เอกชนพลิกวิกฤต…ลุยลงทุนไม่ยั้ง รอโควิดจบ…เก็บเกี่ยวดอกผลทันที

เอกชนพลิกวิกฤต...ลุยลงทุนไม่ยั้ง รอโควิดจบ...เก็บเกี่ยวดอกผลทันที

เอกชนพลิกวิกฤต…ลุยลงทุนไม่ยั้ง รอโควิดจบ…เก็บเกี่ยวดอกผลทันที

ชีพจรเศรษฐกิจไทยปี 2564 ช่วงต้นปีถือว่าปกติ แม้จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอก 2 ช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 แต่คุมสถานการณ์ได้จนคลี่คลาย ทำให้เดือนมีนาคมที่ผ่านมาคือเดือนแห่งความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในช่วงที่เหลือของปีนี้ รัฐบาลเริ่มมองตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะขยายตัวถึง 4% จากเป้าหมาย 2.8%

กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ช่วงปลายเดือนมีนาคม จนถึงปัจจุบันสถานการณ์เริ่มเข้าขั้นวิกฤต ระบบสาธารณสุขของไทยเริ่มเกิดปัญหา ชีพจรเศรษฐกิจไทยแผ่วลง อาจเติบโตไม่ถึง 2.8% ด้วยซ้ำ

ตั้งความหวังกับรัฐบาลว่าจะบริหารจัดการวิกฤตประเทศครั้งนี้ให้ได้!!

Advertisement

⦁เอกชนลุยลงทุนช่วงโควิดระบาด
แต่ภายใต้วิกฤตย่อมมีโอกาสสำหรับเอกชน ตรวจสอบตัวเลขการลงทุน ตลอดจนแนวโน้ม พบความคึกคักสวนทางเศรษฐกิจภาพรวม โดยช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใกล้เคียงกับปี 2562

หนึ่งในอุตสาหกรรมที่โดดเด่นคือ การท่องเที่ยว แม้สถานการณ์ปัจจุบันเข้าขั้นโคม่า แต่นักลงทุนสายป่านยาวจำนวนหนึ่งก็เลือกลงทุนใหม่ๆ ในช่วงเวลานี้ เพราะประเมินสถานการณ์แล้วว่า เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย คนไทยและต่างชาติจะเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันได้ การลงทุนที่เตรียมการไว้จะสอดรับดึงนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

⦁อุตฯท่องเที่ยวเนื้อหอม รอผงาดอีกครั้ง
ประเด็นนี้ นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้ข้อมูลว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง แม้อยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากนักลงทุนยังเชื่อมั่นในศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในระยะยาว โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวหลักที่เป็นที่นิยมของต่างชาติ อย่างกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และพัทยา

Advertisement

นักลงทุนเหล่านี้เปลี่ยนวิกฤตโควิดมาเป็นโอกาสในการเร่งลงทุนในช่วงนี้ ทั้งการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเดิม และการสร้างกิจการใหม่ ซึ่งกว่าโครงการจะสร้างเสร็จอีก 1-2 ปีข้างหน้า ถึงเวลานั้นเศรษฐกิจฟื้นตัว นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การขยายสนามบิน มอเตอร์เวย์และระบบรางทั้งในอีอีซี (เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) และภูมิภาคต่างๆ มีความคืบหน้ามากขึ้น นักลงทุนกลุ่มนี้ก็จะได้เปรียบรายอื่นที่เริ่มต้นช้ากว่า

สำหรับช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2564) มีโครงการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 9 โครงการ เงินลงทุน 12,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเพียง 3 โครงการ เงินลงทุน 1,670 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนสร้างโรงแรมที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต พังงา และชลบุรี รวม 5 โครงการ กิจการเรือท่องเที่ยว 3 โครงการ และกิจการบริการที่จอดเรือยอชต์ที่ภูเก็ต 1 โครงการ

⦁ยุทธศาสตร์บีโอไอดันลงทุน1.38แสนล.
รองเลขาธิการบีโอไอระบุว่า ตั้งแต่บีโอไอประกาศใช้ยุทธศาสตร์ใหม่เมื่อปี 2558 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2564 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งสิ้น 145 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 138,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการโรงแรม จำนวน 90 โครงการ เงินลงทุน 105,000 ล้านบาท ส่วนกิจการอื่นที่น่าสนใจ เช่น โครงการศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ หอประชุมขนาดใหญ่ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ สวนสนุก กิจการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

