ปฏิวัฒนาการ โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

เมื่อสมัยผมยังเรียนมหาวิทยาลัย นักศึกษาทางด้านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะทำทางด้านประวัติศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, มานุษยวิทยา, สังคมวิทยา, หรือรัฐศาสตร์ ล้วนถูกสั่งให้อ่าน Agricultural Involution ของ Clifford Geertz ทั้งสิ้น

ผมไม่ทราบว่าปัจจุบัน เขายังบังคับให้อ่านหนังสือ “โบราณ” เล่มนี้หรือไม่

ถ้าเราแปล evolution ว่าวิวัฒนาการ ผมขอแปล involution ว่าปฏิวัฒนาการ

วิวัฒนาการหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ขยายออกไปข้างนอก เช่น ใช้วิธีการใหม่ในการผลิต, ในความสัมพันธ์ทางสังคม, ในการรบ ฯลฯ จึงเป็นผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงข้างในด้วย เช่น มีกลุ่มคนหน้าใหม่โผล่เข้ามา กลุ่มคนหน้าเก่าอาจเปลี่ยนตัวเอง หรือถูกทิ้งไว้ข้างหลังจนสูญสลายไป ผลิตภาพเพิ่มขึ้น ทำให้ฐานะเศรษฐกิจของคนข้างในสูงขึ้น จึงเลือกหาความบันเทิงอีกอย่างหนึ่ง ฯลฯ

Advertisement

แต่ปฏิวัฒนาการหมายความตรงกันข้าม คือความเปลี่ยนแปลงที่ย้อนกลับเข้าข้างใน เช่น ใช้วิธีการผลิตแบบเดิม แต่ทำให้เข้มข้นและละเอียดซับซ้อนขึ้น คนหน้าเก่าก็ยังอยู่เหมือนเดิม แต่พัฒนาระบบความสัมพันธ์เก่าให้ละเอียดซับซ้อนขึ้น จนยากที่คนกลุ่มอื่นจะแทรกเข้าไปได้ ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงเกิดขึ้น นอกจากความอลังการที่ไร้ความหมาย ความซับซ้อนที่เกินจำเป็น และ “ระบบ” เก่าที่ยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นจนยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้

Geertz ศึกษาประชาชนในเกาะชวา โดยเฉพาะประชาชนในภาคเกษตรกรรม ภายใต้เงื่อนไขของระบบเศรษฐกิจอาณานิคม ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวชวาซึ่งถูกกันเอาไว้ในเศรษฐกิจตามประเพณี หันไปพัฒนาแบบปฏิวัฒนาการ เช่น ในนาข้าว (wet rice) ก็ลงแรงงานในนามากขึ้น ไถให้ดินละเอียดร่วนซุยมากขึ้น เพื่อให้ต้นข้าวหยั่งรากลงได้เร็ว ถ่ายน้ำในนาบ่อยขึ้น ถากถางวัชพืชในนาอย่างหมดจด ตลอดจนทำนาปีละ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง เพื่อให้พอเลี้ยงปากท้องที่เพิ่มขึ้นได้ แต่โครงสร้างทั้งหมดยังเหมือนเดิมทุกอย่าง ไม่มีความเปลี่ยนแปลงระดับลึกมากไปกว่าความละเอียดลออและสลับซับซ้อนต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นในการผลิต

Advertisement

Geertz ไม่ได้เป็นผู้ต้นคิดแนวคิด “ปฏิวัฒนาการ” แต่เอามาจากนักวิชาการอื่นเพื่อใช้อธิบายมิติด้านเกษตรกรรมและระบบนิเวศของชวา ในขณะที่นักวิชาการที่สร้างแนวคิดนี้ใช้อธิบายเรื่องอื่น

ผมรู้สึก (คือไม่ได้ศึกษารวบรวมข้อมูลจริงจัง) มานานแล้วว่า ความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยหลายอย่างด้วยกัน มีลักษณะเป็นปฏิวัฒนาการ แต่หลังจากทุกอย่างชัดเจนขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557

ผมออกจะมั่นใจว่า อย่างน้อยก็นับตั้งแต่ “ทศวรรษที่สูญหาย” ของเราเป็นต้นมา ความเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยโน้มเอียงไปทางปฏิวัฒนาการอย่างที่ยากจะกู่กลับคืนมาได้ง่ายๆ

