เมืองเปื้อนฝุ่น

สัปดาห์ที่แล้วมีเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่คนกรุงเทพฯไม่ค่อยตระหนักถึงเท่าไหร่ นั่นคือมลพิษในอากาศ ซึ่งขึ้นสู่ระดับที่สูงกว่ามาตรฐานและมีผลต่อสุขภาพของผู้คนในเมือง

การไม่ตระหนักถึงภัยของมลพิษทางอากาศของคนกรุงเทพฯนั้นเป็นเรื่องที่พอจะอธิบายได้ ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นเรื่องใหม่ ไม่ค่อยจะเกิดขึ้น ทั้งที่จากข้อมูลของกรมมลพิษนั้น เราเคยมีมลพิษแบบนี้มาก่อนเมื่อสองปีที่แล้ว แต่จากข้อมูลนั้นมันเป็นเวลาเพียงวันเดียว ขณะที่ในปีนี้มลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเป็นเวลานาน และมีแนวโน้มที่จะกลับมาเกิดขึ้นซ้ำๆ จนกว่าจะถึงปลายเดือนมีนาคมตามข่าว (อย่าลืมว่าเมื่อตัวเลขมลพิษลดลงนั้น ลดลงกว่าเส้นมาตรฐานนิดเดียว ไม่ได้ลดลงมากมาย)

เมื่อพูดถึงการไม่ตระหนักถึงเรื่องของภัยและการป้องกันภัยต่อมลพิษทางอากาศนั้น ก็ใช่ว่าจะไม่มีเอาเสียเลย อย่างน้อยสื่อมวลชนก็ให้เวลาในการเสนอข่าวนี้อยู่ไม่ใช่น้อย แต่ก็มีคำถามอีกมากมายที่ยังค้างคาใจอยู่กับข้อมูลในการนำเสนอเหล่านั้น

ข้อสังเกตประการแรกต่อการไม่ค่อยตระหนักเรื่องของมลพิษทางอากาศของผู้คนในกรุงเทพฯ ก็เห็นจากการไม่ค่อยมีใครสนใจซื้อหน้ากากมาใส่กันสักเท่าไหร่ แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีหลังนี้การสวมหน้ากากอนามัยจะเริ่มเป็นที่แพร่หลายขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่คนจำนวนมากใส่จนติดเป็นนิสัย เรื่องนี้ไม่นับถึงว่าในปัญหามลพิษทางอากาศในระดับที่เกิดในกรุงเทพฯนั้น จะต้องใช้หน้ากากที่มีคุณภาพสูงกว่าปกติ ซึ่งหาซื้อไม่ได้ง่ายนัก

Advertisement

ข้อสังเกตประการที่สองก็คือ ความตระหนักถึงปัญหามลพิษนั้นแม้ว่าอาจจะไม่มากจนถึงกับนำไปสู่แรงกดดันให้รัฐบาลและรัฐบาลท้องถิ่นนำเสนอวิธีแก้ปัญหาในระดับเมืองและประเทศ คือมีแต่แจ้งข่าว และแนะนำให้ไปหาหน้ากากมาสวม หรืออย่าเดินไปในจุดอันตรายเท่านั้น แต่ก็ยังมีลักษณะที่ให้ความสำคัญกับเรื่องมลพิษเหล่านี้มากกว่ามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในส่วนอื่นๆ ของประเทศ

ตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจนก็คือ การเล่นข่าวเรื่องมลพิษทางอากาศของเชียงใหม่ มักจะเป็นเรื่องที่ถูกนำเสนอในแง่ของ “ปัญหาหมอกควัน” มากกว่า “ปัญหามลพิษ” แบบที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าความรุนแรงของปัญหาต่างกันแค่ไหน (อีกส่วนที่สำคัญคือ หน่วยวัด ซึ่งสะท้อนถึงสภาพปัญหาที่ต่างกัน คือ หน่วยวัดของภาคเหนือคือตัว PM10 ขณะที่ของกรุงเทพฯคือ PM2.5 ซึ่งประเด็นจริงๆ อยู่ที่ความละเอียดในการวัด การวัด PM10 ละเอียดกว่าและไม่ได้วัดกันทุกที่ แม้จะเริ่มมีการร้องเรียนให้นำเอาการวัด PM2.5 วัดในต่างจังหวัดด้วย เพราะขนาด PM10 ก็ถือว่าเกินแล้ว ถ้าวัดที่ PM2.5 ก็น่าจะน่าหวั่นใจขึ้นอีก)

