ทีหลังอย่าทำ : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ขอแสดงความยินดีกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติแต่ละยุทธศาสตร์ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน

คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติมีทั้งหมด 6 ชุด ชุดละ 9 ถึง 13 คน

ชุดแรก คือชุดจัดทำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง มี 11 คน พลเอกวรพงษ์ สง่าเนตร เป็นประธาน นายเชิดศักดิ์ สันติวรวุฒิ เป็นกรรมการและเลขานุการ

ชุดที่สอง คือชุดจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มี 12 คน นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน ศาสตราจารย์ศักดา ธนิตกุล เป็นกรรมการและเลขานุการ ชุดนี้ แต่เดิมมีรองศาสตราจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นกรรมการ แต่แจ้งไม่รับตำแหน่ง จึงเหลือกรรมการ 11 คน

Advertisement

ชุดที่สาม คือชุดจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มี 13 คน นายกฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธาน นายชาญวิทย์ ผลชีวิน เป็นกรรมการและเลขานุการ

ชุดที่สี่ คือชุดจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มี 12 คน นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ เป็นประธาน นางสีลาภรณ์ บัวสาย เป็นกรรมการและเลขานุการ

ชุดที่ห้า คือชุดจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มี 9 คน ศาสตราจารย์ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล เป็นประธาน นางสาวลดาวัลย์ คำภา เป็นกรรมการและเลขานุการ

Advertisement

ชุดที่หก คือชุดจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการปรับปรุงสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารการจัดการภาครัฐ มี 13 คน นายพงศ์โพยม วาศภูติ เป็นประธาน นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการแต่ละด้านมีขอบเขตการทำงาน และรายชื่อคณะกรรมการแต่ละคนตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 242 ง 29 กันยายน 2560

เมื่อมีชื่อของรองศาสตราจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์แสดงความยินดีจากทั้งสื่อมวลชน คอลัมนิสต์ และโซเชียลมีเดีย แม้จะมีเสียงติติงบ้าง

วันต่อมาเมื่อมีการแสดงความจำนงไม่รับตำแหน่งด้วยเหตุด้วยผลของตัวเอง ผู้ที่รู้จักคุณชัชชาติรู้สึกว่าถูกต้องแล้วที่ไม่รับตำแหน่งเป็นกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ที่มีขอบเขตการลงทุน การผลิต ภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาพื้นที่พิเศษ โครงการพื้นฐาน รวมถึงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ ซึ่งคุณชัชชาติเคยแสดงทั้งความคิดเห็นและดำเนินงานให้ปรากฏเมื่อครั้งร่วมรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่เจ้าตัวออกเดินทางไปอธิบายขยายความให้รับฟังในแต่ละการสัมมนาซึ่งมติชน-ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ จัดขึ้นขณะนั้น

ส่วนคุณสมชาย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ประกาศไม่รับตำแหน่งก่อนหน้านี้ จึงไม่มีชื่อปรากฏ นับว่าเหมาะสมแล้ว เนื่องจากปฏิบัติงานในตำแหน่งซึ่งเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ทุกด้านอยู่แล้ว

การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งตัวงานและตัวบุคคลดังนั้น การจะแต่งตั้งใคร ผู้มีหน้าที่กำหนดตัวบุคคลต้องพิจารณาอย่างดีแล้วว่า บุคคลนั้นมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่จะมากำหนดยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละด้าน ซึ่งต้องร่วมกันทำงานมีกำหนดถึง 5 ปี ทั้งการแต่งตั้งครั้งนี้บางคณะจะยังไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่พึงมี อาจมีมติแต่งตั้งเพิ่มได้ภายหลัง ก็เป็นเรื่องปกติ คงเป็นเพราะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติต้องการให้ยุทธศาสตร์ชาติเกิดขึ้นโดยเร็วซึ่งผู้คัดเลือกและทาบทามผู้จะมาเป็นกรรมการควรรอบคอบและมั่นใจกว่านี้

ไม่ใช่ประกาศแต่งตั้งทางราชกิจจานุเบกษาแล้ว บุคคลผู้นั้นปฏิเสธด้วยเหตุผลใดก็ตาม อาจเกิดความไม่มั่นใจของประชาชนว่า การยกร่างยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของชาติ จะไม่หายหกตกหล่นดอกหรือ ?

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image