สกู๊ปหน้า 1 : ส่องกฎสกัดโควิด สั่งปรับคนไร้’แมสก์’

ส่องกฎสกัดโควิด สั่งปรับคนไร้’แมสก์’

กลายเป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ สำหรับการใส่หน้ากากอนามัย หรือแมสก์ เนื่องจากตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อในแต่ละวันที่ยังคงสูง อยู่ในระดับหลัก 2 พันต่อวัน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) มอบอำนาจให้แต่ละจังหวัดออกมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามความเหมาะสม อาทิ ปิดสถานบันเทิง สถานที่เสี่ยง งดกิจกรรมที่ทำให้มีการรวมกลุ่ม ฯลฯ

ล่าสุด เรื่องการใส่หน้ากากนอกเคหสถาน หรือสถานที่สาธารณะ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติผิดตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ซึ่งมี 52 จังหวัดที่บังคับเข้ม
แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ ถึงผู้ที่มีอำนาจในการจับกุมดังกล่าว ว่ามีกฎเกณฑ์แค่ไหนที่เป็นมาตรฐาน รวมทั้งหยิบยกกรณีผู้ที่ขับรถยนต์คนเดียว ต้องใส่แมสก์หรือไม่ ออกมายืนรดน้ำหน้าบ้านผิดไหม หรือคนที่ออกมาวิ่งออกกำลังกาย เป็นต้น

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. เปิดเผยว่า กรณีที่อยู่ในรถ เมื่อมีบุคคลอื่นร่วมอยู่ในรถด้วยจึงต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ไม่ยกเว้นแม้เป็นครอบครัวเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และกรณีนั่งคนเดียวจึงอนุโลมได้ว่าไม่ต้องสวมหน้ากาก

กรณีทั้งผู้ประกาศข่าว/จัดรายการในสตูดิโอ เนื่องจากสตูดิโอถือว่าเป็นสถานที่นอกเคหสถานและสถานที่พำนัก ตามประกาศดังกล่าว อีกทั้งเป็นสถานที่มีผู้ปฏิบัติงานรวมกันมากกว่า 1 คน มีลักษณะเป็นห้องปิด จะมีผู้เข้ามาใช้งานต่อเนื่อง การทำงานของผู้ประกาศขณะอ่านข่าวหรือจัดรายการจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องสวมหน้ากากตามที่กำหนดในประกาศ อีกทั้งผู้ประกาศข่าวเป็นบุคคลสาธารณะที่จะมีภาพปรากฏต่อสาธารณชนทั่วไป

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การจับ-ปรับวันแรกของ กทม. ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน

“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธาน ศบค. โดนเข้าไป 6 พันบาท

โดยเหตุเกิดในการประชุมทีมที่ปรึกษาการจัดหาวัคซีน โดยมีภาพนายกฯไม่ใส่แมสก์ปรากฏบนโลกออนไลน์ จนโซเชียลรุมถล่ม ต่อมา ผู้ว่าฯกทม.และตำรวจจึงเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อปรับนายกฯในกรณีดังกล่าว 6 พันบาท

Advertisement

แต่ก็ไม่วายโดนวิจารณ์ว่าสร้างภาพหรือไม่?

ขณะที่ชาวโซเชียล โพสต์คลิป นนทบุรีโมเดล ชื่นชมปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจตราเข้มงวดต่อการไม่ใส่หน้ากากอนามัย พบผู้ไม่ทำตามมาตรการ โดยได้ตักเตือนและลงโทษเบาๆ ด้วยการให้วิดพื้น

สำหรับมุมมองผู้รักษากฎหมายอย่าง “บิ๊กแรก” พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า แนวทางมีกรอบการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานในการเปรียบเทียบปรับ ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนก็เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ โดยปรับความผิดครั้งแรกในอัตรา 6,000 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 12,000 บาท ความผิดครั้งที่ 3 ปรับ 20,000 บาท

แต่ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนสามารถใช้ดุลพินิจตามข้อ 8 คือมีเหตุผลพิเศษอันควรที่จะลดค่าปรับได้คำนึงถึงความหนักเบาของข้อหาและพฤติการณ์ รวมถึงความเสียหายที่เกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่น อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษา สุขภาพ อาชีพ ฯลฯ สามารถเปรียบเทียบปรับลดลงได้แต่ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือไม่น้อยกว่า 2,000 บาท แต่หากผู้ต้องหาไม่ยินยอมก็จะต้องส่งฟ้องศาล ซึ่งศาลจะใช้ดุลพินิจในการเปรียบเทียบปรับ

กรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ ทำผิดครั้งแรก ต้องจ่าย 6,000 บาท ทางเจ้าพนักงานผู้เปรียบเทียบปรับไม่ได้ใช้เหตุในการลดหย่อน จึงเสียเต็มในอัตราสูงสุดของการฝ่าฝืนครั้งแรก ได้กำชับตำรวจในจังหวัดที่ออกคำสั่งให้สวมหน้ากาก ให้บังคับใช้กฎหมายเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งยอมรับว่าความเข้าใจคลาดเคลื่อนมีอยู่บ้าง แต่ไม่ทำให้ผลการปฏิบัติเสียหาย ตอนนี้ได้ทบทวนซักซ้อมทำความเข้าใจอัตราค่าปรับกันแล้ว