Advertisement

ความสำคัญอยู่ที่ “ท่าที” ในการเอาใจใส่กับปัญหา ดังที่เห็นว่าในกรุงเทพฯใช้หน่วยวัดที่ละเอียดกว่า

รวมไปถึงการอธิบายเรื่องมลพิษของกรุงเทพฯและเมืองอื่นในแง่ของ “ที่มาของปัญหา” ที่ในกรณีของหมอกควันของภาคเหนือ (ซึ่งก็เข้าขั้นอันตรายแล้ว) เป็นการอธิบายสรุปง่ายๆ ว่าเกิดจากการเผาป่ารอบนอกเมือง (หรือเกิดจากปัจจัยภายนอก)

ขณะที่ปัญหามลพิษทางอากาศของกรุงเทพฯ ส่วนของการระบุที่มาของปัญหาไม่ค่อยชัดเจน มีแต่การพูดว่าเกิดจากควันรถและการก่อสร้าง หรือพอสรุปง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องภายในเมืองนั้นเอง

เมื่อปัญหาของเมืองเกิดจากคนในเมืองเอง และเป็นส่วนที่นำเอาความเจริญและความมั่งคั่งเข้าสู่เศรษฐกิจ เช่น การขับรถ (จะโทษรถคันแรกก็ยาก จะโทษรถคันเก่าก็ยาก เพราะทุกคันก็ร่วมกันสร้างปัญหาทั้งนั้น) หรือการก่อสร้าง การโยนความผิดไปให้กับคนกลุ่มเดียวก็ทำได้ยาก

ครั้นจะห้ามการก่อสร้าง หรือการจำกัดการขับรถเข้าเมืองก็ดูจะกระทบผู้คนจำนวนมาก เรื่องนี้ก็เลยเหมือนกับว่าจะไม่มีการทำอะไรกันมาก นอกจากแนะนำให้ใส่หน้ากากกันไป ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในระดับบุคคล มากกว่าระดับเมืองและระดับท้องถิ่น

ส่วนหนึ่งนอกจากคำอธิบายถึงเรื่องของความสนใจที่ไม่ค่อยมากและเป็นระบบของปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองนั้น แม้ว่าจะมาอคติของกรุงเทพฯที่ปัญหากรุงเทพฯสำคัญกว่าที่อื่น ก็คงจะเป็นไปตามที่นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมเมืองเคยอภิปรายกันไว้นานมาแล้ว นั่นก็คือเรื่องที่ว่าปัญหาหามลพิษในอากาศของเมืองในประเทศกำลังพัฒนาเป็นปัญหาที่มีความตื่นตัวน้อยกว่าปัญหาการพัฒนาในด้านอื่นๆ เช่น เรื่องของการตัดไม้ทำลายป่า หรือปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษในน้ำ แต่กระนั้นก็ดีปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศในเมือง โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาก็เริ่มมีขึ้นเรื่อยๆ (ดูที่ A.Krupnick. “Urban Air Pollution in Developing Countries: Problems and Policies. In The Environment and Emerging Development Issues Vol 2. Oxford University Press)

โดยภาพรวม เรื่องของที่มาของมลพิษทางอากาศในเมือง มักจะมีเรื่องของที่มาจากโรงงานและแหล่งพลังงาน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน และที่มาจากเครื่องยนต์ เช่น รถและจักรยานยนต์ และอีกอย่างที่สำคัญแต่ปัญหาในกรุงเทพฯอาจจะน้อยกว่า นั่นก็คือเรื่องของการใช้พลังงานในบ้าน อย่างในกรณีของการใช้ฟืนในการหุงหาอาหารและการระบายอากาศในบ้าน ในกรณีของการใช้ฟืนในการหุงหาอาหาร หรือให้ความร้อนในกรณีที่เมืองมีอากาศหนาว

