ในวันที่พรรคการเมือง กลายเป็นแพะการเมือง : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เหตุการณ์ในบ้านเมืองช่วงนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับการกลับสู่ประชาธิปไตย เห็นจะไม่พ้นเรื่องเกี่ยวกับการยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องวันเวลาที่แน่นอนในเรื่องของการเลือกตั้งและวันเลือกตั้งเช่นเคย เพิ่มเติมคือ การยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง คือให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้

เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่จะพูดแบบนี้ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะเริ่มมีการขยับกันนิดๆ หน่อยๆ จากคำสั่งของรัฐบาลที่ให้ความชัดเจนขึ้นว่าจะเริ่มปลดล็อกพรรคการเมืองในช่วงสักเมษาปีหน้า

แต่ข้อกังวลของพรรคการเมืองก็คือ จะทันไหม และมีอะไรอยู่เบื้องหลังไหม กับการ “สร้างแต้มต่อในนามของความเป็นธรรม-เท่าเทียม” ให้พรรคเล็กสามารถเริ่มกิจกรรมทางการเมืองก่อนพรรคใหญ่หนึ่งเดือน

ไม่รวมการให้ระยะเวลาเดือนเดียวให้สมาชิกพรรคเก่ามายืนยันตัวตน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะงานเอกสารบางครั้งต้องใช้เวลา รวมทั้งการติดต่อราชการ เราจะคิดแบบเอาคนกรุงเทพฯเป็นตัวตั้งไม่ได้ ในต่างจังหวัดนั้น คนที่อยู่ห่างไกลอาจต้องใช้เวลาในการเดินทาง และรวบรวมเอกสาร

Advertisement

จากหลักการสำคัญของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย คือการเลือกตั้งจะต้องมีองค์ประกอบสี่ประการ
1.เสรี (free) คือทุกคนมีโอกาสได้ลงสนาม

2.เป็นธรรม (fair) คือไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบกัน เช่น เป็นรัฐบาลจะมาคุมเลือกตั้งเอง แล้วสร้างแต้มต่อให้พรรครัฐบาลไม่ได้ หรือกติกาต้องไม่เอื้อกับพรรคใดพรรคหนึ่ง

3.สม่ำเสมอ (regular) ไม่ใช่นานๆ จัดที ต้องมีความสม่ำเสมอในการจัดเลือกตั้ง ไม่ใช่พอรู้ว่าจะแพ้ก็เลื่อนไป

Advertisement

4.มีความหมายต่อผู้คนในสังคม (meaningful) หมายความว่า คนต้องรู้สึกว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นที่มาของการใช้อำนาจอธิปไตย ไม่ใช่รู้สึกว่าเลือกไปก็เท่านั้น อำนาจที่แท้จริงในสังคมไม่ได้อยู่ในรัฐสภา หรือรู้สึกว่าเลือกตั้งไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น

ที่กล่าวมาก็เพื่อชวนให้ท่านผู้อ่านตั้งคำถามร่วมกัน ไม่ว่าท่านจะอยู่ข้างไหนก็ตาม ว่าข้ออ้างที่บอกว่าการเปิดให้พรรคใหม่ๆ ทำกิจกรรมก่อนนั้นมันสร้างความเป็นธรรมจริงไหม หรือมีความต้องการจะให้พรรคเล็กนั้นเป็นที่มาของความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง-จริงหรือ?

หรือแค่ต้องการให้พรรคเล็กมารองรับโครงสร้างอำนาจการเปลี่ยนผ่านของผู้มีอำนาจในวันนี้ที่เตรียมคนของพวกเขาไว้ในวุฒิสมาชิกแล้วครึ่งหนึ่ง?

โครงสร้างที่สร้างแต้มต่อในนามของความเป็นธรรมนี้ สิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมได้ก็คือ พยายามนำเสนอกระบวนการการได้มาของ สว.250 คน ที่แต่งตั้งเองนั่นแหละครับ ถ้ามาแนวว่าคนของผม เป็นคนดี ผมรับผิดชอบเอง มันก็จะยิ่ง “สวนทาง” กับการพยายามอย่างมากมายในการสร้างระบบกลั่นกรองพรรคการเมืองและความซับซ้อนของระบบการเลือกตั้งในอีกฝ่ายหนึ่งอย่างน่าเกลียด

คิดดีๆ ก็แล้วกันครับ…

ทีนี้มามองภาพใหญ่ของความพยายามในการจัดการพรรคการเมืองและระบบการเลือกตั้งในรอบนี้กันอีกที  คำถามก็คือ ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ในอดีตนั้นเรามีมุมมองกับพรรคการเมืองในแบบหนึ่ง คืออยากได้อยากมี และใฝ่ฝันจะมีพรรคการเมืองที่เป็นทั้งพรรคอุดมการณ์ และพรรคที่เน้นนโยบาย (ภาษาทางวิชาการเรียกว่า programatic)