ผมขอเริ่มต้นด้วยการพูดถึงข้อสรุปของแนวคิด “ปฏิวัฒนาการ” ซึ่งอาจเป็นการตีความของผมเอง นั่นก็คือปฏิวัฒนาการมักเกิดในสังคมการเมืองที่ขาดพลังผลักดันอย่างรุนแรงให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบวิวัฒนาการ พลังดังกล่าวที่เกิดขึ้นในสังคมอื่น เป็นพลังหลายด้าน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ, ระบบการเมือง, ระบบสังคมและวัฒนธรรม หรือแม้แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนา สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นร่วมสมัยกัน และต่างเสริมพลังแก่กันและกันในการผลักดันให้เกิดวิวัฒนาการขึ้น

ในเมืองไทยก็มีพลังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบวิวัฒนาการมาเป็นร้อยปีแล้ว แต่เป็นพลังที่ไม่ได้เกิดขึ้นในหลากหลายด้านพร้อมๆ กัน บางพลังที่เกิดขึ้นกลับผลักดันให้หันกลับไปยึดมั่นกับความไม่เปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำ

ดังนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา พลังสองด้านระหว่างวิวัฒนาการและปฏิวัฒนาการจึงมีในเมืองไทยไปพร้อมกัน จะว่าแข่งขันกันก็ไม่เชิงทีเดียวนัก แต่ตั้งอยู่เคียงคู่กันมากกว่า โดยมีความพยายามของปัญญาชนไทยที่จะผสมผสานสองขั้วที่แตกต่างกันนี้ให้ลงรอยกัน “ทำได้ตามใจคือไทยแท้” ก็จริง แต่เราก็ควรเคารพระเบียบวินัยซึ่งตั้งอยู่บนความเหลื่อมล้ำของช่วงชั้นตามวัฒนธรรมไทยด้วย ผู้น้อยต้องไม่กระด้างกระเดื่องกับผู้ใหญ่ เป็นต้น

แต่นับวัน พลังปฏิวัฒนาการกลับอยู่เหนือกว่าพลังวิวัฒนาการมากขึ้นทุกที จะเป็นด้วยเหตุใดผมก็อธิบายไม่ได้ แต่ขอยกตัวอย่างให้ดูจากปฏิวัฒนาการด้านวัฒนธรรม

ยี่เกซึ่งเป็นการแสดงที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัย ร.5 เป็นวิวัฒนาการที่สำคัญ เพราะเกิดขึ้นเพื่อป้อน “ตลาด” ใหม่ ได้แก่สามัญชนที่ต้องการความบันเทิงที่เสพได้ง่ายขึ้น หลังจากนั้นยี่เกก็ปฏิวัฒนาการไปตามลำดับ นับตั้งแต่มีฉาก, เครื่อง, ดนตรี, ทำนองเพลง, และท้องเรื่อง ที่ทั้งอลังการและทันสมัยมากขึ้น ยี่เกจึงแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง กลายเป็นมหรสพที่เข้าถึงผู้คนทั่วไป ผ่านทั้งงานหาในงานแต่ง งานบวช งานวัด หรือฉลองหลวงพ่อและฉลองกำนัน ถึงกับมี “โรง” ยี่เกที่อาจซื้อตั๋วเข้าชมได้เลยโดยไม่ต้องมีใคร “หา” คือยืนอยู่กับตลาดอย่างชัดเจน

แต่ตราบจนถึงทุกวันนี้ เมื่อ “ตลาด” ของยี่เกหดเหลือเล็กนิดเดียว ไม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างวิวัฒนาการในยี่เก คือเปลี่ยนไปถึงเนื้อหาของการแสดง ถึงท้องเรื่องอาจเป็นนวนิยายสมัยใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ อย่างแต่ก่อน แต่วิธีเล่าท้องเรื่องก็ยังเหมือนเดิม คือเดินตามลำดับของเวลาอย่างนิยายโบราณเป็นหลัก ส่วนตัวการแสดงก็ยังคงรูปเหมือนเดิม (ทั้งๆ ที่ยี่เกเป็นการแสดงที่ค่อนข้างจะ free form หรือเสรีด้านรูปแบบมาแต่ต้น) เช่น จะแสดงความเหยียดหยันโดยวิธีอื่นที่ไม่ใช่ “ป้อง” หรือรำ หรือร้อง-พูดออกมาดังๆ ได้อย่างไร

อย่าลืมว่าคนปัจจุบันแสดงอารมณ์เหยียดหยันแฝงในลักษณะท่าทีซึ่งไม่เหมือนแต่ก่อนเสียแล้ว

