อาเซียนโตฉลุยไม่สะเทือนสงครามการค้าโลก ลุยเดินหน้าด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล

นายดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียน เปิดเผยในงานสัมมนาประจำปี AEC Business Forum 2018 หัวข้อ “Rising City, Rising Business” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ จัดโดยธนาคารกรุงเทพ ว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) อาเซียนในปี 2560 ที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 2.77 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตประมาณ 5.3% ซึ่งหากในอีก 5 ปี อาเซียนยังขยายตัวในระดับนี้ต่อไป อาเซียนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลกภายในกลางศตวรรษนี้ ปัจจัยสำคัญหนึ่งคือเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโต ทั้งนี้ อาเซียนต้องเตรียมตัวรับเมกาเทรนด์ของโลกและการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 ซึ่งจะทำให้รูปแบเดิมของการผลิต การทำงาน การอยู่อาศัย การปฏิสัมพันธ์การทำงาน ทั้งหมดนี้เปลี่ยนไป รวมทั้งมี บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) อินเตอร์เน็ตออฟติง(ไอโอที) เข้ามา โดยปัจจุบันโครงสร้างประชากรในอาเซียนที่เป็นคนรุ่นใหม่  คุ้นเคยกับระบบดิจิทัล การขยายตัวของคนชั้นกลาง และมีนโยบายที่สอดคล้องกับการเติบโตเข้ามาสนับสนุน ว่าอาเซียนจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งในยุคดิจิทัล แต่ขณะเดียวกันก็ควรต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลเช่นกัน เพราะกำลังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และเปิดโอกาสใหม่สำหรับภาคธุรกิจจำนวนมาก

นายดาโต๊ะ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล อาเซียนได้เตรียมตัวหลายภาคส่วนเน้นเชื่อมโยงด้านดิจิทัล โดยขณะนี้ข้อตกลงอาเซียนเกี่ยวกับอีคอมเมิร์ชอยู่ระหว่างการเจรจา ถ้าแล้วเสร็จคาดว่าจะอำนวยสะดวกให้ธุรกิจและการค้าของอาเซียนได้ดี ทั้งนี้ ยังมีการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ พร้อมทั้งการโอนถ่ายและสร้างความร่วมมือไปยังธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) นอกจากนี้ ทรัพย์สินทางปัญญามีส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยอาเซียนมีการปรับปรุงเรื่องการยื่นขอสิทธิบัตร รวมทั้งจะมีการพัฒนาทุนในุษย์ มีการจัดตั้งมหาลัยไซเบอร์เพื่อสร้างการศึกษาข้ามพรมแดน และที่ขาดไม่ได้คือ การป้องกันภัยทางไซเบอร์ และความมั่นคงด้านไซเบอร์ ซึ่งอาเซียนอยู่ระหว่างการพัฒนาอาเซียนไซเบอร์เซ็นเตอร์ด้วย

นายดาโต๊ะ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี ประเทศต่างๆ ในอาเซียนยังมีความท้าทายจากการพัฒนาและช่องว่างโครงสร้างดิจิทัล ซึ่งเศรษฐกิจดิจิทัลต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายระดับประเทศ ซึ่งขณะนี้เห็นประเทศต่างๆ มีการปรับตัวและเดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น เช่น อินโดนีเซีย มีการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 มาเลเซียมีการพัฒนาเขตการค้าดิจิทัล ขณะที่ไทยมีการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันอิก(อีอีซี) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอนาคตที่สร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น ซึ่งการเจริญเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลยังเปิดโอกาสให้ภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการเงินและเทคโนโลยีด้านการเงิน(ฟินเทค) ปัจจุบันในอาเซียน 4 ประเทศ มีศูนย์ทดสอบนวัตกรรมทางการเงิน(เรกูราทอรี่แซนบ็อกซ์) เพื่อทดสอบการทำงานใหม่ๆ ร่วมฟินเทค เฝ้าติดตามความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และอาเซียนกำลังพัฒนาแนวทางการให้บริการการเงินดิจิทัลและระบบการชำระเงินร่วมกัน

“ความท้าทายของประเทศสมาชิกอาเซียนคือความพร้อมและช่องว่างนวัตกรรม เช่น ต้องมีการลงทุนเพื่อเชื่อมโยงระบบไอที การบอร์ดแบนอินเตอร์เน็ตให้เข้าถึงเพราะถือเป็นเรื่องสำคัญในยุคเศรศฐกิจดิจิทัล ต้องอำนวยความสะดวกปรับใช้กับธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน กรอบนโยบายสอดคล้องกัน และต้องให้แน่ใจว่านโยบายสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเพื่อให้มีการกำกับดูแลเหมาะสม ซึ่งอาเซียนต้องใช้ประโยชน์จากกลไกเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างแฟลตฟอร์มประสานงานกัน เพราะเป็นยุคใหม่ของอาเซียน ต้องมีวิธีคิดใหม่เพื่อการสร้างโอกาสและนวัตกรรมเพื่อรับมือความท้าทายปัญหาของอาเซียนปัจจุบัน เช่น ความยากจน สุขภาพ การศึกษา เป็นต้น เพื่อการรวมกลุ่มกันภายในภูมิภาคมีความยั่งยืน” นายดาโต๊ะ กล่าว

Advertisement

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะมีความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ภาวะเศรษฐกิจกาาชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ แต่อาเซียนยังคงเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่าภายใน 10 ปี จีดีพีของอาเซียนจะขยายตัวถึง 4.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปีที่ผ่าสมาที่อยู่ที่ราว 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เป็นตลาดใหญ่อันดับสามของโลก นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับจีนและอินเดียซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับ 1 ของโลกและเป็นอันดับสองของโลก จึงมีความสนใจเข้ามาลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีอาเซียนมีเขตเศรษฐกิจพิเศษกว่า 1,600 เขต หนึ่งในนั้นคือ อีอีซี ซึ่งจะเป็นประตูสู่ภูมิถาคและดึงดูดการลงทุนมูลค่าสูงเข้ามาในภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลดีต่อซัพพลายเชนต่างๆ ทั้งนี้ การขยายตัวของครัวเรือนในภูมิภาคนี้เป็นโอกาสที่เอกชนจะสามารถลงทุนและพัฒนาธุรกิจตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าทั้งด้านอาหาร ยา สินค้าอุปโภค การศึกษา บันเทิง อีคอมเมิร์ช รวมถึงผลิตภัณฑ์การเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น 

นายชาติศิริ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ ปัจจุบันอาเซียนกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสการการขยายตัวของเมืองและการก้าวสู่ยุคดิจิทัลที่มีทั้งโอกาสและความท้าทายอยู่ในเวลาเดียวกัน เพราะในยุคใหม่เป็นยุคของ ไอโอที เอไอ บิ๊กดาต้า คาดว่าในอาเซียนจะมีเม็ดเงินการลงทุนด้านไอทีเข้ามากว่า 6.25 แสนดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 เช่น อาลีบาบาที่ได้ลงทุนศูนย์กระจายสินค้าในมาเลเซีย และลงทุนสมาร์ทดิจิทัลฮับในไทย เป็นต้น โดยธุรกิจต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาความได้เปรียบใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ทั้งเรื่องอีคอมเมิร์ซ บิ๊กดาต้า ระบบออโตเมชั่นพร้อมปรับโมเดลธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดการแข่งขัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image