น้ำพระทัย…ทรงห่วงใยประชาชน : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

เชื่อมั้ยครับ…ย้อนอดีตไปในราวปี พ.ศ.2518 พื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ที่อยู่แนบชิดติดกรุงเทพฯ เคยเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวและเป็นแหล่งซ่องสุมกำลังของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) พื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ความขัดแย้ง มีการสู้รบ เพราะมีเงื่อนไขครบถ้วนที่ ผกค.ต้องการ คือ ความยากจน แร้นแค้น ไร้โอกาส ความห่างไกลจากอำนาจรัฐ เพาะปลูกอะไรก็ไม่ได้เพราะไม่มีน้ำ พื้นที่แห้งสุดกันดาร ผสมผสานกับภูมิประเทศบางส่วนเป็นป่าเขา ยากที่จะเข้าถึง

ประชาชนในพื้นที่หวาดกลัว ผกค. ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับทางราชการ และส่วนหนึ่งสมัครใจไปเป็น ผกค. จับอาวุธ ขอเป็นอริกับรัฐด้วยความคับแค้นสุดจะทน

พื้นที่อำเภอสระแก้ว อำเภอวัฒนานคร อำเภอตาพระยา อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี เป็นพื้นที่รอยต่อของ 3 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี นครราชสีมา และบุรีรัมย์ เชื่อมต่อไปเทือกเขาบรรทัด มีเส้นทางในป่าเชื่อมโยงออกไปกัมพูชา
ความยากจนข้นแค้นเนื่องจากการเพาะปลูกไม่ได้ผล เพราะขาดน้ำที่เป็นปัจจัยหลักของชีวิต แม้กระทั่งหน่วยทหารที่ผู้เขียนออกไปฝึกและปฏิบัติหน้าที่ ต้องใช้ชีวิตในภูมิประเทศของปราจีนบุรี ก็ต้องยอมรับว่ามันร้อนหฤโหด ผืนแผ่นดินแห้งผาก เปลวแดดที่ไหลพลิ้ว ทำให้เกิดภาพหลอนคล้ายน้ำบนถนนยาวสุดสายตา ร้อนแล้งทารุณเหมือนโดนสาป สิ่งมีชีวิตแทบจะอยู่ไม่ได้ ป่าไม้ถูกบุกรุกทำลายโล่งเตียน หาร่มเงาไม่พบ

Advertisement

ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีจังหวัดเดียวนะครับ ในช่วงเวลานั้น ผกค.โดยการนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ใช้ความยากไร้ลำเค็ญ ความคับแค้นทางจิตใจ ความยากไร้ทางวัตถุ ปลุกระดมประชาชนคนไทยเกือบทุกพื้นที่บนแผ่นดินไทยให้เข้าป่า จัดตั้งเป็นกองกำลัง เข้าโจมตีที่ตั้งทางทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง มีการสู้รบระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับ ผกค. แย่งยึดพื้นที่ แย่งชิงประชาชนในประเทศไทย ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตะวันตกจรดตะวันออก มีการสูญเสียไม่เว้นแต่ละวัน

กลับมาย้อนอดีตในพื้นที่ ปราจีนบุรีใกล้กรุงเทพฯ แค่ปลายจมูก ที่ชนรุ่นหลังควรได้รับทราบ

มกราคม พ.ศ.2521 ความเดือดร้อนยากไร้ของราษฎร และการสู้รบของคนไทยด้วยกันเองในพื้นที่ปราจีนบุรี ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “โครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขาตามพระราชดำริจังหวัดปราจีนบุรี” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ทรงพระราชทานเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องในพื้นที่ พร้อมทั้งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นงบประมาณก้อนแรก เพื่อเป็นหมุดหมายเริ่มต้นการทำงานอย่างคล่องตัว ทันเวลา ทันเหตุการณ์

Advertisement

พระองค์พระราชทานแนวทาง 3 ประการ คือ การพัฒนาอาชีพ การฟื้นฟูจิตใจ และจัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในพื้นที่เป็นการเร่งด่วน


นี่คือจุดเริ่มต้น เป็นประวัติศาสตร์ เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ “โดยใช้การพัฒนา” เพื่อต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ทรงคิดเพื่อพสกนิกรให้ร่มเย็นเป็นสุข

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521-2525 พระองค์เสด็จฯเยี่ยมราษฎรทุกปี และทรงรับทราบพัฒนาการของปราจีนบุรีตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่องและมุ่งมั่น