ผมคิดว่าศิลปะตามประเพณีของเราหลายอย่างเป็นอย่างเดียวกับยี่เก คือเกิดความเปลี่ยนแปลงที่ย้อนกลับเข้าไปสร้างความซับซ้อนข้างใน แต่รักษา “เนื้อหา” ไว้เหมือนเดิมอย่างไม่เปลี่ยนแปลงเลย วงดนตรีไทยอาจเล่นดนตรีเหมือนวงปี่พาทย์สมัยก่อนทุกอย่าง เพียงแต่เปลี่ยนมันเป็นวง “มหาดุริยางค์” คือมีนักดนตรีเป็นร้อยร่วมแสดงพร้อมกัน แต่เสียงที่ออกมาก็เหมือนเดิมทุกอย่าง เพียงแต่ดังขึ้นเท่านั้น การประสานเสียงแบบ polyphonic แบบไทย ก็ยังประสานเสียงแบบเดิม เป็นต้น

แม้แต่การใช้กฎหมายแบบตะวันตกของไทย ซึ่งมีปัญหาแต่ระยะแรกเริ่มที่วินิจฉัยส่วนบุคคล (ที่มีอำนาจ) มีความสำคัญกว่าข้อความในกฎหมาย จนถึงปัจจุบันวินิจฉัยส่วนบุคคลลดความสำคัญลงหรือไม่? ในขณะที่กระบวนการยุติธรรมของเราปัจจุบัน มีบุคลากรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก มีมาตรฐานการศึกษารองรับอย่างชัดเจน มีสำนักงานกระจายไปทั่วเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เช่น สถานีตำรวจก็มีลงไปถึงระดับตำบล แต่ปัญหาการใช้กฎหมายก็ยังเหมือนเดิม กล่าวคือแยกวินิจฉัยส่วนบุคคลออกจากกฎหมายไม่ได้

นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่เป็น “ปฏิวัฒนาการ” ไม่ใช่หรือ

ปฏิวัฒนาการด้านการเมืองยิ่งชัด นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญซึ่ง คสช.ร่างขึ้น กลับเป็นรัฐธรรมนูญที่ขัดขวางวิวัฒนาการทางการเมือง โดยการทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลง และไม่มีอำนาจในการตัดสินใจด้านนโยบาย ในขณะเดียวกันก็มีการกำหนดด้านจริยธรรมของนักการเมืองอย่างละเอียด, สร้างความซับซ้อนของการใช้อำนาจรัฐจนเกินความจำเป็น ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือการย้อนกลับมาทำให้ระบบการเมืองของไทยไม่เปลี่ยนแบบขยายออก แต่เป็นการขยายเข้านั่นเอง

ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ซึ่งเปิดโอกาสให้คนได้เครื่องมือในการผลิตและการค้าขายใหม่ๆ นโยบายเศรษฐกิจกลับสร้างความแข็งแกร่งให้นายทุนหน้าเก่า ความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจมักเป็นเหตุสำคัญของวิวัฒนาการ แต่เรากลับพยายามป้องกันให้ความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจก่อให้เกิดได้แต่ปฏิวัฒนาการ

ครูไทยปัจจุบันมีอุปกรณ์การศึกษาที่มากกว่ากระดานดำมากมาย แต่เนื้อหาที่แท้จริงของการศึกษาไทยก็ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง ห้องคอมพิวเตอร์, ห้องทดลองวิทยาศาสตร์, ลานกีฬา, หอประชุม ฯลฯ สร้างไว้เพื่อทำให้เกิดปฏิวัฒนาการของการสร้างความรู้เท่านั้น

ไม่ว่าจะจับเรื่องอะไร เราก็เห็นแต่พลังของปฏิวัฒนาการเต็มไปหมดทั้งเมืองไทย

สักวันหนึ่งเมื่อบ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ (ไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านการเลือกตั้ง) จำเป็นที่เราต้องหันกลับมาวิเคราะห์เรื่องนี้ให้ดี แล้วลงแรงในการเสริมพลังฝ่ายวิวัฒนาการให้แข็งแกร่งขึ้น จนอยู่เหนือพลังของฝ่ายปฏิวัฒนาการอย่างมั่นคง เพื่อที่ว่าเราและลูกหลานของเราในภายหน้า จะไม่ต้องเผชิญกับทศวรรษที่สูญหายอีกเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image