“หมอธีระวัฒน์” โพสต์แนะแนวทางอยู่กับโควิด-19 ร่วมกับ “การ์ดไม่ตก”

“หมอธีระวัฒน์” โพสต์แนะแนวทางอยู่กับโควิด-19 ร่วมกับ “การ์ดไม่ตก”

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความที่เขียนร่วมกับ ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงแนวทางการเสริมความมั่นใจในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ร่วมกับการการ์ดไม่ตก

ทั้งนี้ข้อความระบุว่า

“ทำอย่างไร จะเสริมความมั่นใจร่วมกับการ “ไม่การ์ดตก”
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน

ณ วันนี้ ผ่านระยะแรกจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนจนกระทั่งลงไปถึงพื้นที่ระดับหมู่บ้าน
อุปสรรคที่สำคัญในปัจจุบันที่ไม่สามารถขยับ ขับเคลื่อนการทำงาน การทำกิจกรรม การเดินทาง และสถานที่พักต่างๆ โดยไม่มีความรู้สึกอกสั่นขวัญแขวน ว่าจะเกิดการระบาดอย่างรุนแรงอีกหรือไม่ คือ การที่ไม่สามารถ “ประเมินความเสี่ยง” ในระดับบุคคลและในระดับพื้นที่หรือจังหวัด ได้ด้วยความมั่นใจ ทั้งนี้ เนื่องจากการแพร่เชื้อในปัจจุบันขณะนี้ ที่สามารถเกิดขึ้นได้นั้น เกิดจากคนติดเชื้อที่แพร่โดยไม่มีอาการเป็นส่วนมาก

Advertisement

สิ่งที่สามารถกระทำได้
1.เปิดการตรวจ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเชื้อโดยตรงโดยการแยงจมูก หรือการตรวจเลือดด้วยการเจาะปลายนิ้ว ทั่วทุกพื้นที่ เท่าที่จะเป็นไปได้

ทั้งนี้คนที่สงสัยตัวเอง หรือไม่แน่ใจว่าติดเชื้อหรือไม่เนื่องจากไปมีกิจกรรมในที่ชุมชนค่อนข้างหนาแน่น สามารถเดินเข้าไปตรวจเอง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และมีแอพพลิเคชั่นติดตามรายงานผลอยู่แล้ว

2.ตู้ในการตรวจเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว คล้ายตู้โทรศัพท์ เคลื่อนที่ได้ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในตู้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ชุดอวกาศ

Advertisement

3.ผลจากการตรวจนั้นมีสองระยะด้วยกัน

ก.รู้ผลในเวลาเป็นนาที โดยการเจาะปลายนิ้วด้วย Chula Strip test ซึ่งมีความไวมากและแม้ว่าจะได้ผลบวก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 จริงหรือเป็นผลบวกซึ่งเกิดจากการที่คนนั้นมีภาวะร่างกายไม่สมบูรณ์ มีโรคประจำตัวอักเสบเรื้อรังซ่อนอยู่ ซึ่งให้ผลบวกได้ ก็ทำการตรวจยืนยันได้โดยนำเลือดส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ สภากาชาดไทย อีกเป็นการยืนยัน โดยใช้เวลาครึ่งวัน

ข.รู้ผลในเวลาไม่เกินหนึ่งวัน โดยการตรวจด้วยการแยงจมูกหาเชื้อโดยตรง

4.”การตรวจหาเชื้อ” จะได้ผลบวกเมื่อมีเชื้อในจำนวนที่ตรวจจับได้
และจะตรวจเจอหลังจากที่ติดเชื้อไปแล้วระยะหนึ่ง อย่างน้อยก็สี่วันขึ้นไปและความไวในการตรวจจะลดลงตามลำดับหลังจากวันแรกที่ตรวจเจอ ในกรณีที่ไม่มีอาการใดๆ

“การตรวจเลือด” จะเริ่มได้ผลบวกหลังจากที่ติดเชื้อไปแล้วตั้งแต่ประมาณสี่ถึงหกวันไปและแล้วจะได้ผลบวกต่อเนื่องไปตลอด เป็นหลายเดือน แต่สามารถแยกได้ว่า ติดเชื้อมาหมาดๆ ภายในเจ็ดวันหรือติดเชื้อมาระยะหนึ่งแล้วคือตั้งแต่ 12 ถึง 14 วันที่แล้ว

5.การที่ไม่มีเชื้อแต่มีผลเลือดเป็นบวกจากแสดงว่ามี “พาสปอร์ต” และสามารถสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยกับตนเองและกับสังคมได้ เช่นเดียวกับคนที่ไม่มีเชื้อและผลเลือดเป็นลบก็สร้างความมั่นใจให้กับตนเองได้ว่าไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ต้องไม่อาศัยความกลัวหรือความเชื่อส่วนตัวในการตัดสินเรื่องสำคัญของประเทศ การอยู่รอดของประชาชนและเศรษฐกิจโดยที่ต้องไม่ทำให้เกิดโรคระบาด

ประเทศจะเจริญได้ด้วยพื้นฐานของความจริงทางวิชาการและวิทยาศาสตร์ และข้อมูลที่เป็นจริงเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image