ย้อนไปในปี พ.ศ.2518 เป็นต้นมา ลัทธิคอมมิวนิสต์ประสบชัยชนะอย่างงดงามใน 3 ประเทศ คือ ลาว เขมร เวียดนาม ภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์และประชาชนคนไทยส่วนหนึ่งที่เป็นปรปักษ์ตั้งใจจะต่อสู้ด้วยอาวุธกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เปรียบเสมือนไฟบรรลัยกัลป์ลูกมหึมาที่กำลังลามเลียเข้ามาในประเทศไทย

มีนักคิด นักวิชาการ คิดค้นทฤษฎีแนวคิดการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์หลากหลาย ทหาร ตำรวจ พลเรือน เกือบทุกหน่วย ถูกส่งออกไปสู้รบในป่าเขา มุ่งมั่นที่จะสังหารและขจัด ผกค.เป็นหลักการเบื้องต้น
ความเข้าใจ ความรู้เรื่อง ที่มาที่ไป เหตุผล ความต้องการของคนไทยที่หันไปเป็น ผกค. เป็นเรื่องที่ห่างไกล และล้ำลึกสุดหยั่งถึง

แต่เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย คือ การค้นพบแนวทางที่เหมาะสมด้วยตัวเอง เหตุปัจจัย คือ ความยากจน แร้นแค้น ไม่มีจะกิน การด้อยโอกาสของประชาชน เป็นปัจจัยหลักที่ผลักไสให้เขาเหล่านั้นต้องลุกขึ้นมาจับปืน และประกาศตัวเป็นศัตรูกับรัฐ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นผู้นำทางความคิดที่จะต้องแก้ปัญหาที่ “ต้นเหตุ” ความเดือดร้อนความทุกข์ยากของประชาชนในแผ่นดินของพระองค์

น้ำ คือ ปัจจัยหลักของทุกชีวิต เป็นจุดตั้งต้นในการทรงงานเพื่อดูแลประชาชนของพระองค์ และเป็นพระวิสัยทัศน์แบบรอบด้าน ตอบโจทย์ที่ทุกคนแสวงหา เพื่อแก้ปัญหาหลักของแผ่นดิน

พระราชดำรัสที่ทำให้เกิดการพัฒนาบ้านเมืองเพื่อความกินดีมีสุขของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อ 11 ธันวาคม 2538 ความว่า

“…การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักการใหญ่คือ การควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าว คือ เมื่อน้ำมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายน้ำออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้ และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งมีคุณภาพและเหมาะสมแก่การเกษตร การอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค ปัญหาอยู่ที่ว่าการพัฒนาแหล่งน้ำนั้นอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง…”

22 พฤษภาคม 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการห้วยโสมง ในพื้นที่อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นครั้งแรก พระองค์ทรงบันทึกด้วยลายพระหัตถ์ว่า ถ้าทำแล้ว จะเกิดประโยชน์กับประชาชน

นับแต่นั้นมา จึงเกิดโครงการที่จัดการเรื่องน้ำถึง 11 แห่งในพื้นที่ปราจีนบุรี ประกอบด้วย อ่างห้วยชัน ฝายคลองน้ำเขียว อ่างทราย อ่างท่ากระบาก อ่างช่องกล่ำบน อ่างช่องกล่ำล่าง อ่างคลองสามสิบ อ่างคลองหมากนัด อ่างคลองพันโป้ อ่างคลองเกลือ อ่างพระปรง โดยเริ่มจากอ่างเก็บน้ำห้วยชันเป็นแห่งแรก มีอ่างเก็บน้ำพระปรงเป็นอ่างขนาดใหญ่ที่สุด เก็บกักน้ำได้ถึง 97 ล้านลูกบาศก์เมตร

เมื่อวันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯเยี่ยมโครงการอ่างเก็บน้ำท่ากระบาก อ่างเก็บน้ำช่องกล่ำบน อำเภอวัฒนานคร

วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม 2525 เสด็จฯไปทอดพระเนตรโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านคลองทรายอีกครั้งหนึ่ง

โครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขาปราจีนบุรีตามพระราชดำริ เป็นงานการพัฒนาแบบครบทุกมิติ ทำให้ชาวบ้านรู้จักการใช้ชีวิตร่วมกัน รู้จักระบบ “สหกรณ์” เป็นครั้งแรก
เมื่อชาวบ้านในพื้นที่ลืมตาอ้าปากได้ ชีวิตที่เคยไม่มั่นคงก็กลับกลายเป็นความมั่นคง การสู้รบจึงมลายหายไป