แต่สิ่งที่ไม่มีในการพิจารณาปัญหามลพิษทางอากาศของเมืองในประเทศกำลังพัฒนาก็คือเรื่องของมลพิษจากการก่อสร้าง

โดยภาพรวมวิถีชีวิตของโลกสมัยใหม่ โดยเฉพาะโลกอุตสาหกรรมนั้นเป็นที่มาของมลพิษทางอากาศในเมือง

ในอดีตก็เคยมีความพยายามในระดับประเทศที่แก้ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศในระดับเมืองอย่างชัดเจน ถ้าเทียบกับสมัยนี้ที่เน้นไปทางการสวมหน้ากาก (และพบกันอีกทีหลังเดือนมีนาฯนะพี่น้อง) หรือรอฟ้ารอฝน เช่น เดี๋ยวฝนตกมันจะดีเอง ขณะที่สมัยก่อนมีการเปลี่ยนการใช้น้ำมันจากแบบที่มีส่วนผสมของตะกั่วมาสู่การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแบบไร้สารตะกั่ว

ปัจจุบันนอกจากใส่หน้ากากและรอฝน ดูเหมือนจะไม่มีความพยายามในระดับของการรวมตัวของผู้คน หรือจากนโยบายของเมืองและประเทศในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองอย่างจริงจัง หมายถึงว่าในระดับวิชาการนั้นอาจจะมีข้อเสนอมากมาย แต่สาธารณชนยังไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ หรืออาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ไม่รู้ว่าตนเองมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะคำอธิบายในหน้าสื่อมักจะให้ความสำคัญกับส่วนของ “ธรรมชาติ” ที่ทำให้เกิดสิ่งนี้ ดังเช่นคำอธิบายว่าเพราะสภาพอากาศบางอย่างจึงทำให้ฝุ่นพิษเหล่านี้ไม่สามารถถูกพัดพาออกไปจากเมืองได้ ต้องรอฝนชะล้างไป หรือความกดอากาศบางชนิด

โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่า ถ้าฝุ่นถูกพัดไป มันจะไปตกที่ไหน หรือถ้ามันลงน้ำ มันจะลงไปสร้างมลพิษในส่วนอื่นอย่างไร

เราจึงไม่ได้ตั้งคำถามกับประเด็นเรื่อง “ความเปราะบาง” ของชีวิตเมือง ทั้งปัญหาความเปราะบางโดยภาพรวมว่าเราจะทำอะไรได้บ้างในเมืองนี้ และใครล่ะที่เปราะบางกว่าคนกลุ่มอื่นเมื่อเกิดมลพิษทางอากาศในเมือง

เช่น คนบนถนน คนขี่มอเตอร์ไซค์ คนนั่งรถเมล์ร้อน คนขายของริมถนน ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งใช้ชีวิตเคลื่อนที่ภายในเมืองในพื้นที่ที่ติดแอร์ไปทุกจุด ตั้งแต่บ้านหรือคอนโด ขึ้นรถส่วนตัว ลงไปที่ทำงานที่ติดแอร์ ไปห้างและร้านอาหารที่ติดแอร์ หรือเครื่องปรับอากาศ

เมื่อคนจำนวนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ที่เชื่อมต่อด้วยระบบปรับอากาศมากกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ความรู้สึกต่อปัญหาอาจจะมีน้อยกว่าอีกกลุ่มหนึ่งที่เจอกับปัญหามากกว่า แต่มีเสียงน้อยกว่า

การแก้ปัญหาในระดับเมืองนอกจากการใช้ระบบการตรวจจับและวัดมลพิษทางอากาศที่กระจายไปในจุดต่างๆ แล้ว ระบบการบริหารจัดการเมืองก็เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการจัดระเบียบกิจกรรมที่เพิ่มมลพิษทางอากาศ การเฝ้าติดตามและเฝ้าระวังกับปริมาณมลพิษทางอากาศในเมือง และการให้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจในการลดปริมาณมลพิษ รวมไปถึงการตั้งคำถามใหม่ๆ กับระบบข้อมูลและจินตนาการในเมือง เช่น การสำรวจพื้นที่ในเมืองไม่ควรจะมีแต่การสำรวจอาคารและพื้นที่สีเขียวเท่านั้น ในสาขาการวางผังเมืองนั้นเริ่มมีความสนใจการทำแผนที่ในเมืองที่มุ่งไปที่การค้นหาพื้นที่ความร้อนในเมือง และแผนที่ของทิศทางลมในเมือง เพื่อดูว่าอาคารแบบไหนที่ขวางทางลมด้วย ไม่ใช่มีแต่การพูดถึงสิ่งปลูกสร้างที่ขวางทางน้ำเท่านั้น

