‘ผอ.ฟีโบ้’ แนะปรับปรุงรับเทคโนโลยี ทุ่ม 1.7 ล้านล้าน เคลื่อนอีอีซี คาดทำจีดีพีโต 5-6% ใน 7 ปี

เมื่อเวลา 11.05 น. วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 นายชิต เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง Transform เศรษฐกิจไทย ก้าวไกลสู่อนาคต ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่า อย่างที่รับทราบว่า 5G เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยหลายประเทศเริ่มเตรียมความพร้อมที่จะรองรับ 5G ที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้

ดังนั้น จึงมีการเล็งว่าจะมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า จะริเริ่มทดสอบ 5G ในพื้นที่สมาร์ทซิตี้ของภาครัฐ จำนวน 4 แห่ง หรือของภาคเอกชน จำนวน 2 แห่ง โดยจะใช้ 5G เป็น Testbed ก่อน ซึ่งถ้าไม่มี 5G หรือ 5G ไม่เกิดขึ้น ในอนาคตจะส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก ทั้งในระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ และอุตสาหกรรม และเมื่อได้รับผลกระทบเป็นปริมาณมหาศาล มนุษย์ทุกคนจึงต้องปรับตัว โดยจะต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้ ทั้งนี้ หากเราไม่ปรับตัว ผลที่ตามมาคือ ไม่สามารถก้าวหน้าทันเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้น

“หากไม่เริ่มปรับกระบวนการทางความคิดให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่าในอีก 5 ปี ประเทศไทยจะซ้ำรอยเดิมที่ไม่สามารถที่ต่อสู้กับประเทศต่างๆ ได้ ผู้ชนะคือผู้ที่สามารถคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ขึ้นมาตอบโจทย์การใช้ชีวิตในยุคใหม่” นายชิตกล่าว

Advertisement

นายชิตกล่าวว่า สำหรับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลเตรียมใช้วงเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง 5 ปีแรก รวมมูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านบาท เพื่อดำเนินการ อาทิ การพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา มูลค่า 200,000 ล้านบาท, การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 มูลค่า 11,100 ล้านบาท, การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่า 150,000 ล้านบาท, การพัฒนาเมืองใหม่ มูลค่า 400,000 ล้านบาท, พัฒนาการท่องเที่ยว มูลค่า 200,000 ล้านบาท, การลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย มูลค่า 500,000 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง มูลค่า 35,300 ล้านบาท และแผนการลงทุนของรัฐบาลตามกรอบการลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน อีกทั้งปัจจุบันกฎหมายอีอีซีได้มีผลบังคับใช้แล้ว การประมูลการลงทุนก็จะเกิดต่อเนื่อง ได้มีการชักจูงการลงทุนจากต่างชาติ จนเกิดรูปธรรม ทั้งจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี

นายชิตกล่าวว่า ผลจากการผลักดันให้เกิดโครงการอีอีซี และเมื่อเต็มรูปแบบ จะสามารถดึงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศ ให้ขยายตัวต่อปีได้ 5-6% ในช่วงระยะเวลา 7 ปี (ตั้งแต่ปี 2562-2568) และจากนั้น หากไม่มีขับเคลื่อนอะไรอีกก็จะชะลอตัวลง จีดีพีก็จะตกต่ำลง เหมือนเมื่อเกิดขึ้นกับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ดังนั้น ควรทำอย่างไรให้การลงทุน 1.7 ล้านล้านบาท สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดยผ่านการลงทุน สร้างอินโนเวชั่น และเตรียมแรงงานให้พร้อม เพื่อรองรับตลาดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ

“ข้อกังวลเรื่องผลกระทบคนที่จะตกงานเมื่อ 5G และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามา อยากให้เข้าใจถึงความแตกต่างด้านกระบวนการทำงานของแต่ละส่วนก่อน สมองของมนุษย์นั้นมีระบบการประมวลผลและจดจำข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด แต่ขณะที่เอไอนั้นจำกัดการจัดเก็บข้อมูล รวมถึงการประมวลผล ดังนั้น จึงถือว่าสมองของคนยังเป็นต่อเอไออยู่มาก” นายชิตกล่าว

Advertisement

นายชิตกล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีความน่าเป็นห่วง โดยเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของชาติมองข้ามการศึกษาด้านวิชาชีพ เนื่องด้วยสภาพความเป็นจริงที่ผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิชาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เมื่อจบมาแล้วได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ที่ผ่านมา ทำให้ค่านิยมการเรียนสายอาชีพนั้นต่ำ จึงเป็นสาเหตุทำให้ประเทศขาดแคลนกำลังคนสายอาชีพที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในภาคอุตสาหกรรมจากนี้

“ในต่างประเทศผู้ที่มีฝีมือจะได้เงินเดือนมากกว่าวิศวกรเสียอีก นี่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่บ่งชี้อนาคตการศึกษาไทยในตอนนี้” นายชิตกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image