ที่มาของเผด็จการ และความสัมพันธ์ของเผด็จการกับการคอร์รัปชั่น

มักจะเป็นที่สงสัยในหมู่ของผู้คนที่เชื่อมั่นและศรัทธากับประชาธิปไตย ว่าเหตุไฉนบรรดาเผด็จการนั้นจึงอยู่ในอำนาจได้ และเหตุไฉนผู้คนจึงยอมที่จะอยู่ในอำนาจของเผด็จการ

วันนี้ผมมีส่วนหนึ่งของคำตอบ โดยจะนำท่านผู้อ่านย้อนกลับไปสู่ที่มาของประวัติศาสตร์เผด็จการของโลก และในช่วงหลังของบทความจะชวนท่านผู้อ่านคุยเรื่องของความสัมพันธ์ของเผด็จการกับคอร์รัปชั่นด้วยครับ

แน่นอนว่าเมื่อเราพูดเรื่องของเผด็จการ บางครั้งมันไม่ใช่แค่เรื่องของระบอบการเมืองเท่านั้น เพราะก็มีความเป็นไปได้ว่า ประชาธิปไตย นั้นก็สามารถเป็นเผด็จการได้เช่นกัน ดังนั้นถ้าเราจะเข้าใจเผด็จการเราคงต้องเข้าใจมันทั้งสองส่วน

หนึ่ง คือ เข้าใจมันในรูปแบบที่เป็นทางการ ว่าระบอบเผด็จการมีหน้าตาอย่างไร มีการจัดวางอำนาจอย่างไร มีการจัดสถาบันต่างๆ อย่างไร มันทำงานอย่างไร และโดยทั่วไปเผด็จการมักจะขึ้นสู่อำนาจโดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญ และมักจะมีการผูกขาดอำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบ ซึ่งเราจะเห็นได้จากโครงสร้างการวางอำนาจ หรือบางทีก็เห็นจากความไม่กล้าของฝ่ายกองเชียร์/กองหนุนเอง

Advertisement

สอง คือ เข้าใจปฏิบัติการทางอำนาจ ซึ่งบางครั้งระบอบที่มาจากประชาชนแบบประชาธิปไตยก็มีโอกาสกลายเป็นเผด็จการได้ ถ้าการใช้อำนาจนั้นปราศจากการตรวจสอบ โดยเฉพาะเมื่อโครงสร้างเชิงสถาบันนั้นไม่มีระบบการถ่วงดุลตรวจสอบที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในสังคมที่ประชาธิปไตยขาดคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม มาเริ่มกันที่เผด็จการคลาสสิกก่อน กล่าวคือ คำว่าเผด็จการ หรือ dictator นั้นในยุคแรกไม่ใช่คำที่มีความหมายในแง่ลบ ว่ากันว่าคำว่าเผด็จการนั้น เกิดขึ้นในจักรวรรดิโรมัน โดยสภาของโรมัน ในช่วงห้าร้อยปีก่อนคริสตกาล (510 B.C.) กล่าวคือ เผด็จการนั้นไม่ได้มาจากการยึดอำนาจ แต่มาจากเงื่อนไขของการจำต้องใช้อำนาจเด็ดขาดในสภาวะฉุกเฉิน เช่น การเข้ามาแก้ปัญหาความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเฉพาะเมื่อมีการก่อกบฏ หรือการก่อจราจล

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง เผด็จการนั้นไม่ได้มีแต่เกิดขึ้นจากระบอบกษัตริย์ หรือหัวหน้าเผ่า ที่มีมาก่อนหน้านั้น แต่เผด็จการนั้นก็มาจากระบอบสาธารณรัฐที่มาจากประชาชนแบบโรมันก็ได้ หรือว่าง่ายๆ เผด็จการนั้นก็สามารถมาจากประชาชน และ “เป็นคนของประชาชน” ได้ โดยเฉพาะเมื่อสภาผู้แทนของประชาชนนั้นตัดสินใจว่าจำต้องมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับผู้นำบางคนเพื่อให้ใช้อำนาจในการบรรลุภารกิจบางประการ อย่างกรณีโรมันในยุคสาธารณรัฐนั้น โดยทั่วไปจะมีผู้ปกครองในตำแหน่งกงสุลสองคน แต่เมื่อมีสภาวะฉุกเฉินนั้น อาจจะเลือกคนใดคนหนึ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งจอมเผด็จการ (dictator) ได้ (ประเด็นนี้หลายคนที่ชอบพูดว่า ฮิตเลอร์นั้นมาจากการเลือกตั้ง เอาเข้าจริงก็มีบางส่วนที่ไม่ได้ผิดทั้งหมด คือ ฮิตเลอร์มาจากลงมติในรัฐสภาเช่นกัน นั่นแหละครับ)