และสิ่งที่คนไทยได้สัมผัสพระอัจฉริยภาพจากพระองค์คือ “อ่างพวง” อันเกิดขึ้น อ่างเก็บน้ำ 3 อ่าง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ อ่างช่องกล่ำบน เก็บกักน้ำได้ 2.7 แสนลูกบาศก์เมตร ถัดไปอีก 5 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำช่องกล่ำล่าง เก็บกักน้ำได้ 2.2 แสนลูกบาศก์เมตร และถัดไปอีกราว 5 กิโลเมตร เป็นอ่างเก็บน้ำท่ากระบาก เก็บกักน้ำได้ 7.2 แสนลูกบาศก์เมตร

โดยแห่งแรกเมื่อน้ำล้นแล้วก็จะไหลผ่านลำคลองธรรมชาติไปที่อ่างสองและอ่างสาม ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่อำเภอวัฒนานคร

การพัฒนาในพื้นที่ยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อจัดการกับน้ำแล้ง น้ำท่วม และน้ำเค็มที่ดันขึ้นมาจนทำให้น้ำที่ทำการเกษตรกลายเป็นน้ำกร่อยที่ใช้ไม่ได้
โครงการยังคงเดินหน้าต่อไป ขยายตัวอย่างเป็นระบบ

พ.ศ.2552 ครม.อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง ระยะเวลาในการก่อสร้าง 9 ปี ในพื้นที่อำเภอนาดี

พ.ศ.2553 กรมชลประทานเริ่มการก่อสร้าง แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2560 อ่างเก็บน้ำแห่งนี้มีความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่บนเนื้อที่ 16,250 ไร่ มีระบบส่งน้ำและระบายน้ำครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่ แก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา

อ่างเก็บน้ำที่สวย สง่างาม มีคุณค่าสุดพรรณนาแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นบริเวณห้วยโสมง ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นปัจจัยที่พลิกชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจากความแห้งแล้งกันดาร ไร้อนาคตกลายเป็นความสดใส ชุ่มชื่น อย่างอเนกอนันต์

เมื่อมีน้ำ ทุกชีวิตก็เริ่มต้นได้

ปราจีนบุรีเป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงปลามากเป็นลำดับต้นๆ น้ำจากอ่างแห่งนี้ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างโอกาสสำหรับการเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลานิล เป็นหลักประกันให้ประชาชนมีน้ำประปาใช้ตลอดปี
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่เคยซื้อน้ำจากรถบรรทุกในราคาแสนแพงนานหลายปี มาบัดนี้มีน้ำประปาใช้แบบไร้กังวล

อ่างเก็บน้ำแห่งนี้ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมเริ่มทยอยเข้ามาตั้งในพื้นที่ เกิดการสร้างงาน ประชาชนมีงาน มีเงิน มีกิน มีใช้ ผืนน้ำที่ใสสะอาดขนาดใหญ่ ทิวทัศน์ที่สวยงามร่มรื่น กลายเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดท่องเที่ยว เกิดรายได้อย่างคึกคัก
โครงการเขื่อนห้วยโสมง เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งต่อมาโครงการแห่งนี้ได้รับพระราชทานชื่อเป็นทางการว่า “อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา”

มีความหมายว่า อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

แนวพระราชดำริของพระองค์ยึดหลักความต้องการที่แท้จริงของประชาชน สภาพภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และประเพณีของชุมชนในสังคมนั้นเป็นหลัก
เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอ่างแห่งนี้อย่างเป็นทางการ และทรงเยี่ยมประชาชนในพื้นที่

พสกนิกรที่มาเฝ้ารับเสด็จ ชาวไร่ ชาวนา ประชาชนจิตอาสา สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เห็นคุณค่า ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระมหากษัตริย์ทรงมุ่งมั่น ใส่พระทัยแก้ไขความทุกข์ยากของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่แห่งหนตำบลใด ให้อยู่ดี มีสุข มีกิน มีใช้ ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์

เสียงที่เปล่งออกมากึกก้องของพี่น้องประชาชนในโอกาสรับเสด็จ “ทรงพระเจริญ” คือ ความปีติ ปลาบปลื้ม จงรักภักดี ที่พสกนิกรถวายแด่พระองค์ตลอดไป

ทรงพระเจริญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image