โควิดยังร้าย ชี้หลังเปิดเทอม พุ่งอีกเพียบ เผยเป็นเชื้อรุ่นลูกโอมิครอน

โควิดยังร้าย ชี้หลังเปิดเทอม พุ่งอีกเพียบ เผยเป็นเชื้อรุ่นลูกโอมิครอน

วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา อัพเดตรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของพื้นที่ 4 จังหวัดในความดูแลของเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งได้แก่ จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 27 เมษายน 2567 พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในเขตสุขภาพที่ 9 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวม 1,438 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.นครราชสีมา ในห้วงเวลาดังกล่าว มีผู้ป่วย 711 ราย รองลงมา คือ จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 335 ราย และเสียชีวิต 1 ราย, จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 205 ราย และ จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 187 ราย

ทางกรมควบคุมโรค จึงมีความห่วงใยสุขภาพของประชาชน เพราะช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ทุกคนต้องป้องกันและระมัดระวังตนเอง ยิ่งใกล้จะเปิดเทอม นักเรียน-นักศึกษาต้องกลับไปเรียน มีการรวมตัวกันจำนวนมาก และมีการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน รวมถึงมีการสัมผัสหรือใช้สิ่งของร่วมกัน มีความใกล้ชิดกัน จึงเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และเชื้อโรคแพร่กระจายติดต่อกันได้ง่าย

Advertisement

ซึ่งคาดว่า ช่วงเปิดเทอมที่จะถึงนี้ เชื้อโควิด-19 อาจจะแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้น ทุกคนจึงต้องระวังป้องกันตนเองด้วยการล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดที่มีคนรวมตัวจำนวนมาก หากเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อน

และอีกสาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายไข้หวัด จึงไม่ค่อยระวังป้องกันตนเอง และจากการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ยังคงเป็นสายพันธุ์รุ่นลูกของโอมิครอน

Advertisement

ลักษณะอาการป่วยจะคล้ายหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูก โดยปีที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอนเดิม ซึ่งสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-29 เมษายน 2567 พบผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล รวม 11,265 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 81 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ในกลุ่ม 608

ดังนั้น ต้องรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล และสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัดที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น ในการเดินทางสาธารณะ โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ ล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการคล้ายหวัด ควรตรวจ ATK ที่บ้าน และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน

หากตรวจ ATK แล้วผลตรวจเป็นบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและพบแพทย์โดยเร็ว สำหรับกลุ่ม 608 เมื่อมีอาการหายใจลำบากหรือมีอาการคล้ายหวัด และผลตรวจ ATK เป็นบวก 2 ขีด ควรสวมหน้ากากและรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการรุนแรง หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image