สองปรัชญาแห่งเทคโนโลยี :โดย : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

เทคโนโลยีมีไว้เพื่ออะไร?

หากแปลตรงตัวคำว่าเทคโนโลยีนั้นมาจากภาษากรีก techne ที่แปลว่า “ศิลปะ, ทักษะที่ทำด้วยมือ” ร่วมกับคำว่า logia, เจคอบ บิกาโลว นิยามคำว่า “เทคโนโลยี” ว่า “เป็นหลักการ, กระบวนการ และการเรียกชื่อศิลป์ โดยเฉพาะศิลป์แขนงที่ต้องใช้วิทยาศาสตร์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อสังคม” โดยประวัติศาสตร์แล้ว คำว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา โดยการใช้คำว่า “เทคโนโลยี” ในปัจจุบัน อาจเกี่ยวเนื่องกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สอง จนมาเป็นความหมายปัจจุบันที่พจนานุกรมเมอร์เรียม-เว็บสเตอร์ นิยามไว้ว่า เทคโนโลยีคือ “การใช้วิทยาศาสตร์ในอุตสาหกรรม งานวิศวกรรม และอื่นๆ-เพื่อประดิษฐ์สิ่งที่มีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา”

แต่การ “แก้ไขปัญหา” นั้นก็มีหลายทาง, ปัจจุบัน บริษัทต่างๆ ในซิลิคอนวัลเลย์ (และที่อื่น) ต่างยึดหลักการ หรือปรัชญาในการก้าวไปข้างหน้าของตนในมุมมองที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี (ว่ามันควรมี ‘บทบาท’ อย่างไรกับมนุษย์) แตกต่างกันไป การเข้าใจแนวทางที่แตกต่างกันนี้จะทำให้เรามองจุดยืนของแต่ละบริษัทได้ดีขึ้น และทำให้เราตัดสินใจทั้งกับเรื่องส่วนตัวและภาพใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีได้โดยมีข้อมูลครบถ้วนมากขึ้น

บทความเรื่อง “สองปรัชญาของเทคโนโลยี” [Tech’s Two Philosophies] ในเว็บไซต์ Stratechery ทำให้เราเห็นภาพที่บริษัทเทคโนโลยีมองบทบาทของมันต่อมนุษย์แตกต่างกันได้ชัดเจน โดยผู้เขียนแบ่ง “ค่ายความคิด” ออกเป็นสองค่ายใหญ่ๆ

Advertisement

ค่ายแรกคือค่ายของ Google+Facebook ส่วนค่ายที่สองคือค่ายของ Microsoft+Apple ทั้งสี่บริษัทต่างเป็นผู้เล่นหลักในสนามนี้-พวกเขามองว่าเทคโนโลยีจะมีผลต่อชีวิตเราอย่างไร

ในงานสัมมนานักพัฒนา Google I/O เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซันดาร์ พิชัย CEO ของ Google กล่าวว่า “วิสัยทัศน์ของเราคือการช่วยเหลือให้คุณทำงานเสร็จลุล่วง […] ความคิดหลักความคิดหนึ่งในจุดมุ่งหมายของเราคือการคืนเวลาให้กับผู้ใช้ ที่กูเกิล,
เราเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก, ยกตัวอย่างเช่น การเสิร์ช (บนกูเกิล) ก็คือการทำให้ผู้ใช้ค้นคำตอบที่ต้องการได้เร็วที่สุด” ซึ่งคล้ายกับคำพูดของมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ที่ว่า “ผมเชื่อว่าเราออกแบบเทคโนโลยีเพื่อทำให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น”