โดยในแง่พื้นที่ โครงการส่วนใหญ่กว่า 46% จะอยู่ในกรุงเทพมหานคร รองลงมาคือ จังหวัดภูเก็ต 32% ชลบุรี 9% พังงา 8% และเชียงใหม่ 5% ขณะที่ในแง่ประเทศผู้ลงทุน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนไทย โดยโครงการที่มีนักลงทุนไทยถือหุ้นมากกว่า 50% มีจำนวน 111 โครงการ คิดเป็น 77% ของจำนวนโครงการทั้งหมด และมีมูลค่าการลงทุน 92,300 ล้านบาท คิดเป็น 67% ของเงินลงทุนทั้งสิ้น ในส่วนของนักลงทุนต่างชาติ สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากที่สุด ตามด้วยฮ่องกง จีน และญี่ปุ่น

“ล่าสุด สวนน้ำการ์ตูนเน็ตเวิร์ค ของบริษัท อเมซอน ฟอลส์ จำกัด มีแผนจะร่วมทุนกับบริษัท โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ปรับปรุงใหญ่และเปลี่ยนโฉมเป็นสวนน้ำ‘โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส’ โดยพร้อมเปิดตัวราวเดือนตุลาคมปีนี้” รองเลขาธิการบีโอไออธิบายโครงการสวนน้ำที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงการลงทุนครั้งสำคัญนี้ในไทย

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีกิจการสวนสนุกและสวนน้ำ ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมจำนวน 11 โครงการ เงินลงทุนรวม 10,500 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นสวนสนุกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3 แห่ง และสวนน้ำในจังหวัดต่างๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว 8 แห่ง เช่น สวนน้ำวานา นาวา (หัวหินและภูเก็ต) สวนน้ำซานโตรินี (เพชรบุรี) สวนน้ำไดโนวอเตอร์พาร์ค (ขอนแก่น) สวนน้ำรามายณะ (ชลบุรี) สวนน้ำการ์ตูนเน็ตเวิร์ค (ชลบุรี) เป็นต้น

“นฤตม์” ยังย้ำว่า บีโอไอให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพราะเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ได้รับประโยชน์อีกจำนวนมาก รายได้จากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 20% ของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ)

โดยกิจการท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ยกเว้นกิจการโรงแรม จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้ แต่หากไปตั้งในเมืองรอง 55 จังหวัด จึงจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยกิจการที่บีโอไอส่งเสริมแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ 1.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เช่น ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรม สวนสนุก สวนน้ำ สวนสัตว์ การสร้างแหล่งท่องเที่ยว Man-made ที่มีคุณภาพ เป็นต้น

2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว เช่น กิจการโรงแรม เรือเฟอร์รี่หรือเรือท่องเที่ยว ท่าเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ การพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น และ 3.การพัฒนาสถานที่รองรับธุรกิจการจัดประชุม นิทรรศการ และอีเวนต์ขนาดใหญ่ เช่น ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ เป็นต้น

⦁แห่ตอกเสาเข็มในนิคมฯโต 287.56%
นอกจากนี้จากการติดตามสถานการณ์การลงทุนในอุตสาหกรรมหลักที่เข้าลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ก็พบความคึกคักเช่นกัน โดย วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นไปอย่างคึกคัก ช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563-มีนาคม 2564) มีมูลค่าการลงทุน 106,146.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 27,388.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 287.56% คิดเป็นพื้นที่ลงทุนมากถึง 3,680 ไร่ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 2,500 ไร่

อุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ อุตสาหกรรมยาง พลาสติกและหนังเทียม อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องมือวิทยาศาสตร์

“การลงทุนดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจากการหารือกับนักลงทุนเบื้องต้นมองว่าสถานการณ์การลงทุนของไทยมีความแข็งแกร่ง และเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 จบลง ก็จะเป็นโอกาสของธุรกิจ จากความต้องการบริโภคสินค้าต่างๆ ทั่วโลก” ผู้ว่าการ กนอ.แสดงความเห็น

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 แต่นักลงทุนมองเห็นโอกาส ส่วนโอกาสนั้นจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากแค่ไหน ต้องติดตาม!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image