ส่วนเมืองในประเทศพัฒนาแล้ว บางเมืองมีการให้ผู้ที่จะก่อสร้างอาคารใหม่จะต้องนำเสนอแผนในการบริหารจัดการฝุ่นควันในการก่อสร้าง ไม่เช่นนั้นจะไม่อนุมัติให้มีการก่อสร้าง ในแผนการบริหารจัดการฝุ่นควันนั้นนอกจากจะต้องมีรายละเอียดในการก่อสร้างในพื้นที่แล้ว จะต้องรวมถึงการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่โดยรอบด้วย การแผยแพร่ข้อมูลจะช่วยให้ผู้พักอาศัยในพื้นที่นั้นทราบว่าหากเกิดปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศจากการก่อสร้าง เขาจะติดต่อใครบ้างในการก่อสร้างที่รับผิดชอบ เช่น ผู้รับเหมาหรือวิศวกรที่รับผิดชอบ (เว็บไซต์เมือง Cockburn ประเทศออสเตรเลีย ส่วน Dust Management)

กรณีของนครเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ มีส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศที่อยู่บนท้องถนน โดยเฉพาะให้คำอธิบายว่ามลพิษทางอากาศในปัจจุบันมีขนาดที่เล็กกว่าตาเปล่า และจะมีมากในฤดูใบไม้ผลิ นอกจากนี้เมืองเฮลซิงกิยังชี้แจงให้ประชาชนของเขาเข้าใจว่านอกจากเมืองจะมีมาตรการในการเฝ้าระวังจากการวัดค่ามลพิษอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีการวางแผนฉุกเฉินเอาไว้ในกรณีที่มลพิษทางอากาศเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง (ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นแบบแผนที่มักเกิดขึ้นในมลพิษทางอากาศ นั่นก็คือนอกจากมันจะสะสมและเราคาดหวังว่ามันจะลอยหายไปด้วยลมหรือถูกชะล้างด้วยฝน สิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งก็คือ ความเปลี่ยนแปลงในสภาพอากาศในแบบอื่นๆ ก็มีผลที่ทำให้มลพิษทางอากาศมีความเข้มข้นถึงขั้นอันตรายได้ง่าย หากอากาศหนาวและแห้งอย่างฉับพลันทันที

สำหรับมหานครลอนดอนก็มีข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบถึงนโยบายและมาตรการต่างๆ ของเมืองที่มีต่อเรื่องของฝุ่นและควันจากเครื่องยนต์ (Control of Dust and Emissions) ซึ่งในภาพรวมเมืองลอนดอนให้ความสำคัญกับการติดตามและควบคุมทั้งมลพิษทางอากาศจากยานยนต์และจากการก่อสร้าง ซึ่งรวมไปถึงการทุบสิ่งปลูกสร้างเพื่อการก่อสร้างด้วย

ตัวอย่างสำคัญคือนโยบายของลอนดอนในการเพิ่มคุณภาพของอากาศในลอนดอน ซึ่งหมายรวมถึงการขออนุญาตในการพัฒนาที่ดิน จะต้องคำนึงว่าการพัฒนาที่ดินซึ่งรวมถึงการปลูกสร้าง จะไม่ทำให้คุณภาพของอากาศในบริเวณนั้นเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ การนำเสนอแบบของสิ่งปลูกสร้างที่ลดการปล่อยมลพิษทางอากาศจากการก่อสร้างและการทุบอาคาร รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ ในการก่อสร้างก็จะต้องมีส่วนในการลดมลพิษทางอากาศด้วย นอกจากนี้ยังมีการกำหนดพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศต่ำที่เรียกว่า Low Emission Zone การเปลี่ยนรถขนส่งสาธารณะที่เก่าและเสื่อมสภาพมาใช้เครื่องยนต์รุ่นใหม่ และการมีกองทุนพัฒนาเมืองที่สนับสนุนนวัตกรรมที่ลดมลพิษทางอากาศ (ดูที่ The Control of Dust and Emissions During Construction and Demolition: Supplementary Planning Guidance, July 2014 ซึ่งเป็น Implementation Framework ของ London Plan 2011 และเอกสารบทที่ 7 ของ London Plan 2011 ที่ว่าด้วยเรื่อง London’s Living Spaces and Places โดยเฉพาะนโยบายที่ 14 Improvong Air Quality)