ขณะที่ พล.ต.ต.พิเชษฐ จีระนันตสิน ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจจับปรับดังกล่าว โดยดูที่เจตนาเป็นหลักว่าจงใจฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ต้องดูเป็นกรณีหรือรายไป แต่พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจปรับตามคำสั่งดังกล่าวต้องส่งฟ้องศาล เพื่อสั่งปรับตามกฎหมายเท่านั้น แนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ คือ ไม่เอากฎหมายจับผิดประชาชน เน้นประชาสัมพันธ์ พร้อมสร้างการรับรู้

กรณีประชาชนที่ถอดแมสก์ในที่สาธารณะ อาทิ หลังออกกำลังกาย หรือพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อสูดอากาศหายใจชั่วคราวนั้น ถ้าอยู่คนเดียวไม่มีใครอยู่ใกล้ สามารถทำได้ เพราะเว้นระยะห่างแล้ว ดังนั้น ต้องดูว่าจงใจหรือมีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ไม่ใช่แค่จับปรับอย่างเดียวเพราะประชาชนได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากโควิดมากพอแล้ว พล.ต.ต.พิเชษฐกล่าว

ส่วน พล.ต.ต.นราเดช ทิพย์รักษ์ ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงกรณีการปฏิบัติของพนักงานสอบสวน ในการเปรียบเทียบปรับ การจับไม่สวมแมสก์ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ เป็นเรื่องใหม่ของการบังคับใช้ พ.ร.บ.นี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการไม่สวมใส่แมสก์ หลังมีความเข้าใจผิดของพนักงานสอบสวน ในการเปรียบเทียบปรับทำให้เกิดความผิดพลาดการทำงาน ทาง พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร ผู้บัญชาการภาค 1 ได้ว่ากล่าวตักเตือนพนักงานสอบสวนไปแล้ว ได้กำชับหัวหน้าสถานีทั้ง 26 สถานี ให้กำกับการดูแลการเปรียบเทียบปรับคดีนี้ และต้องรายงานทันทีหากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อมีการจับกุมตัวผู้กระทำความผิด มาส่งพนักงานสอบสวน สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานอย่างรอบคอบ

พร้อมทั้งให้ตำรวจมีการใช้ดุลพินิจ ไม่ใช่จ้องที่จะเข้าไปจับปรับผู้ที่ฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัยอย่างเดียว แต่ดูที่เจตนา หรือกรณีมีการกระทำความผิด หรือได้รับการร้องเรียน ว่ามีการฝ่าฝืนไม่สวมหน้ากากอนามัยบ่อยครั้งในพื้นที่สาธารณะ ตำรวจจึงจะเข้าไปบังคับใช้กฎหมาย

ด้าน พล.ต.ต.ไพศาล วงศ์วัชรมงคล ผบก.ภ.จว.นนทบุรี กล่าวว่า ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ดุลพินิจดูเจตนาเป็นหลักเพราะค่าปรับแพงขั้นต่ำครั้งแรก 6,000 บาท ครั้งที่ 2 12,000 บาท ครั้งที่ 3 20,000 บาท บางคนอาจจะไม่มีเจตนา แต่โทษที่ได้รับกฎหมายให้ปรับหนักเลยเพราะมันเป็นผลเสีย เอาว่าใช้วิจารณญาณในการใช้ดุลพินิจ แต่ไม่ถึงกับขั้นที่เจ้าหน้าที่ต้องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ผมเลยบอกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ดุลพินิจให้มาก เพราะมันจะกลายเป็นไปซ้ำเติมความเดือดร้อนให้คนอื่น กำชับตำรวจที่ปฏิบัติให้ดูเจตนา เช่น เขามีแมสก์พกติดตัวอยู่แต่เผลอลืมใส่แป๊บเดียว บางทีคนเราก็เผลอไม่มีเจตนา ไม่ใช่ลืมใส่แป๊บเดียวไปจับไม่ใช่อย่างนั้น แต่ถ้าเตือนแล้วให้ใส่หน้ากาก เขาก็ใส่แบบนี้ไม่ว่ากัน ถ้าเตือนแล้วไม่ใส่ก็ต้องจับกุมดำเนินคดี ถือว่ามีเจตนาที่จะไม่ใส่หน้ากากอนามัย ดุลพินิจมันจะมาพร้อมกับเจตนาต้องดูว่าเขาเจตนากระทำความผิดในเรื่องนี้ไหม ดูเจตนาเป็นรายๆ ไป

ทั้งหมดเป็นความเห็นระดับนโยบาย ส่วนการปฏิบัติจะออกมารูปแบบไหน ชาวบ้านเดือดร้อนหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image