บังคับใช้ภาษีมรดก1กพ.นี้ลุ้นเก็บภาษีผู้ตายปีละแสนราย-เผยทองคำ-ประกันไม่เสียภาษี

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่ประชุมมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอเรื่องกฎหมายลำดับรองออกตามความในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 40) พ.ศ. 2558 อันประกอบด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการแจ้งการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์โดยทางมรดก ซึ่งออกเป็นร่างพระราชกฤษฎีกาจำนวน 1 ฉบับ และร่างกฎกระทรวงจำนวน 6 ฉบับ รวมเป็นกฎหมายลูกที่ออก 7 ฉบับ

นายกฤษฎา กล่าวว่า พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งครบ 180 วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อ 5 สิงหาคม 2558 ซึ่งกฎหมายลูกทั้ง 7 ฉบับมีสาระสำคัญคือบุคคลที่ยกเว้นภาษีมรดก เพิ่มเติมจากสามีภรรยา อาทิ มรดกที่บริจาคสำหรับกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณะประโยชน์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ วัดวาอาราม สภากาชาดไทย มูลนิธิหรือสมาคมตามประกาศของกระทรวงการคลัง สถาบันอุดมศึกษาเอกชนและโรงเรียนเอกชน บุคคลหรือองค์กรระหว่างประเทศตามข้อผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ สหประชาชาติ สถานทูต สถานกงสุล บุคคลในคณะทูต คณะกงสุล

“ในส่วนของการบริจาคนั้นต้องผู้รับมรดกต้องแจ้งให้กรมสรรพากรทราบภายใน 15 วันและต้องรายงานการใช้ทรัพย์สินให้กรมสรรพากรทราบทุกปีเป็นเวลา 9 ปีเพื่อดูว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ผู้ให้มรดกแจ้งไว้หรือไม่ ถ้าทำผิดวัตถุประสงค์ต้องเสียภาษีตามกฎหมายทันที”นายกฤษฎา กล่าว

นายกฤษฎา กล่าวว่า สำหรับทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีประกอบด้วย อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย หลักทรัพย์ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยหรือจัดตั้งตามกฎหมายไทย เงินฝากหรือเงินสด ที่อยู่ในสถาบันการเงิน ที่อยู่ในประเทศไทย และยานพาหนะที่จดทะเบียนในประเทศไทย ส่วนทองคำ และผลประโยชน์จากประกันชีวิตนั้นไม่อยู่ในทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย พร้อมกันนี้ยังมีการกำหนดหลักเกณฑ์การหักภาระที่ถูกรอนสิทธิในการคำนวณมูลค่ามรดกที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้รับมรกดยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เนื่องจากอาจติดสิทธิการเช่าจากเจ้าของเดิม จะให้มีการหักลดมูลค่าสินทรัพย์ที่จะเสียภาษีตามจำนวนปีที่ยังมีผู้เช่า

Advertisement

นายกฤษฎา กล่าวว่า ส่วนการตีมูลค่าทรัพย์สินนั้นให้ใช้ราคาตลาดในวันที่รับมรดก ซึ่งในการเสียภาษีนั้นต้องดำเนินการภายใน 150 วันนับจากวันที่รับมรดก รวมถึงในกฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานที่ดิน แจ้งถึงการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมายังกรมสรรพากรภายในวันที่ 20 และวันที่ 5 ของแต่ละเดือนอีกด้วย โดยในการเสียภาษีมรดกนั้นกำหนดให้เก็บจากการรับทรัพย์สินในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท หากเป็นผู้สืบสันดานเสีย 5% บุคคลอื่นเสีย 10% หากยังไม่มีเงินเสียภาษีสามารถผ่อนชำระได้ 5 ปี โดยใน 2 ปีแรกไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม แต่หากเกินกว่า 2 ปีเสียเพิ่ม 0.5%

นายกฤษฎา กล่าวว่า พร้อมกันนี้ยังได้ออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับการรับให้ เป็นการโอนและรับทรัพย์สินในช่วงที่ผู้ให้มีชีวิตอยู่ ให้สอดคล้องกันด้วยในเรื่องของการบริจาค และยกเลิกการยกเว้นเงินได้การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีค่าตอบแทน บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายที่สามารถรับทรัพย์สินแบบไม่เสียภาษีหากไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อปีนั้นไม่รวมบุตรธรรม

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร กล่าวว่า ในแต่ละปีมีสถิติคนไทยเสียชีวิตประมาณ 4 แสนราย โดยในจำนวนนี้ 1 แสนรายนั้นมีการจัดตั้งผู้จัดการมรดก เพื่อแบ่งหรือโอนทรัพย์สินแต่ยังไม่ทราบว่าในจำนวนนี้มีทรัพย์สินเกินกว่า 100 ล้าน ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีกี่ราย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image