ประเด็นที่น่าสนใจในกรณีของมหานครลอนดอนก็คือ เมื่อพูดถึงคุณภาพชีวิตในเมือง เขาไม่ได้มองแค่ว่าคุณภาพชีวิตเท่ากับโครงการสีเขียวเช่นสวนสาธารณะ แต่ยังหมายถึงการที่เมืองนั้นมีความเข้าใจถึงความไม่เสมอภาคกันในเรื่องของสุขภาวะของผู้คนในเมือง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการพัฒนาทั้งในภาพรวมและการพัฒนาที่ดินที่ทำให้เกิดตึกใหม่ แต่คุณภาพของสุขภาพของคนที่อยู่ใกล้เตียงนั้นแย่ลง

ความตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมทางสุขภาวะของผู้คนในเมืองทำให้นโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมและการลดมลพิษทางอากาศมีคนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่มีความทันสมัยของเทคโนโลยีเป็นศูนย์กลาง

มาคอยดูกันนะครับว่าสำนึกเรื่องมลพิษทางอากาศของเมืองกรุงเทพฯจะเริ่มเมื่อไหร่ เพราะแม้ว่าจะมีความพยายามในการระบุเอาไว้ในแผนพัฒนา กทม.ฉบับล่าสุดในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพอากาศและเสียง แต่เรื่องหลายเรื่องก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจของ กทม. เช่น เรื่องของการตรวจสอบคุณภาพอากาศ การเข้าใจว่าจำนวนรถเพิ่มขึ้น ระบบขนส่งมวลชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ เห็นจะมีแต่การรณรงค์การใช้พลังงานสะอาดและจักรยาน

ส่วนเรื่องการระบุถึงการขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและเสียงนั้น ประเด็นท้าทายอยู่ที่ว่า มลพิษทางอากาศนั้นอยู่ในระดับที่ตาเปล่ามองไม่เห็น ประชาชนจะเฝ้าระวังได้อย่างไร เว้นแต่ประชาชนจะมีอำนาจในสภาท้องถิ่นและชุมชนในการตั้งคำถามและเรียกร้องในการดูว่าการก่อสร้างในพื้นที่ของตนมีมาตรฐานไหม และการขยายถนนในพื้นที่ของตนได้รับการเห็นชอบจากชุมชนแถวนั้นมากไหม ซึ่งเรื่องเหล่านี้คือการให้อำนาจกับชุมชน ในเรื่องเหล่านี้ไม่ค่อยจะมีในจินตภาพของการบริหาร กทม.มากสักเท่าไหร่

การบริหาร กทม.ก็ยังอยู่ในยุคของการเน้นสวนสาธารณะและโครงการที่กำหนดจากส่วนกลางของ กทม. เป็นหลักเช่นเคย และในเมื่อคนจำนวนมากที่อยู่ในกรุงเทพฯและเปราะบางกับมลพิษทางอากาศ คือคนใช้แรงงานและทำงานบริการก็อาจจะไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมาในกรุงเทพฯ เขาก็อาจไม่มีสิทธิเสียงในการกำหนดชีวิตของเขาในเมืองแห่งนี้อีกต่างหาก

พูดมากไปก็เท่านั้นครับ เลยไปถึงหน้าฝนคนกรุงเทพฯก็ลืมเรื่องมลพิษทางอากาศแล้วหันไปสนใจเรื่องน้ำท่วมกันต่อไปเหมียนเดิมครับผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image