Advertisement

แต่ช้าก่อน การจะเป็นเผด็จการในสังคมสาธารณรัฐนั้นไม่ได้สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจทั้งหมด แม้ว่าเขาจะมีอำนาจเหนือนักการเมือง และการกระทำของเขานั้นได้รับการยกเว้นผิดจากระบบกฎหมาย แต่โดยทั่วไป เขาจะมีอำนาจได้ไม่เกินหกเดือน และแม้ว่าเขาจะเปลี่ยนกฎหมาย และรัฐธรรมนูญได้ แต่เขาจะไม่สามารถใช้งบประมาณนอกเหนือไปจากที่สภาอนุมัติให้ และเขาไม่สามารถออกนอกประเทศได้

ดังนั้น โดยรากเหง้าของเผด็จการที่มาจากประชาชนนั้น เผด็จการอาจไม่ใช่พวกที่ล้มล้างประชาชน บางครั้งอย่างในโรมันนั้น เผด็จการที่มีที่มาจากประชาชนก็สามารถต่อสู้เพื่อประชาชน อย่าง Titus Larcius นั้นว่ากันว่า ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจพิเศษ จึงทำให้เขากลายสภาพจากกงสุลมาเป็นเผด็จการ เพื่อจัดการกับพวกกบฏในหลายเมืองที่ลุกฮือขึ้นเพื่อจะนำเอาระบอบกษัตริย์กลับมาปกครอง นอกจากนั้น เผด็จการอย่าง Larcius นี้ก็ยังจะพยายามปกครองเพื่อประโยชน์ของชนชั้นกลางและชนชั้นล่างด้วย แม้ว่าเขาจะมาจากชนชั้นสูงก็ตาม

เผด็จการในโรมันเริ่มมีลักษณะเบ็ดเสร็จเพิ่มขึ้นในหลายร้อยปีถัดมา คือเมื่อ 200 กว่าปีก่อนคริสตกาล (202 B.C.) Lucius Cornelius Sulla ได้รับการแต่งตั้งเป็นเผด็จการแบบไม่มีข้อจำกัดในด้านเวลา Sulla อยู่ในอำนาจสองปี และสังหารคนไปเป็นพันคน โดยจำนวนมากเป็นพวกคนที่ต่อต้านเขา และ Sulla ก็เริ่มมีความมั่งคั่งจากการไปยึดทรัพย์สินต่างๆ มาเป็นของตน หลังจาก Sulla ลงจากตำแหน่ง คนที่มาสืบทอดก็คือ Julius Caesar หรือซีซาร์ที่เรารู้จักกัน รายนี้เป็นเผด็จการตลอดชีวิตและนำไปสู่สงครามกลางเมือง ซีซาร์พบจุดจบโดยการถูกลอบสังหาร และหลังจากนั้นระบบเผด็จการก็ถูกล้มเลิกไป ด้วยข้อหาว่าเผด็จการเป็นพวกคอร์รัปชั่น

สำหรับ “เผด็จการยุคใหม่” นั้นพวกนี้เกิดขึ้นโดยเงื่อนไขของสภาวะฉุกเฉิน หรือข้ออ้างเรื่องสภาวะฉุกเฉินเช่นกัน โดยทั่วไปนักประวัติศาสตร์ถือว่านโปเลียน โบนาปาร์ตนั้นเป็นเผด็จการยุคใหม่คนแรก นโปเลียนนั้นเป็นทหารชั้นนายพลในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่เปลี่ยนระบอบจากกษัตริย์มาเป็นสาธารณรัฐประชาชน และท่ามกลางความวุ่นวายของการเปลี่ยนแปลงนั้น นโปเลียนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกงสุลภายใต้รัฐบาลในระยะเปลี่ยนผ่านนี้เอง

