จุดชนวน”ปรับ” จาก”รมต.แรงงาน” วัดใจปรับใหญ่-ย่อย

หลังจากคนไทยผนึกใจผนึกกำลังความจงรักภักดี ถวายความอาลัยในพระราชพิธีสำคัญลุล่วงไปอย่างสมพระเกียรติทุกประการ

การเมืองที่นิ่งสงบไปพักหนึ่ง กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกปากแล้วว่า กำลังคิดปรับ ครม.

คำถามที่ระดมเข้าใส่คือ เมื่อไหร่ อย่างไร ปรับเล็กหรือปรับใหญ่

Advertisement

คำตอบระมัดระวังจากนายกรัฐมนตรี คือ กำลังคิดอยู่ น่าจะก่อนปีใหม่มั้ง

และแบ่งรับแบ่งสู้เรื่องจำนวนของ รมต.ทหารในรัฐบาลว่าควรจะลดสัดส่วนลงหรือไม่

ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวว่า รัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลก็ตกลงว่า พร้อมจะให้มีการปรับเปลี่ยน

Advertisement

แต่บางคนยังไม่พร้อม

กลายเป็นปัญหาที่ยากแก่การตัดสินใจไปอีกแบบ ของรัฐบาลในสถานการณ์พิเศษ

ก่อนหน้าคำถามนี้ คือ การยกทีมยื่นใบลาออกของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน พร้อมผู้ช่วย รมต.และเลขานุการ รมต.

หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ใช้ ม.44 เด้ง นายวรานนท์ ปีติวรรณ พ้นอธิบดีกรมการจัดหางาน ไปนั่งรองปลัดกระทรวงแรงงาน และให้ นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ รองปลัด มานั่งแทน

สาเหตุของการลาออก ต่างพูดกันไปคนละทาง

นายกฯประยุทธ์กล่าวถึงการลาออกของ พล.อ.ศิริชัยว่าจะไปทำธุรกิจส่วนตัว ส่วนพี่ใหญ่ คสช.อย่างบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม บอกว่าไม่ทราบ

ขณะที่การเด้งด่วนนายวรานนท์ ก็ไม่ชัดเจนว่าทำไมต้อง ม.44

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เผยว่า เนื่องจากต้องการความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาให้รวดเร็ว เพราะผูกพันกับอะไรบางอย่างที่ผู้เกี่ยวข้องเขาทราบอยู่แล้ว

ส่วนจะเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวล่าช้าหรือไม่นั้น ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอะไร ไม่รู้สาเหตุของการปรับย้าย แต่การดำเนินการดังกล่าวเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ก่อนจะมีข่าวจากกระทรวงแรงงานซัดรัฐบาลว่า ไม่พอใจที่กระทรวงไม่สนองนโยบายเร่งรัดซื้อ “เครื่องสแกนม่านตา” เพื่อนำมาใช้เก็บข้อมูลแรงงานต่างด้าว

โดยอ้างว่า วงเงินจัดซื้ออยู่ในระดับเกือบพันล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ตอบโต้ทันทีว่า ไม่เป็นความจริง

เพราะหลังจากเด้งอธิบดีกรมจัดหางาน มีคำสั่ง คสช. ตั้งกรรมการจัดระบบจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์ของแรงงานภาคประมงออกมาทันที ประกอบด้วยตัวแทนหลายหน่วยงาน ทั้งจากมหาดไทยและอื่นๆ

การใช้เครื่องสแกนม่านตาในส่วนของแรงงานต่างด้าวในเรื่องประมง ก็เพราะแรงงานกลุ่มนี้ ลายนิ้วมือเลือนหมด จากการทำงานในเรือ และมีการให้แนวทางว่า หากเคร่ื่องที่มีอยู่ของกรมเจ้าท่า 30 เครื่อง ทำไม่ทัน ต่อแรงงาน 7-8 หมื่นคน ก็สามารถขอการสนับสนุนจัดซื้อได้

โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณา

การกล่าวอ้างเรื่องเครื่องสแกนม่านตาเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นจากปัญหาประสิทธิภาพในการทำงาน ที่กรมจัดหางานดำเนินการแล้วมีปัญหามากกว่า

รวมถึงวงเงินจัดซื้อถึงพันล้านบาท ก็ยังไม่มีตัวเลขนี้ปรากฎในการพิจารณา

สําหรับปัญหาการค้ามนุษย์กินความมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องต่างด้าวในประเทศไทย

และกลายเป็นปมเงื่อนสำคัญที่ทำให้ทีม รมต.ยกโขยงลาออกในครั้งนี้

ที่ร้ายแรงสุด จนเกิดการทลายขบวนการค้าโรฮีนจา ที่นำเอาชาวโรฮีนจามาขังไว้ในป่า อดๆ อยากๆ รอส่งตัวให้กับผู้ต้องการใช้แรงงาน

