คืนให้‘ท้องถิ่น’ โดย : เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่วันนั้น ถอดหมวกรองประธานกรรมการบริหารบริษัท ไทยซัมมิท กรุ๊ป แล้วขึ้นเวที “พรรคอนาคตใหม่” โดยมี ปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการ พร้อมทีมงานคนรุ่นใหม่ร่วมด้วย

ธนาธรบอกจุดยืนพรรคว่า “เพื่อสร้างการเมืองแบบใหม่ ฟื้นความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ออกแบบนโยบายที่ทำให้ประชาชนมีโอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม เข้าถึงทุนและทรัพยากร ทำลายระบบผูกขาด พัฒนาสวัสดิการ เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในเวทีการเมือง มีระบบยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้โดยประชาชน ผ่านการระดมสมองและระดมทุน โดยสมาชิกพรรคจะมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน”

เปิดตัวมาก็ถูก “ทดสอบ” กันบ้างถือเป็นเรื่องธรรมดา ยิ่งเจ้าตัวแสดงความมุ่งหวังว่าพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี ย่อมเจอบททดสอบหนักขึ้น เป็นการใช้ทฤษฎีของความเป็นไปได้ อะไรก็เกิดขึ้นกับประโยคที่พูดต่อมาว่า “ใครจะรู้ ผมอาจได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทยก็ได้”

การตัดสินใจปักหมุดลงเมืองตรังนำร่องในถิ่นของ ชวน หลีกภัย ทั้งเปิดสัมมนาแลกเปลี่ยนมุมมองขายไอเดีย ก่อนจะไปชุ่มฉ่ำสงกรานต์ที่ภาคอีสาน แล้วขึ้นไปเชียงใหม่ 3 วัน เป็นบ้านของตระกูล “ชินวัตร”

Advertisement

ไม่ว่าสนามไหน สิ่งที่ธนาธรและทีมงานมักจะฟังชาวบ้านพูดถึงการดำรงอยู่ ท้องถิ่นทำอะไรให้บ้าง สิ่งที่อยากเห็นมีอะไรบ้าง เป็นข้อมูลที่ธนาธรน่าจะนำมาแปลงเป็นนโยบายที่หวังจะช่วยสร้าง “จุดแข็ง” ให้กับพรรคอนาคตใหม่ คือ “เรื่องการกระจายอำนาจ”

ธนาธรอาศัยทีมนักวิชาการ พูดเรื่องการกระจายอำนาจท้องถิ่นทุกครั้งที่เอื้ออำนวย เชื่อมั่นว่าทุกคนอยากเห็นการกระจายอำนาจ แต่อำนาจของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับสิ่งนี้ ที่เข้าใจได้คือ ไม่มีทางที่ใครจะรู้ปัญหาได้ดีเท่ากับคนในพื้นที่นั้นๆ ดังนั้น การให้ประชาชนแต่ละพื้นที่มีส่วน “ออกแบบ” “ระดมความคิด” และ “ตัดสินใจ” เข้ามาจัดการกันเอง แล้วทอนอำนาจส่วนกลางที่ลำเลียงผ่านภูมิภาคให้ลดลงไป

ความต้องการและเหมือนจะ “มองขาด” ในเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ธนาธรมีแนวคิดให้ยุบส่วนภูมิภาค หรือยุบแขนขาของกระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญกับ “ท้องถิ่น” ที่ต่อสายตรงกับรัฐบาลผู้จัดทำนโยบายให้ปฏิบัติได้ทันที แม้จะเคยมีนักวิชาการเสนอมุมนี้มาบ้างแล้ว ย่อมหมายถึงการสนับสนุนประชาธิปไตยโดยตรง เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกวันนี้กว่า 7,800 แห่ง อบจ. เทศบาล อบต. และเมืองรูปแบบพิเศษ ทั้ง กทม.และเมืองพัทยา ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตำแหน่งผู้บริหารหรือนายก อปท.กับสมาชิกสภาท้องถิ่น ล้วนมาจากเลือกตรงของประชาชนทั้งสิ้น

Advertisement

นี่คือจุดแข็งของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ไม่สลับซับซ้อนหรือชวนปวดกบาลเหมือนที่ กรธ.ออกแบบการเลือกตั้งใหญ่ในทุกวันนี้ถูกวิจารณ์ว่าทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงโดยปริยาย

น่าสนใจระหว่างรอการปรับปรุงร่างแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น 6 ฉบับ ให้เกิดการเลือกตั้งก่อนระดับประเทศ เป็นเรื่องที่สอดคล้องกันอย่างยิ่งมีนัยชวนฝัน รับทราบกันดีแล้วว่า อปท.ทั้ง 7,800 แห่งนั้น สิ้นฤทธิ์สิ้นสภาพหมดวาระไปแล้วตามกฎหมายเก่า ที่มีลมหายใจอยู่ได้เพราะอำนาจของ คสช.ต่อท่อหายใจ รักษาการไปทั้งหมดก่อน การที่พรรคอนาคตใหม่กำลังเครื่องร้อนเก็บข้อมูลและเร่ขายแนวคิด ไม่มีเวลาไปเที่ยวดูดใครหรือนัวเนียกับการนับสมาชิกพรรค ทำให้เกิดข้อได้เปรียบที่ทาง อปท.หรือท้องถิ่นอาจจะเห็นด้วยมากขึ้นกับนโยบายที่ส่องแว่นขยายชัดเจนกันตั้งแต่เนิ่นๆ

อย่าไปมองว่าผู้สมัครของพรรคใหม่ป้ายแดงจะไม่มีใครจดจำใบหน้าได้ นั่นเป็นเรื่องล้าสมัยแล้ว แต่นโยบายที่ “โดน” หรือที่ใช่ยังคง “ทันสมัย” อยู่เสมอ ชาวบ้านในพื้นที่ต่างจังหวัดทุกวันนี้ไม่ใช่ตาสีตาสา มีความรู้ความเข้าใจและการให้โอกาสเขาเหล่านี้ ที่เป็นผู้เลือกตัวผู้สมัครท้องถิ่นด้วยเสียงข้างมากแล้ว การโอนภารกิจที่สำคัญทั้งการศึกษา การจัดเก็บภาษี หรือสถานที่ท่องเที่ยวอันเป็นทรัพยากรในพื้นที่นั้นเป็นต้นให้ไปดูแลด้วยโดยผ่าน อปท. ผลตอบแทนล้วนแต่ตกกับประชาชนทั้งสิ้น

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image