มีเฮ! รัฐบาลช่วยเหลือ ลูกจ้าง-นายจ้าง-ร้านอาหาร-ไซต์ก่อสร้าง รวม 7,500 ล้านบาท

มีเฮ! รัฐบาลช่วยเหลือ ลูกจ้าง-นายจ้าง-ร้านอาหาร-ไซต์ก่อสร้าง รวม 7,500 ล้านบาท ได้ทั้งประกันสังคม และนอกประกันสังคม

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมคณะงานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25)

โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศปก.ศบค.), นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

นายดนุชากล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้าง ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจไซต์งานก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบ เป็นระยะเวลา 1 เดือน ทั้งในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคม จากการออกข้อกำหนออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) ในพื้นกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ดังนี้

1.ในระบบประกันสังคม กรณีลูกจ้าง จำนวน 690,000 คน จ่ายชดเชยกรณีเหตุสุดวิสัย 50% ของฐานเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท นอกจากนี้ ยังได้ “เงินเพิ่มเติม” จำนวน 2,000 บาทต่อราย เฉพาะลูกจ้างที่มีสัญชาติไทย รวมจ่ายสูงสุด 9,500 บาท กรณีนายจ้างหรือผู้ประกอบการ จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวของลูกจ้างในบริษัท สูงสุดไม่เกิน 200 คน ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจากทางรัฐบาล

Advertisement

2.นอกระบบประกันสังคม ฐานข้อมูลเบื้องต้นอยู่ในระบบแอพพลิเคชั่นถุงเงิน โดยให้นายจ้างที่ไม่เคยขึ้นระบบประกันสังคมดำเนินการลงทะเบียนเข้าระบบประกันสังคม กรณีลูกจ้างเฉพาะที่มีสัญชาติไทย จะได้รับเงิน 2,000 บาทต่อหัว แต่ไม่ได้เงินเดือนชดเชย 50% เนื่องจากจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือน ส่วนกรณีนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้างเช่นเดียวกัน

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้ เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง สามารถขึ้นทะเบียนผ่านแอพพ์ถุงเงินได้ ภายใน 1 เดือน ภายใต้โครงการคนละครึ่ง โดยกระทรวงมหาดไทยจะลงไปตรวจสอบด้วย ซึ่งจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท

ทั้งนี้ กรอบวงเงินที่รัฐบาลเตรียมไว้ทั้งหมด 7,500 ล้านบาท แบ่งออกเป็น เงินกู้ 1 ล้านล้าน 4,000 ล้านบาท และกองทุนประกันสังคม 3,500 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ต้องให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (29 มิถุนายน) เห็นชอบในหลักการการเยียวยาครั้งนี้ก่อน ในระยะถัดไปรัฐบาลยังมีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาใน ครม.เร็วๆ นี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image