“ศิริราช” ห่วงไทยยังไม่ปลอด “โควิด-19” เสี่ยงระบาดรอบ 2 ย้ำ! การ์ดต้องสูงจนกว่าจะมีวัคซีน

“ศิริราช” ห่วงไทยยังไม่ปลอด “โควิด-19” เสี่ยงระบาดรอบ 2 ชี้ ปชช.ไร้ภูมิคุ้มกัน การ์ดต้องสูงจนกว่าจะมีวัคซีน

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทั่วโลก และการปรับกระบวนทัศน์แบบองค์รวมที่ประเทศไทยต้องทำให้เกิดสมดุลของสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ผ่านเฟซบุ๊ก ว่า องค์การอนามัยโลก ประกาศเตือนการเข้าสู่ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 2 เนื่องจากแต่ละวันตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อัตราการติดเชื้อในผู้ป่วยใหม่และอัตราเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในประเทศที่เคยควบคุมได้ดี เช่น กรุงปักกิ่ง กรุงโซล โดยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า 81 ประเทศ มีอุบัติใหม่ต่อวันเพิ่มสูงขึ้น มีเพียง 36 ประเทศที่ลดลง

“ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลกมีอัตราเพิ่มขึ้น เช่น วันที่ 12 มิถุนายน ป่วยเพิ่มขึ้น 1.37 แสนราย วันที่ 20 มิถุนายน ขึ้นไปที่ 1.8 แสนราย ใน 1 วัน เมื่อดูย้อนหลังอุบัติการณ์ก็มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อัตราการเสียชีวิต 4-6 พันรายต่อวัน ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาตัวเลขรายใหม่ต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 2 หมื่นกว่าราย เป็น 3 หมื่นกว่าราย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า ขณะนี้กลุ่มประเทศที่มีการเปิดประเทศ ผ่อนคลายเร็วเกินไป เกิดการก้าวกระโดดของผู้ป่วยใหม่และอัตราเสียชีวิต เช่น สหรัฐ บราซิล ฯลฯ ส่วนบางประเทศเกิดระบาดใหญ่มีแนวโน้มลดลงและกลับขึ้นมาอีก คือ กลุ่มประเทศยุโรป และเอเชียบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เป็นต้น

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวถึงรูปแบบการระบาดระลอกใหม่ ว่า มี 3 รูปแบบ 1.เป็นคลื่นลูกเล็กๆ ต่อเนื่องกันไป คือ ระบาดรอบแรกสูง พอเริ่มลดลง เข้าสู่การผ่อนคลาย แต่เกิดการติดเชื้อใหม่ เมื่อรัฐบาลจัดการทันทีได้ โดยเฉพาะการค้นหาผู้เสี่ยงติดเชื้อและแพร่เชื้อ ก็จะควบคุมเฉพาะจุดหรือธุรกิจที่มีปัญหา ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ยังดำเนินการได้ เศรษฐกิจประเทศจะไปต่อได้ ประชาชนออกจากบ้านไปร่วมกิจกรรมได้ แต่ต้องลดความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อด้วย แต่จะเกิดภาพนี้ได้ ผู้ประกอบการและประชาชนต้องให้ความร่วมมือด้วย ที่สำคัญผู้ป่วยจะไม่เกินศักยภาพการดูแล อัตราการเสียชีวิตจะต่ำ ค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพไม่สูง ไม่เกิดค่าใช้จ่ายของประเทศที่ไม่จำเป็น หากประเทศไทยจะมีการระบาดรอบใหม่ขึ้นจริง ก็ขอให้เป็นภาพนี้

Advertisement

“ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การผ่อนคลายระยะที่ 5 จะผ่อนคลายกว่าเดิมมากในหลายด้าน หมายความว่า คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยอยู่บ้าน การออกมานอกบ้านก็มีส่วนให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้นจากการใช้ชีวิต จับจ่ายใช้สอย แต่ก็มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้ ก็ต้องร่วมมือกันทำแบบเดิม เว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก และใช้แอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” เช็กอิน เช็กเอาต์ จะจำกัดวงระบาดได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า 2.เป็นยอดเขาและหุบเขา หากไม่ช่วยกันเต็มที่ อาจจะเกิดรูปแบบนี้ คือ รอบแรกเกิดขึ้นมาสูง หลังผ่อนคลายก็เกิดติดเชื้อขึ้นมาใหม่ใกล้เคียงกับครั้งแรก แปลว่ามาตรการควบคุมจะกลับมาเข้มงวด เศรษฐกิจ ธุรกิจต่างๆ ก็ไม่สามารถทำได้ การฟื้นตัวเศรษฐกิจจะช้า การเจ็บป่วยกลับมา ค่าใช้จ่ายในการรักษาจะสูงขึ้น โอกาสเสี่ยงเสียชีวิตจะมากขึ้นตามจำนวนการป่วย หรือ 3.ที่เราไม่อยากให้เกิด คือ รอบแรกเจ็บป่วยเสียชีวิตสูง แต่ครั้งที่ 2 เจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงขึ้นกว่ามาก แต่เชื่อว่าจะไม่เกิดแบบนี้

“หากรัฐบาล ผู้ประกอบการ และผู้รับบริการ มีความสมดุล โดยรัฐบาลต้องกำหนดนโยบาย ออกมาตรการควบคุมให้ปลอดภัยจากโรค ผู้ประกอบการนำมาตรการไปทำ ซึ่งจากการติดตามช่วงผ่อนคลาย 4 ระยะ ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดีมาก แต่ระยะหลังเริ่มคลายลง ส่วนผู้รับบริการ คนไทยทำได้ดีมากใน 3-4 เดือน แต่เดือนที่ผ่านมา เริ่มวางใจ ไม่สวมหน้ากาก ไม่จัดระยะห่าง ซึ่งอาจเกิดระบาดรอบใหม่ได้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า การที่ไทยพบเพียงแต่ผู้ป่วยที่กลับมาจากต่างประเทศ ไม่ได้สื่อว่าประเทศไทยจะปลอดภัยจากเชื้อ เพราะมีตัวอย่าง เช่น เกาหลีใต้ พบในธุรกิจขายส่ง เยอรมนี เกิดในโรงงานชำแหละเนื้อสัตว์ มีผู้ป่วยใหม่ 1,500 ราย จีนไม่มีติดเชื้อในประเทศ 57 วัน แต่ตลาดทางตอนใต้ของกรุงปักกิ่งติดเชื้อและแพร่กระจาย ส่วนไทย 28-29 วันเท่านั้นที่ปลอดเชื้อ แม้ว่าไม่ได้ตรวจวัดภูมิคุ้มกันของคนไทยทุกคน แต่เชื่อว่าคนไทยมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 น้อยมาก

Advertisement

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ศิริราชมีการศึกษาภูมิคุ้มกันของนักศึกษาแพทย์ พบว่าไม่มีเลย ส่วน รพ.รามาธิบดี ศึกษาภูมิคุ้มกันของบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 พบว่า มีภูมิคุ้มกันเพียงร้อยละ 3 ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อ 3 พันกว่าคน จึงเชื่อว่าโดยภาพรวมมีภูมิคุ้มกันโรคนี้น้อยมาก หากมีเชื้อหลุดจากข้างนอกเข้ามา แล้วไม่รู้ว่าคนเหล่านี้ไปที่ไหน ติดต่อกับใคร จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดอีก ดังนั้นจำเป็นต้องร่วมมือกันป้องกันจนกว่าจะมีวัคซีน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image