ผู้เขียนบทความนี้แยกค่าย Google+Facebook ออกมาด้วยแนวคิดหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ว่า “คอมพิวเตอร์จะช่วยให้คุณทำงานเสร็จ, และคืนเวลาให้กับคุณ, ด้วยการทำงานให้คุณ” ซึ่งเป็นแนวคิดที่สะท้อนออกมาในงานล่าสุด เช่นเทคโนโลยี Duplex จะคุยโทรศัพท์เพื่อจองร้านอาหารแทนคุณ (โดยที่คุณไม่ต้องทำอะไร) หรือ Google Photo ที่ไม่เพียงจะเรียงลำดับและแท็กรูปถ่ายของคุณเท่านั้น แต่ยังจะเสนอด้วยว่าคุณควรจะปรับรูปถ่ายนั้นอย่างไร

Advertisement

ในขณะที่ในค่ายที่สอง (Microsoft+Apple) คำพูดของ CEO อย่างสาทยา นาเดลลา มีน้ำเสียงที่แตกต่างออกไป เขาพูดถึง “ความรับผิดชอบของวงการเทคโนโลยี” โดยบอกว่า “ตอนนี้เรามีโอกาสมากมายเกือบไร้ที่สิ้นสุด แต่เราก็มีความรับผิดชอบด้วย เรามีความรับผิดชอบว่าเทคโนโลยีจะต้องมอบพลัง (empower) ให้กับทุกคน […] เทคโนโลยีจะช่วยสร้างงาน และเราในฐานะอุตสาหกรรมเทคฯก็ต้องช่วยสร้างความมั่นใจในเทคโนโลยีให้กับสังคมด้วย”

Stratechery บอกว่านี่คือหัวใจหลักของปรัชญาที่สองในการมองเทคโนโลยี, นั่นคือ ปรัชญาที่ว่า เราไม่ควรคาดหวังให้เทคโนโลยีมาทำงาน “ให้” เรา แต่เราควรคาดหวังให้เทคโนโลยี “ทำให้เราทำงาน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งปรัชญาเช่นนี้ทำให้เกิดความรับผิดชอบที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากพูดให้ชัดเจน ปรัชญาแรกบอกว่า เทคโนโลยีสามารถมาทำงาน “แทน” มนุษย์ ในขณะที่ปรัชญาที่สองบอกว่า เทคโนโลยีควรทำงานเพื่อ “ช่วยเหลือ” มนุษย์ (เช่น เพิ่มความสามารถของมนุษย์ แต่จะไม่มาทำงานแทน)

สิ่งที่ทำให้ผมเห็นภาพมากที่สุดอย่างหนึ่งคือการแยกแนวคิดสองอย่างนี้ออกมาตามไทม์ไลน์ เมื่อคิดเช่นนี้ Apple และ Microsoft จะเป็นผลผลิตจากยุคก่อนหน้า ที่บริษัทจะทำเครื่องมือ (ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์) ต่างๆ แล้วจึงค่อยตั้งตัวเป็นแพลตฟอร์ม ในขณะที่ Google และ Facebook นั้นเป็นผลผลิตจากยุคอินเตอร์เน็ต ที่เอื้อให้เกิด “เครื่องมือรวบรวม แยกแยะและจัดเรียง” (aggregator) มากกว่า โมเดลธุรกิจที่เกิดจากปรัชญาสองอย่างนี้แตกต่างกัน โมเดลแบบค่ายแรกจะไม่มีที่ยืนให้โฆษณามากนัก (เพราะพวกเขาเป็นคนทำเครื่องมือ) ในขณะที่โมเดลอย่างที่สองต้องพึ่งพาโฆษณาแทบจะล้วนๆ

Stratechery สรุปว่าทั้งสองปรัชญานี้ไม่มีสิ่งใดผิดหรือถูกไปกว่ากัน และเราก็ต้องการทั้งคู่ แต่การเข้าใจและแยกแยะมันออกมา ก็อาจทำให้เรามองภาพของวงการเทคโนโลยีได้มากกว่าเดิม และเราอาจเข้าใจวิธีการจัดการกับปัญหา (หรือกระแสลบ) ที่มีต่อปรัชญาของค่าย Google+Facebook ในช่วงหลังได้ดีขึ้นด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image