ซ้ำยังเกิดเหตุการณ์ลากเรือโรฮีนจาไปทิ้งกลางทะเล

ปัญหาเหล่านี้อ่อนไหวอย่างยิ่งในเชิงมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน

ทางการไทยต้องเข้าจับกุมกลุ่มนายทุนในภาคใต้และนายทหารระดับนายพล ซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกไปแล้วเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมานี้เอง

การค้ามนุษย์ยังกินความถึงการนำเอาแรงงานต่างด้าวเข้าไปรับจ้างในธุรกิจต่างๆ โดยมีการข่มขู่ข่มขืนใจ ด้วยผลตอบแทนไม่เป็นธรรม มีการกดค่าตอบแทน โดยใช้สถานะการเข้าเมืองผิดกฎหมายมาต่อรอง

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้นายทุนเอารัดเอาเปรียบคือการเข้าเมืองผิดกฎหมาย

สภาพปัญหาเช่นนี้เอง ที่ทำให้รายงานค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาจัดให้ไทยอยู่ใน “เทียร์ 2 วอตช์ลิสต์” ของทิปรีพอร์ต ซึ่งยังดีที่ขยับมาจากเทียร์ 3 ในปี 2557

ขณะที่สหภาพยุโรปมีคำเตือนหรือใบเหลืองแก่ประเทศไทย ในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย, ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม หรือไอยูยูฟิชชิ่ง ในปี 2558 ทำให้ไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหา เนื่องจากคำเตือนดังกล่าวทำให้เสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรสินค้าการประมง

จนเกิดยกเครื่องระบบประมงใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวอันเป็นกำลังสำคัญของกองเรือประมงไทย

และเมื่อกลางปี 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ด้วยเป้าหมายจะจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวใหม่หมด มีบทลงโทษผู้นำแรงงานเข้ามาโดยผิดกฎหมายถึง 8 แสนบาท

จนเกิดการเอะอะกันทั้งประเทศ เพราะใช้ “ยาแรง” แก้ปัญหา ทำให้เกิดการอพยพกลับของแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน กิจการต่างๆ ระส่ำระสายไปหมด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวส่งผลกระทบจีดีพีลดลงร้อยละ 0.03 เลยทีเดียว

สุดท้ายรัฐบาลสั่งยืดเวลาบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวใน 4 มาตราสำคัญออกไปต้นปี 2561

ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาผลงานของรัฐบาลมีความโดดเด่นอยู่พอสมควร ทั้งการที่ไอเคโอหรือองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ สั่งปลดธงแดง รับรองความปลอดภัยการบินของประเทศไทยไปเมื่อต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา

และเมื่อต้นเดือน พ.ย.ที่เพิ่งผ่านมานี้เอง ธนาคารโลกได้เลื่อนอันดับประเทศที่มีความยากง่ายในการลงทุนหรือทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) พรวดเดียว 20 อันดับ จาก 46 มาที่ 26

และในกลุ่มประเทศที่มีการปฏิรูปหรือพัฒนามากที่สุด หรือ The Most Impovers 10 อันดับ ก็เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ใน 10 ประเทศ

จากนี้ไปจึงเป็นเรื่องของการขยายผลเพื่อแก้ปัญหาที่ยังเป็นอุปสรรค

ซึ่งปัญหาค้ามนุษย์ จากทิปรีพอร์ตและไอยูยูฟิชชิ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ

การปรับปรุงตัวบุคคลใน ครม. เป็นหนทางหนึ่งที่จะสร้างความกระปรี้กระเปร่าในการทำงาน

รมต.จากระบบราชการ ไม่ว่าจากกองทัพหรือจากข้าราชการ มักทำงานเชิงรับ บ้างก็เน้นการรักษาสถานการณ์เดิมๆ ไปวันๆ

มีรายการ “หลุด” เป็นประจำ อาทิกรณีร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ จนนายกฯต้องถามว่า กูไปสั่งมันตอนไหน ??

เห็นได้ค่อนข้างชัดว่า โดยทิศทางและเนื้องานควรจะปรับ ครม.เพื่อพลิกโฉมได้แล้ว

แต่สภาพของความเป็นรัฐบาลในสถานการณ์พิเศษ ด้วยระบบพี่ๆ น้องๆ ก็เป็นอุปสรรคในตัวเอง

การฉีกกรอบมีความเสี่ยง แต่ถ้าไม่ออกจากกรอบนี้ ก็ส่งผลต่อการบริหารจากนี้ไปอีกเหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image