บทเรียน เมียนมา ใน ระยะ “เปลี่ยนผ่าน” ตาม รัฐธรรมนูญ

พลันที่ผ่านกระบวนการของ “การเลือกตั้ง” เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ภายในสังคมประเทศเมียนมาก็เกิดการแปรเปลี่ยน

แม้ “อำนาจ” จะยังอยู่ในมือของ JUNTA

แม้ “กลไก” สำคัญอย่าง “รัฐธรรมนูญ” อันร่างและจัดทำขึ้นโดยเหล่า JUNTA จะยังดำรงคงอยู่ โดยเฉพาะอย่างมาตรา 59[f]

ซึ่งมีเป้าหมายจำกัดกรอบ ออง ซาน ซูจี โดยตรง

Advertisement

แต่การดำรงอยู่ของ JUNTA ก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ขณะเดียวกัน การดำรงอยู่ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ก็ยิ่งไม่เหมือนเดิม

อย่างน้อย JUNTA ก็ทำไม่ได้เหมือนหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2531

อย่างน้อย JUNTA ก็ต้องเปิดทางให้ ตินจ่อ อันผ่านฉันทานุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร เข้าไปแคนดิเดตตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” ผ่านกระบวนการของ “รัฐสภา”

Advertisement

นี่ย่อมเป็นไปตาม “รัฐธรรมนูญ”

ผลที่สุด 360 เสียงจากทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาก็ลงมติมอบตำแหน่งประธานาธิบดีให้กับ ตินจ่อ

นี่คือ คุณูปการจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558

 

การที่ มิ้นส่วย ยังได้รับการเลือกด้วยคะแนน 213 จากที่ประชุมรัฐสภา อาจสะท้อนการดำรงอยู่แห่ง “อำนาจ” ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก JUNTA

เป็น “ความจริง”

การต่อสู้ระหว่าง 2 ฝ่ายอันต่อเนื่องมาจากการต่อสู้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ยังดำเนินต่อไป ไม่ว่าในเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงกิจการชายแดน และรวมถึง มุขมนตรีในภาคต่างๆ ของประเทศ

เหมือนกับยังเป็น “การรุก” ที่มาจาก JUNTA

แต่ในความเป็นจริง ก็มิได้เป็นการรุกเหมือนกับที่เคยมีอยู่อย่างที่ดำรงอยู่ก่อน “การเลือกตั้ง” ตรงกันข้าม การตั้งรับของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ก็เป็นการตั้งรับซึ่งสะท้อนลักษณะ “รุก” มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

สภาพการณ์ดำเนินไปเหมือนกับสภาพของสังคมยุโรปภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นเอง

คล้ายกับการเข้ามาของพลังการผลิตใหม่อย่าง “เครื่องจักร” จะเป็นการรุกไล่ต่อบรรดา “คนงาน” แต่ในอีกด้าน บรรดา “นายทุน” ผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ยึดกุมปัจจัยการผลิตนี้ก็ถูกพลังการผลิตอย่าง “เครื่องจักร” รุกไล่ด้วย

กล่าวสำหรับเมียนมา จึงมิได้มีแต่ JUNTA เท่านั้นที่อยู่ภายใต้แสงแห่งสปอตไลต์ หาก ออง ซาน ซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ก็เช่นเดียวกัน

ทุกฝ่ายล้วนไม่หลุดรอดไปจาก “สายตา” ของ “ประชาชน”

 

จากนี้จึงจำเป็นต้องย้อนกลับไปทบทวนอีกครั้งว่า เหตุปัจจัยอะไรทำให้ JUNTA ต้องพ่ายแพ้ต่อพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในสนาม “เลือกตั้ง”

ทั้งๆ ที่อยู่ในฐานะเป็นผู้ “ยึดกุม” ทุกกลไกแห่ง “อำนาจรัฐ”

ทั้งๆ ที่มีเครื่องมืออย่างสำคัญ คือ “รัฐธรรมนูญ” ที่เป็นกฎหมายสูงสุด วางกรอบ วางกติกา ในระยะเปลี่ยนผ่าน

คำตอบต้องย้อนกลับไปยังบทสรุปซึ่งมาจาก พล.ต.หลวงวิจิตรวาทการ

เมื่อหวนกลับมาเขียนหนังสือ “กุศโลบายสร้างความยิ่งใหญ่” หลังจากที่เคยเขียน “มหาบุรุษ” รวมถึง “วิธีทำงานและสร้างอนาคต” บทที่ 1 ความหมายของความยิ่งใหญ่

บทสรุปอันรวบรัดยิ่งของ พล.ต.หลวงวิจิตรวาทการ

ข้าพเจ้าได้ยิน ได้ฟังมาแต่ครั้งกระนั้น คือว่า “ผู้ยิ่งใหญ่” นั้น คือ “ผู้ที่นั่งอยู่ในหัวใจคน” ไม่ใช่นั่งอยู่บนหัวคน

ถามว่าตั้งแต่ครองอำนาจเมื่อปี 2505 เรื่อยมาจนถึงปี 2558 ของเหล่า JUNTA เป็นอย่างไร

การที่ประชาชนกว่าร้อยละ 80 เมื่อปี 2531 และกว่าร้อยละ 90 เมื่อปี 2558 ลงมติเลือกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ย่อมเป็น “รูปธรรม” แห่งความล้มเหลว

ยืนยันว่า JUNTA มิได้นั่งใน “หัวใจ” หากแต่นั่งอยู่บน “หัว”

ยืนยันว่า NLD ต่างหากที่นั่งใน “หัวใจ” ขณะที่ JUNTA นั่งบน “หัว” ประชาชน

 

ระยะ “เปลี่ยนผ่าน” ของ JUNTA นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมา จึงทรงความหมายเป็นอย่างสูง

เพราะว่าไม่ว่าบทบาทของ ตินจ่อ แห่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ไม่ว่าบทบาทของเหล่า JUNTA ทั้งหลายล้วนตกอยู่ในแสงแห่งสปอตไลต์ฉายจับ

อยู่ในสายตา “ชาวพม่า” อยู่ในสายตา “ชาวโลก”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image