เราจึงทำทุกวิถีทางที่จะออกกฎระเบียบให้พรรคการเมืองเป็นพรรคขนาดใหญ่ ทั้งบังคับให้เป็นสมาชิกพรรค ห้ามย้ายพรรคง่ายๆ รวมทั้งมีแต้มต่อให้อีกผ่านระบบการซับซ้อนเพื่อให้มีเสียเพิ่ม เช่นมีทั้ง ส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์

แต่ทั้งหมดทั้งปวงนั้นไม่ใช่พรรคการเมืองเสนอ ข้อนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับเขา ผู้เสนอคือบรรดานักวิชาการผู้หวังดี และผู้มีอำนาจในยุคสมัยหนึ่งมีความใฝ่ฝันอย่างนั้นจริง แล้วคนเหล่านี้ก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับความผิดพลาดในอดีต

การโยนความผิดไปที่พรรคการเมือง และความเลวร้ายของนักการเมืองนั้นเป็นมนตราที่สามารถทำให้ไฟนั้นสาดแสงไปทางอื่น และคนบางคนในกลุ่มนี้ก็กลับมาซ่อมและร่างกติกาใหม่ไปเรื่อยๆ

พูดให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย พรรคการเมืองเป็นแบบที่เป็นอยู่ในวันนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า โครงสร้างสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมทางการเมืองของประเทศ โดยเฉพาะการเลือกตั้ง (electoral and party engineering) ทำให้พวกเขาเป็นแบบนี้

ตอนนี้สิ่งที่ปรากฏอยู่ หากพิจารณาตามหลักวิชานั้น นักวิชาการบางท่านมองว่า วิธีการสร้างกฎกติกาเพื่อจัดการพรรคการเมืองนั้นมีอยู่สองแบบ

แบบแรก คือต้องการให้พรรคการเมืองเข้มแข็งใหญ่โต และเป็นศูนย์กลางของการเมืองรัฐสภา จึงพยายามทำให้พรรคการเมืองใหญ่กว่าที่เป็นจริง เช่น นับคะแนนซ้ำด้วยสองระบบ มีระเบียบวินัยพรรคมาก

แบบที่สอง คือต้องการให้พรรคการเมืองกระจายตัวไปตามความเป็นจริงทางสังคม คือเป็นพรรคเล็กๆ แต่ไม่ใช่แค่นั้น เพราะคนที่จะคิดแบบที่สองได้จะต้องพัฒนารูปแบบของการสร้างความเป็นสถาบัน และวัฒนธรรมในการร่วมมือกันของพรรคการเมืองที่หลากหลายให้ทำงานด้วยกันได้ ไม่ใช่ปล่อยให้มีพรรคหัวแหลกหัวแตก ง่ายต่อการแทรกแซงจากอำนาจนอกสภา

เรื่องที่ตลกก็คือ ในโครงสร้างของรัฐธรรมนูญในวันนี้ เหมือนเราเข็ดขี้อ่อนขี้แก่กับวิธีคิดเรื่องพรรคใหญ่ แต้มเยอะ และต้องการสะท้อนความเป็นจริงทางการเมืองมากขึ้น แถมมาช่วงปลายทางยังมีความพยายามทำพรรคให้เล็กและหลากหลายแถมสร้างแต้มต่ออีกมากมาย

แต่คำถามที่สำคัญก็คือ แม้เราจะอ้างถึงความเป็นจริงทางการเมืองมากขึ้น แต่เราไม่พยายามเชื่อมั่นว่าพรรคการเมืองจะสามารถบริหารประเทศได้จริง เราพยายามสร้างแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ เราแทรกแซงการเมืองโดยเอาคนของอำนาจเก่าอีกครึ่งสภาเพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายของพรรคการเมืองนั้นเป็นไปได้ยากมากขึ้น

ประเทศไทยจึงเป็นตัวแบบใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบง่ายๆ ของโครงสร้างสถาปัตยกรรมการเมืองเน้นการเลือกตั้งและพรรคการเมืองแบบที่ผมพยายามอธิบาย

เรื่องต่อมาก็คือ ในการศึกษาพรรคการเมืองของโลกนั้น นอกจากตัวแบบพรรคการเมืองขนาดใหญ่ครอบงำ และพรรคการเมืองเล็กแต่ต้องส่งเสริมให้สามารถทำงานร่วมกันได้ ยังมีกรอบคิดอีกอย่างที่นักวิชาการการเมืองในประเทศแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พยายามตั้งคำถามในเชิงสิ่งที่เป็นจริงมากขึ้น

