บ่ายนี้ ‘จุรินทร์’ เรียกถกโรงงาน-สาธารณสุข-รพ. เล็งดึง ‘หน้ากากอนามัย’ 7.5 แสนชิ้น มาจัดการ

วันที่ 2 มีนาคม นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 มีนาคมนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้เชิญโรงงานผู้ผลิตหน้ากากอนามัย 11 โรงงาน ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน หารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาและกระจายหน้ากากอนามัยให้ทั่วถึง เนื่องจากปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน ซึ่งเกิดจากความตื่นตระหนกของผู้ที่ต้องการป้องกันความเสี่ยงจากไวรัสโควิด-19 ประเมินว่ามีความต้องการสูงกว่าปกติกว่า 5 เท่าตัว ขณะที่โรงงานในประเทศ 11 แห่งมีกำลังการผลิตที่จำกัด 1,350,000 ชิ้นต่อวัน ประกอบกับ ปัญหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเริ่มขาดแคลนและหายาก ส่วนหนึ่งจากจีนห้ามส่งออกวัตถุดิบเพื่อการผลิต ในเรื่องของวัตถุดิบ กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์จัดหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ล่าสุดได้นำเข้าจากอินโดนีเซีย

นายวิชัยกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้รับมอบหมายให้จัดระเบียบให้โรงงานผลิตกระจายหน้ากากอนามัยจากกำลังการผลิตทั้งหมด แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ จัดสรรให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข รวมวันละ 600,000 ชิ้น โดยในส่วนนี้จัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ 350,000 ชิ้น ผ่านโรงพยาบาลโดยตรง 150,000 ชิ้น ผ่านองค์การเภสัชกรรม 200,000 ชิ้น และส่งมาที่กรมการค้าภายใน 250,000 ชิ้น เพื่อกระจายไปยังสมาคมร้านขายยา การบินไทย ร้านธงฟ้า เซเว่นอีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท บิ๊กซี เทสโก้โลตัส ขายให้ประชาชนคนละไม่เกิน 1 แพคๆ ละ 4 ชิ้น ราคาชิ้นละ 2.50 บาท รวมจำหน่ายแพคละ 10 บาท ซึ่งในวันที่ 5 มีนาคมนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เพิ่มช่องทางจัดรถคาราวานออกจำหน่ายหน้ากากอนามัยทั่วประเทศ รวม 111 คัน โดยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 21 คัน และในต่างจังหวัด 90 คันในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะหมุนเวียนออกจำหน่ายให้ทั่วถึงแต่ละชุมชน โดยจะจำหน่ายให้ประชาชนคนละไม่เกิน 1 แพคๆ ละ 4 ชิ้น ราคาชิ้นละ 2.50 บาท รวมจำหน่ายแพคละ 10 บาท

นายวิชัยกล่าวอีกว่า อีก 750,000 ชิ้นต่อวัน ทางโรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการบริหารจัดการตามการค้าปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมการค้าภายในไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการกระจายสินค้าเนื่องจากเป็นการค้าปกติ และอาจมีบางส่วนที่นำไปขายบนออนไลน์และเกิดการขายเกินราคา ซึ่งจะทำหนังสือถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกราย โดยแจ้งว่าจะมีความผิดหากปล่อยให้ร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มจำหน่ายหน้ากากอนามัยราคาสูงเกินจริง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เหมือนกับผู้ค้าทั่วไปที่ขายเกินราคาจริง ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินคดีแล้วกับผู้ค้าขายเกินราคา 31 ราย ในจำนวนนี้เป็นค้าออนไลน์ 5 ราย และอีก 20 ราย ไม่ปิดป้ายแสดงราคาสินค้า มีโทษปรับครั้งละ 1 หมื่นบาท

Advertisement

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

 

 

Advertisement

“ที่จะมีการหารือในส่วนของ 7.5 แสนชิ้นนั้น จะเป็นการเข้าไปดูเรื่องการบริหารจัดการและการกระจายหน้ากากอนามัย รวมถึงชนิดของการผลิตหน้ากากอนามัย ที่โรงงานผลิตระบุว่ามีถึง 70 ประเภท และมีต้นทุนผลิตที่แตกต่างกัน ทำให้ราคาหน้ากากอนามัยไม่เท่ากัน เพื่อทบทวนการจัดการและการกระจายดังกล่าวให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และให้ชัดเจนว่าในส่วนของกระทรวงพาณิชย์จะได้รับการจัดสรรให้กับประชาชนเพิ่มอีกแค่ไหน จากที่มีการจัดสรร 2.5 แสนชิ้นต่อวัน เพื่อกระจายให้กับประชาชนโดยตรง ส่วนเรื่องราคาบริการการแพทย์ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 นั้นอยู่ระหว่างการหาข้อมูลและหารือกับทางโรงพยาบาลก่อน ที่จะมีการนำรายการค่าบริการขึ้นในการดูแลเหมือนกับค่าบริการทางแพทย์ที่ดำเนินการอยู่แล้ว 300 รายการ” นายวิชัยกล่าว และว่า ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและซื้อหน้ากากอนามัยเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โปรดอย่ากักตุน เพื่อให้คนอื่นๆ ได้ใช้กันอย่างทั่วถึง ซึ่งเราต้องเทใจให้กันแบ่งปันกันใช้ หน้ากากอนามัยมีเพียงพอแน่ จึงขอความร่วมมือกันแก้ปัญหาในวิกฤตนี้ เพื่อก้าวผ่านปัญหาไปด้วยกัน ตอนนี้จากการตื่นตระหนกทำให้ความต้องการหน้ากากอนามัยสูงกว่าปกติกว่า 5 เท่า จึงเกิดภาวะขาดแคลนได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image