‘กรมชลฯ’ ขอความร่วมมือผู้ใช้น้ำลุ่มเจ้าพระยาจัดรอบเวรสูบน้ำลดเสี่ยงขาดน้ำในอนาคต

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่าทางกรมชลฯ ขอความร่วมมือจากเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้น้ำ และประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมจัดรอบเวรการสูบน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและการใช้น้ำของอาคารเชื่อมต่อแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตามข้อตกลงและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน อาทิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มเจ้าพระยา 7 จังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและการใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่ได้วางไว้ตลอดช่วงฤดูแล้งปี 2561/62 อีกทั้งยังเป็นการสำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคตอย่างไม่ขาดแคลนอีกด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงฤดูแล้งปี 2561/62 ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2562 กรมชลฯ ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้ รวมกันทั้งสิ้น 12,840 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยวางแผนจัดสรรน้ำจากเขื่อนทั้ง 4 แห่งและผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง รวมจำนวน 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แยกเป็นเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมจำนวน 6,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จำนวน 400 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จำนวน 400 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง จำนวน 700 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2561 ถึงเดือนกรกฎาคม 2561 จำนวน 5,540 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้ว 769 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 10% ของแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง คงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ 7,231 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 90% ของแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง สำหรับการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา นอกเหนือจากการส่งน้ำตามปกติผ่านระบบชลประทานแล้ว ยังมีการสูบใช้น้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าและการใช้น้ำของอาคารเชื่อมต่อแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ดูแลโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์การบริหารส่วนจังหวัด หากทำการสูบน้ำและรับน้ำพร้อมกันจะทำให้น้ำตามจุดต่างๆ ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณน้ำต้นทุนต้นฤดูฝนปี 2562 ประกอบกับต้องวางแผนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ไว้ว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความแห้งแล้งขึ้นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image