นั่นก็คือ เราสามารถแบ่งแยกพรรคการเมืองออกเป็นพรรคสองแบบได้จริงเหรอ หมายถึง พรรคที่เน้นนโยบาย กับพรรคที่เน้นตัวบุคคล หรือเครือข่ายอุปถัมภ์

อธิบายง่ายๆ ก็คือ เราเคยเชื่อว่า พรรคการเมืองในประเทศที่เจริญแล้วนั้น จะเป็นพรรคการเมืองที่เน้นนโยบาย ขณะที่พรรคการเมืองในประเทศยังไม่เจริญทางการเมือง จะเป็นพรรคเฉพาะกิจ เน้นตัวบุคคล เน้นเครือข่ายในท้องถิ่น และประสานประโยชน์กับชนชั้นนำในท้องถิ่น

คำถามก็คือ พรรคการเมืองไทยนั้นสามารถแบ่งแยกได้แบบนี้จริงๆ หรือ หรือว่าสิ่งที่เราควรถามก็คือ ในแต่ละท้องถิ่น/ท้องที่นั้น พรรคการเมืองนั้นทำงานอย่างไร มีการผสมทั้งส่วนที่เป็นนโยบาย และเครือข่ายวัฒนธรรมและอำนาจในท้องถิ่นเข้ากันอย่างไร

ที่สำคัญการเติบโตของพรรคการเมืองมันจริงเหรอที่เกิดจากคนเลว และใช้เงินซื้อเสียง หรือมันเกิดจากการที่ระบบราชการ และระบบการปกครองจากส่วนกลางมันไร้ประสิทธิภาพ

เรื่องนี้ไม่มีการพยายามอธิบายอะไรให้มันชัดเจน ไม่เคยเอาประชาชนเป็นตัวตั้งว่า ดุลอำนาจที่แท้จริงที่ประชาชนจะได้ประโยชน์จากทั้งระบบราชการ และพรรคการเมืองในท้องถิ่นเป็นอย่างไร

จริงอยู่ว่า ในหลายพื้นที่นั้น ระบบการเมืองแบบที่เป็นอยู่นั้นอาจทำให้ประชาชนนั้นควบคุมพรรคการเมืองได้ไม่ง่ายนัก แต่ก็ต้องถามเหมือนกันว่า ประชาชนในพื้นที่นั้นสามารถควบคุมและตรวจสอบระบบราชการได้ด้วยหรือไม่ การถอนอำนาจพรรคการเมืองในพื้นที่ออกมาหลายปี ทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบระบบราชการได้จริงหรือไม่

วันนี้สิ่งที่เห็นในกฎกติกาของประเทศนั้น พบว่าผู้ร่างน่าจะขาดจินตนาการและความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพรรคการเมืองอย่างจริงจัง พวกเขาไม่มีภาพฝันของการเมืองรัฐสภาที่พรรคการเมืองเป็นแกนนำ แถมยังไล่บี้ประเด็นเรื่องคุณสมบัติของนักการเมืองและพรรคการเมืองอย่างเอาเป็นเอาตาย

คำถามก็คือ ภายใต้กติกาใหม่ๆ นี้ การเมืองหลังการเลือกตั้งในรอบหน้านั้นจะทำงานได้อย่างไร

พรรคการเมืองไทยในวันนี้ลงหลักปักฐานในสังคมในระดับหนึ่งแล้ว ไม่ใช่เหมือนกับที่เราจะมองเขาจากภายนอกท้องถิ่นว่า พรรคการเมืองไม่ได้สัมพันธ์กับชาวบ้าน-แม้ว่าความสัมพันธ์นั้นจะสลับซับซ้อน และผสมปนเปทั้งมิตินโยบาย และมิติของการเมืองวัฒนธรรม คงจะพูดได้ยากว่าประชาชนไม่รู้จักพรรคการเมือง แม้ว่า ส.ส.ของเขาจะย้ายพรรค แต่ตัวเลขการย้ายพรรคนั้นน้อยลงกว่าสมัยก่อนมากอย่างมีนัยสำคัญใช่หรือไม่?

ความเชื่อในการจำกัดอำนาจนักการเมือง และตัดตอนนักการเมืองและพรรคการเมืองผ่านการควบคุมที่เข้มงวดด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจ จะทำให้การเมืองนั้นตอบสนองความใฝ่ฝันของประชาชนจริงๆ หรือตอบสนองต่อจินตนาการอันคับแคบและไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงของชนชั้นนำทางอำนาจกลุ่มหนึ่งที่ขาดฐานการสนับสนุนจากมวลชนและลอยตัวจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่

อีกไม่นานก็คงจะได้รู้กันครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image