เอกชน คาดโควิดระลอก 3-4 เสียหายอีก 8 แสนล้าน เห็นด้วยเปิดเมืองปลอดภัย รักษาสมดุลศก.

เอกชน หนุน เปิดประเทศปลอดภัย รักษาสมดุลการควบคุมโควิดและเศรษฐกิจ จี้เร่งรัฐการฉีดวัคซีน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโต

เมื่อวันที่ 9 กันยายน ในการเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “สุขภาพเศรษฐกิจไทย เขียว เหลือง หรือแดง” ในงาน เศรษฐกิจไทย ใครชี้ชะตา นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้อยู่ในระดับสีเหลือง จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่ปี 2563 ระบบเศรษฐกิจในประเทศเกิดความเสียหายราว 1 ล้านล้านบาท

“ส่วนการระบาดระลอก 3 และระลอก 4 ในปี 2564 คาดว่าจะเกิดความเสียหายอีกราว 8 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาท โดยภาคบริการ และภาคการบริโภค เป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ขณะเดียวกัน การลงทุนทั้งในและต่างประเทศก็ถดถอยด้วย แต่โชคดีที่ภาคการส่งออก ยังเติบโตได้ดี 7 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่ มกราคม – กรกฎาคม 2564 ) ขยายตัวถึง 16% ซึ่ง คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ว่าการส่งออกปีนี้ จะเติบโตที่ 12-14% ในขณะที่ กกร.ประเมินการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี2564 อยู่ที่ -0.5% ถึง 1%”

นายสนั่น กล่าวว่า สิ่งที่ภาคเอกชนเห็นด้วยกับรัฐบาลก็ คือ การเปิดเมืองปลอดภัย เนื่องจากมองว่าโควิด-19 คงอยู่ไปอีกนาน หากมัวแต่ ล็อกดาวน์ เข้าใจว่าความปลอดภัยและชีวิตของประชาชนนั้นสำคัญ ซึ่งระบบสาธรณสุขก็จัดการได้ดี แต่ในยามที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนก็สำคัญเช่นกัน ต้องมีการปรับตัว ถ้าภาคธุรกิจไหนจัดการความเสี่ยงได้ ก็ให้กลับมาเปิด ไม่ใช่ให้ปิดทั้งหมด เช่น ห้างสรรพสินค้า พนักงานก็ได้รับวัคซีนกันหมดแล้ว มีมาตรการทำความสะอาด เป็นต้น แบบที่ เริ่มดำเนินการเมื่อ 1 กันยายน ก็เหมาะสม และคิดว่า วันที่ 1 ตุลาคมนี้ มาตรการเปิดเมืองปลอดภัยก็จะมีความชัดเจนขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ประชาชน ผู้ใช้บริการ และขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆต่อไป รวมทั้ง ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ก็เป็นอีกตัวอย่าง ที่อาจนจะนำไปสู่การประเทศในอนาคต

Advertisement

นายสนั่น กล่าวว่าส่วนในปี 2565 ก็เสนอให้รัฐบาลกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ท้าทายขึ้น โดยตั้งเป้าาจีดีพีไว้ที่ 6-8% ซึ่งมีความเป็นไปได้ หากคนไทยกว่า 50% ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว รวมทั้งมองว่าภาครัฐจำเป็นต้องกระสุนทางการคลัง ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นการยายเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจาก 60% เป็น 65-70% จะทำให้มีเม้ดเงินเพิ่มอีก ราว 7 แสนล้าน – 1.5 ล้านล้านบาท เศรษฐกิจไทยจะได้เติบโตและทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นการระบาดของโควิด-19 โดยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ทำการอัดฉีดเงินเข้ามาอีก 5 แสนล้านบาท และในไตรมาสที่ 1-2 ของปี2565 อีก 5 แสนล้านบาท