ความที่นโปเลียนเป็นผู้นำทหารที่แข็งแรงที่สุดในปฐพี (คือนำมาซึ่งชัยชนะให้ฝรั่งเศสมาโดยตลอด) เขาจึงได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน เขาเป็นเผด็จการที่สร้างผลงานดีๆ หลายเรื่อง เช่น จัดทำงบประมาณที่เหมาะสม ปฏิรูปรัฐบาล และสร้างระบบกฎหมายที่ดี ความนิยมของเขาทำให้เขามีอำนาจและความชอบธรรมในการยกเลิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งและเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ โดยตั้งตนเองเป็นกงสุลที่สามารถอยู่ในอำนาจตลอดชีวิต และต่อมาก็แต่งตั้งตัวเองเป็นจักรพรรดิ และนำทัพไปต่อสู้ทั่วยุโรป ในอีกด้านหนึ่งเขาก็ควบคุมทุกด้านของรัฐบาล และมีเครือข่ายสาบลับคอยสอดส่องผู้คน

อย่างไรก็ตาม นโปเลียนสิ้นอำนาจลงเมื่อเขาเริ่มแพ้สงคราม และเมื่อฝรั่งเศสถูกรุกรานจากหลายชาติยุโรปที่ล้อมฝรั่งเศสเอาไว้ บรรดาทหารระดับสูงเริ่มรวมตัวกันแข็งข้อและบีบให้นโปเลียนสละราชย์/สละอำนาจ จากนั้นนโปเลียนก็ถูกขับออกจากประเทศ

บทเรียนสำคัญในการทำความเข้าใจกับเผด็จการจากอดีตสู่ปัจจุบันนั้นมีหลายประเด็น

หนึ่ง เผด็จการนั้นจะปกครองแบบใช้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบ การปราศจากการตรวจสอบทำได้หลายอย่าง เช่น เขียนกฎเกณฑ์ไม่ให้เกิดการตรวจสอบ หรือแม้กระทั่งทำให้คนนั้นกลัวที่จะตรวจสอบ ซึ่งการที่คนไม่ตรวจสอบนั้นก็มีหลายแบบ คือกลัวเผด็จการ หรือ แม้กระทั่งกลัวว่าฝ่ายที่พวกกองหนุนนั้นไม่ชอบจะกลับมามีอำนาจอีก ก็เลยอ่อนให้ หรือยกเว้นไม่ตรวจสอบ

สอง เผด็จการนั้นจะคุมสื่อ และการคุมสื่อนั้นจะเป็นการคุมประชาชนไปด้วย ดังนั้นงานข่าวกรองนั้นเป็นเรื่องสำคัญ หรือถ้าข่าวกรองไม่มีฝีมือ ก็จะต้องใช้วิธีการมีสายลับ หรือใช้จิตวิทยามวลชนในการตอบโต้ ซึ่งการกระทำเหล่านี้เรื่องใหญ่คือการจำกัดเสรีภาพของประชาชนและสื่อนั่นแหละครับ

สาม เผด็จการส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการสร้างระบบความเชื่อและพิธีกรรมที่เน้นการเชิดชูบุคลิกภาพของตัวผู้นำ โดยมองว่าตัวผู้นำนั้นเป็นผู้ที่มีบารมีมากล้น และไม่มีความด่างพร้อยใดๆ การจะสร้างความเชื่อและพิธีกรรมเช่นนี้ได้ จำเป็นต้องใช้ระบบการโฆษณาชวนเชื่อ และระบบกฎหมายที่จัดการกับคนเห็นต่างและวิพากษ์วิจารณ์ในระดับที่รุนแรง งานศิลปะต่างๆ จะถูกครอบงำให้กลายเป็นการเขียนภาพของผู้นำเหล่านั้น เด็กนักเรียนจะถูกพร่ำสอนให้สำนึกในบุญคุณของจอมเผด็จการ ภาพถ่าย อนุสาวรีย์ ภาพวาด โปสเตอร์จะเต็มไปด้วยรูปของเผด็จการเหล่านี้ ดังที่จะพบในประเทศอย่างเกาหลีเหนือ

สี่สิ่งสำคัญก็คือ จากประวัติศาสตร์มาจนถึงวันนี้ เผด็จการไม่จำเป็นจะต้องมาจากการยึดอำนาจด้วยความรุนแรง หรือโค่นล้มระบบประชาธิปไตย แต่เผด็จการอาจจะตั้งต้นจากประชาธิปไตยเอง แต่ประชาธิปไตยที่ไม่เข้มแข็งและขาดการตรวจสอบที่ดีต่างหากที่ทำให้เผด็จการนั้นอยู่รอดและเติบโตจนกลืนกินประชาธิปไตย หรือหากินกับระบบประชาธิปไตย (อาทิ เผด็จการเสียงข้างมาก)

