทศ : พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา มีเพิ่มเป็น 34 พระองค์

มีหนังสือนำชมเล่มใหม่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา อยุธยา

 

มิวเซียมตามแนวทางสากล เป็นแหล่งแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารทั้งเก่าและใหม่ รวมถึงความเป็นมาทั้งสำเร็จและล้มเหลว ของผู้คนและชุมชนบ้านเมืองประเทศชาติ

ทั้งนี้ โดยผ่านกิจกรรมความเคลื่อนไหวของมิวเซียมในรูปลักษณะต่างๆ อย่างหลากหลายและสม่ำเสมอ เช่น จัดแสดงถาวรและชั่วคราว, เอกสารหนังสือ, การละเล่นการแสดง ฯลฯ

ยกเว้นมิวเซียมไทย ในชื่อ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” เพราะไทยเป็นรัฐราชการที่ให้ความสำคัญต่อพิธีการกับพิธีกรรมครอบงำอย่างงมงาย เหนือกว่ากิจกรรมแบ่งปันเผยแพร่ข้อมูลความรู้อย่างง่ายๆ สู่สาธารณชน

Advertisement

อยุธยา มีพระเจ้าแผ่นดิน 34 พระองค์

ตื่นเต้น เมื่อเห็นครั้งแรกจากเอกสารทางการของกรมศิลปากร ระบุชัดเจนว่าพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยามี 34 พระองค์ ถือเป็นความก้าวหน้าและกล้าหาญทางวิชาการอย่างยิ่ง สมควรยกย่องสรรเสริญ

เพิ่มเข้ามา คือ แผ่นดินขุนวรวงศาธิราช เสวยราชย์ 45 วัน ใน พ.ศ. 2091

Advertisement

พิมพ์อยู่ในหนังสือ นำชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา (สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2559 หน้า 16-17)

ผมเพิ่งอ่านพบ เพราะเพิ่งเห็นหนังสือนำชมเมื่อไปดูนิทรรศการฯ ตอนบ่ายวันเสาร์ 9 กันยายนผ่านมา เลยรีบซื้อราคาเล่มละ 80 บาท

หนังสือนำชมฯ เล่มนี้พิมพ์ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่กรมศิลปากรไม่แบ่งปันเผยแพร่เรื่องพระเจ้าแผ่นดิน 34 พระองค์ ครูอาจารย์ในสถานศึกษาทุกระดับไม่รู้หรือรู้ไม่ทั่วถึง ทำให้ไม่อัพเดตข้อมูลความรู้ ส่งผลเสียหาย แม้ไม่มากนัก แต่ก็เสียหายโดยรวม

ปัญหาของกรมศิลปากร คือไม่ให้ความสำคัญกิจกรรมกระจายข้อมูลความรู้สู่วงกว้าง เคยเขียนบอกหลายครั้ง จนบรรดานักโบราณคดีและภัณฑารักษ์มีแต่ออกอาการ “พิโรธ   วาทัง” ไม่ฟังเหตุผลต้นปลาย เหมือนมนุษย์ถ้ำกลัวแสงสว่าง

พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาที่แท้จริงมี 34 พระองค์ (ไม่ 33) เป็นที่กล่าวขวัญ (อย่างกระซิบกระซาบ) นานมาแล้ว ได้ยินผู้ใหญ่พูดกันตั้งแต่ผมเป็นนักเรียนโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ไม่มีใครกล้าเปลี่ยนแปลง

ผมเพิ่งเห็นเปลี่ยนจาก 33 เป็น 34 พระองค์ รายการพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ในหนังสือ อยุธยา ของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ) มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546 (หน้า 178-207)

แล้วก็คราวนี้ในหนังสือนำชมฯ ของพิพิธภัณฑ์ เจ้าสามพระยา

สร้างให้จำ ทำให้ลืม

กรุงศรีอยุธยามีพระเจ้าแผ่นดิน 33 พระองค์ เป็นตำราเดิมที่ถูกครอบงำให้ท่องจำและเชื่ออย่างงมงาย เพราะไม่นับแผ่นดินขุนวรวงศาธิราช ถือเป็นความอัปยศ

เท่ากับเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูก “สร้างให้จำ ทำให้ลืม” เพื่อปกปิดความจริงบางอย่างของไทย

ราชวงศ์

ราชวงศ์ของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา เป็นประเพณีได้จากตะวันตกยุคล่าอาณานิคม (ซึ่งตรงกับไทยราวต้นกรุงรัตนโกสินทร์)

ประเพณีดั้งเดิมของอุษาคเนย์ไม่พบแนวคิดเกี่ยวกับราชวงศ์ จึงไม่พบในเอกสารดั้งเดิมของไทย

[เว้นเสียแต่ว่าผมไม่ฉลาดจึงขาดตกบกพร่องมองไม่เห็นเอง]

ตำรา หรืองานค้นคว้าของไทยยุคก่อนๆ เรื่องราชวงศ์ต่างๆ ล้วนแต่งขึ้นใหม่ตามประเพณียุโรปยุคเจ้าอาณานิคมล่าเมืองขึ้น จึงไม่มีความสม่ำเสมอ เช่น

พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกของกรุงศรีอยุธยา เคยจัดเป็นราชวงศ์เชียงราย (ตามตำนานพระเจ้าพรหม) นานไปกลับเปลี่ยนเป็นราชวงศ์อู่ทอง (ตามนิทานท้าวอู่ทอง)

ครั้นถึงทุกวันนี้งงไม่รู้จะจัดไว้ตรงไหน เพราะยังหาที่มาแท้จริงไม่ได้ของพระเจ้าแผ่นดินองค์แรก ซึ่งคงหาไม่ได้ นอกจากมโนขึ้นเองของใครของมัน

หนังสือนำชมฯ เจ้าสามพระยาเล่มนี้ จะเห็นว่ากล้าๆ กลัวๆ เรื่องราชวงศ์ จึงมีบ้าง ไม่มีบ้าง ลักลั่นไป ส่วนที่มีก็มีอย่างคลุมเครือ หรือมีอย่างงงๆ เช่น

  1. ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ต่างอย่างไรกับ ราชวงศ์บ้านพลูหลวง สุพรรณบุรี?
  2. ขุนวรวงศาธิราช ใส่วงเล็บว่า ต่างวงศ์ หมายถึงอะไร? ต่างกับวงศ์อะไร?

ทางดีที่สุด คือ ไม่ต้องบอกราชวงศ์ เพราะไม่มีจริง แต่บอกความสัมพันธ์กับพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนเท่านั้นก็พอ หรือไม่ใส่ก็ได้

มีกรณีพิเศษ ได้แก่ พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกของอยุธยาระบุว่า “สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)” ซึ่งยังไม่วางใจ เพราะ 2 ชื่อนี้น่าจะต่างกลุ่มกัน

รามาธิบดี น่าจะเป็นชื่อในวัฒนธรรมขอมเมืองละโว้ (ลพบุรี)

อู่ทอง น่าจะเป็นชื่อในตำนานไต-ไท ฝ่ายสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี)

พิพิธภัณฑ์ฯ เจ้าสามพระยา อยุธยา ควรเป็นเจ้าภาพแสวงหาข้อมูลความรู้เหล่านี้ให้กว้างขวางโดยไม่ต้องมีข้อยุติ จะดีกว่าไหม? เท่ากับกระตุ้นให้ค้นคิดแล้วค้นคว้าโดยเข้าชมมิวเซียมทุกแห่ง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image