นายสนั่น กล่าวว่าสำหรับเรื่องการระบาดของโควิด-19 นั้น ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว โดยไทยเราโชคดี ที่ภาคเอกชนมีความเข้มแข็ง เริ่มดูแลตัวเองได้ และต้องยอมรับว่าวิกฤตครั้งนี้แตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่กระทบภาคเอกชน แต่ตอนบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ยังแข็งแรง ดังนั้น จึงอยากให้ภาคเอกชนขนาดใหญ่ช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เป็นห่วงโซ่ธุรกิจให้อยู่รอดได้ ซึ่งมีแต่ได้กับได้ และตอนนี้สภาหอการค้าฯ ทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) พยายามเสนอเงื่อนไขที่น่าจะเป็นไปได้ ผลักดันให้ชนะและผ่านวิกฤติไปด้วยกัน

“เช่นเดียวกับธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องดูแลภาคนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันยังมีกลุ่มลูกค้า จีน ฮ่องกง ที่ยังมีความต้องการด้านนี้อยู่ รวมถึงอยากเสนอแนะภาครัฐบาลต้องปรับ คือ ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่น เป็นโอกาสที่ต้องทำให้เกิดขึ้นเร็ว และหวังว่าแผนวัคซีนไม่ต่ำ 100 ล้านโดสเป็นตามเป้าหมาย ซึ่งภาคเอกชนยินดีที่จะช่วย เพื่อทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจเป็นสีเขียวได้” นายสนั่น กล่าว

Advertisement

นายสนั่น กล่าวว่า ต่อจากนี้ไปภาครัฐและภาคเอกชนต้องทำงานเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในทุกเรื่อง เพราะภาคเอกชนมีข้อมูลเชิงลึกที่ทำให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรค และเร็วๆ นี้เตรียมระดมสมองหอการค้าทั่วประเทศเกี่ยวกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งจะสรุปรวบรวมความคิดเห็นเสนอต่อที่ประชุม กกร.ต่อไป

“ภาครัฐต้องทำงานให้เร็วขึ้น ต้องใจกว้างเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจะช่วยให้การแก้ปัญหาเร็วขึ้น ว่ามีส่วนไหนใครถนัดกว่า ซึ่งเราไม่ได้มีความประสงค์แย่งซีน ถ้าทำงานร่วมกันได้จะสามารถทำให้ทุกอย่างมีความเป็นไปได้” นายสนั่น กล่าว

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้เป็นระดับสีเหลืองเช่นกัน แต่จีดีพีปีนี้ยังมีโอกาสเติบโตอยู่ โดยแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออก ที่มีแนวโน้มดีขึ้นจากความต้องการของตลาดของคู่ค้าต่างประเทศที่ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัว

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า โดยโครสร้างของเศรษฐกิจไทยมีสัดส่วนมาจากภาคอุตสาหกรรม 70% ภาคบริการ 20% และภาคเกษตร 10% ในช่วง 2 ปีที่ผ่าน มาที่มีการระบาดของโควิด-19 ภาคบริการได้รับผลกระทบมากสุดเนื่องจากไม่มีรายได้ แต่การปิดประเทศไม่ได้ทำให้การแพร่ระบาดลดลง นอกจากนี้ยังฉุดรั้งเศรษฐกิจอีกด้วย เนื่องจากทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือการเร่งจัดหาวัคซีนที่มีปริมาณเพียงพอเพื่อฉีดให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการตรวจเชิงรุกด้วยชุดเตรวจเอทีเค จะช่วยให้ป้องกันการกระจายของเชื้อได้ ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วขึ้น

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา การพัฒนาประเทศนั้นยังขาดพื้นที่ให้ภาคเอกชนเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่อรัฐบาล ขณะที่ภาครัฐสนใจเรื่องความมั่นคงแต่ภาคเอกชนสนใจเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้การดำเนินงานมีเป้าหมายและนโยบายแตกต่างกัน ดังนั้นจากนี้ต้องหันมาทำงานร่วมกัน แต่ขอยืนยันว่าองค์กรภาคเอกชนคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ไม่ได้มองเรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image