ห้า เผด็จการมักเคยเป็นทหารมาก่อน หรือจัดความสัมพันธ์ที่สามารถควบคุมหรือสร้างความภักดีกับกองทัพได้ สิ่งที่ควรจะเข้าใจก็คือ ระบอบคอมมิวนิสต์นั้นแม้ว่าตัวผู้นำอาจจะไม่ได้เป็นนายพล แต่โดยโครงสร้างการปกครองนั้น พรรคคอมมิวนิสต์ (หรือระบอบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ) นั้นจะต้องสามารถควบคุมกองทัพได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ในอีกด้านหนึ่งระบอบเผด็จการทหารนั้นก็มีอยู่มาก เรามักเรียกรัฐบาลที่มาจากคณะทหารว่าคณะรัฐประหาร ซึ่งภาษาอังกฤษก็คือ junta

หก เผด็จการนั้นอาจจะปล่อยให้มีการเลือกตั้งได้ เช่น การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น แต่การเลือกตั้งเช่นนั้นไม่ได้กลายเป็นเงื่อนไขที่จริงจังในการพัฒนาประชาธิปไตย ระบอบกษัตริย์บางแห่ง เช่น ซาอุดีอาระเบีย นั้นก็ใช้วิธีนี้ในการปฏิรูป แต่ก็ไม่ได้กลายเป็นประชาธิปไตย หรือกรณีพม่า ที่ในช่วงต้นก็ปล่อยให้มีการเลือกตั้ง แต่เมื่อซูจีชนะก็ไม่รับรองผล ต่อมาตามโรดแมปก็ปฏิรูปการเมือง แต่ก็คงไว้ซึ่งอำนาจของทหารมากมายในรัฐบาลใหม่นี้

เจ็ด จุดจบของเผด็จการมีหลายแบบ เช่น ถูกแทรกแซงจากกองกำลังต่างชาติ ตายเอง ถูกลุกฮือโดยประชาชน หรือถูกบีบให้ออกจากคณะผู้นำที่เป็นกองหนุน แต่เผด็จการมักจะอยู่นาน และแม้ว่าจะล้มลง ก็ไม่ได้มีหลักประกันว่าการล้มลงของเผด็จการจะถูกแทนที่ด้วยประชาธิปไตย หากเราไม่ได้จริงจังกับการจัดวางระบบการถ่วงดุลตรวจสอบให้ดี

ทีนี้มาว่ากันด้วยเรื่อง เผด็จการกับการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง เพราะส่วนใหญ่ที่เผด็จการถูกขับไล่นั้นก็เพราะเรื่องของคอร์รัปชั่นนั่นแหละครับ ไอ้ที่อ้างว่าจะลงตามสัญญา ส่วนหนึ่งในช่วงท้ายก็เต็มไปด้วยเรื่องการคอร์รัปชั่นที่อื้อฉาวมิใช่น้อย

ใช่ว่าประชาธิปไตยนั้นไม่มีการคอร์รัปชั่น แต่การคอร์รัปชั่นในประชาธิปไตยนั้นถูกเปิดโปงและสืบค้นได้อย่างเป็นระบบ ทั้งจากสื่อ และจากการตรวจสอบขององค์กรต่างๆ เว้นแต่หากประชาธิปไตยนั้นไม่มีคุณภาพ เราจะรู้สึกว่าการตรวจสอบนั้นไม่น่าเชื่อถือ

แต่ในกรณีของเผด็จการนั้น การคอร์รัปชั่นมีลักษณะที่เร้นลึก ส่วนหนึ่งเพราะตรวจสอบไม่ได้ และส่วนหนึ่งเพราะมันเป็นการคอร์รัปชั่นท่ามกลางความหวาดกลัว เพราะพื้นฐานของการ กระจายอำนาจไม่เท่ากัน ผู้มีอำนาจสามารถจัดการผู้คนที่หาญกล้ามาตรวจสอบได้มากกว่า

มีคำพูดที่น่าสนใจอยู่สองคำพูดในเรื่องของการคอร์รัปชั่นในเผด็จการที่น่าเล่าสู่กันฟัง

หนึ่ง มีนักเขียนท่านหนึ่งในเม็กซิโก กล่าวว่า

“การคอร์รัปชั่นเป็นทั้ง ‘กาว’ และ ‘น้ำมัน’ ของระบอบเผด็จการ” หมายถึงว่า การคอร์รัปชั่นนั้นเป็น ตัวเชื่อมโยงให้ส่วนต่างๆ ของระบอบเผด็จการนั้นอยู่ร่วมกันได้ และเป็นสิ่งที่หล่อลื่นให้ระบอบเผด็จการนั้นทำงานได้

หรือคำพูดของอดีตผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ว่า “การต้านโกงในสังคมจีนนั้นถ้าทำน้อยไป ประเทศก็ล่มจม แต่ถ้าทำมากไป ก็จะทำให้พรรคฯล่มจม”

การคอร์รัปชั่นกับเผด็จการนั้นซับซ้อนกว่าประชาธิปไตยตรงที่อาจเป็นไปได้ว่า เผด็จการบางกลุ่มนั้นอาจไม่ได้หวังผลประโยชน์อะไรตอนที่เข้ามายึดอำนาจ แต่อยู่ไปอยู่ไป เริ่มเห็นว่าการแบ่งสรรประโยชน์ในหมู่ตนเอง และเกื้อหนุนกองหนุนระดับสูงนั้นทำให้พวกเขาอยู่ได้ และสามัคคีกัน หรือผู้นำหลักไม่ทำ แต่อาจจะต้องหลับตาให้ทีมงานและพี่น้องของเขาทำไป ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีกองหนุนที่ช่วยเหลือเขาเอาไว้ในตำแหน่ง

โดยสถิติระดับโลกแล้ว ประเทศส่วนมากที่มีคะแนนคอร์รัปชั่นสูง มักเป็นประเทศที่เป็นเผด็จการ และรองลงมาคือ ประเทศที่มีประชาธิปไตยด้อยคุณภาพ นั่นก็คือ ระบอบการเมืองที่ให้อำนาจแก่ผู้นำมาก และการตรวจสอบน้อยนั่นแหละครับ

อาการลูบหน้าปะจมูกในระบอบเผด็จการเป็นเรื่องที่มีที่มาชัดเจน คือ ผู้นำบางทีก็ไม่กล้าจัดการคนอื่นที่โกง เพราะถ้าจัดการมากไป ระบบทั้งระบบมันล้มได้ เพราะมันโยงใยกันไปทั่ว ความต้องการการสนับสนุนจากกองหนุนนั้นมีมาก และถ้าไม่ปล่อยให้กองหนุนหาประโยชน์บ้าง ผู้นำก็จะไม่มีกองหนุน ดังนั้นว่ากันว่า เงื่อนไขสำคัญที่ผู้นำจะจัดการปราบคนโกงในยุคเผด็จการก็คือ การปราบโกงจะเกิดขึ้นด้วยเงื่อนไขของการเอาเรื่องความจงรักภักดีต่อผู้นำเป็นตัวตั้ง คือถ้ายังเป็นพวกเดียวกันก็จะลดราวาศอกลงบ้าง แต่ถ้าไม่เป็นพวกเดียวกันก็จะโดนหนัก

กล่าวง่ายๆ ก็คือ ผลประโยชน์ของผู้นำและระบอบเผด็จการเป็นตัวตั้งในการปราบโกง มากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน

หรือพูดอีกอย่างก็คือ ถ้าจะตรวจสอบระบบปราบโกงในยุคเผด็จการนั้น แม้ตัวผู้นำสูงสุดจะไม่โกง แต่ถ้าผู้นำสูงสุดนั้นไม่มีฐานของอำนาจมาจากประชาชนโดยตรง แต่มาจากความภักดีของคณะผู้นำคนอื่น เขาจะไม่ปราบโกงอย่างจริงจังเพราะเขาจะเสียฐานคะแนนสำคัญคือกองหนุนของเขาครับ

และที่สำคัญ เมื่อรัฐบาลเผด็จการได้ลิ้มรสอำนาจที่มาจากการโกงแล้ว โอกาสที่จะมอบอำนาจให้ประชาชนก็จะล่าช้าลง และการปราบปรามและประกาศว่าประชาชนเป็นศัตรูก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

 

หมายเหตุ – พัฒนาจาก S.Freeman. “How Dictators Work”. Howstuffworks.com., M.Pei. “Government by Corruption”. Forbes.com., “Why do all dictator regimes encourage corruption?. Quora.com., V.Mehta. “A dictator’s best friend: Corruption, War and the West”. Ceasefiremagazine.co.uk. Sep 12, 2012. และ W.Hallagan. “Corruption in Dictatorships”. Economic Governance. 11: 27-49, 2010.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image