สกู๊ปหน้า 1: เปิดแพลตฟอร์มใหม่ เชื่อม ‘ซัพพลายเชน’ เสริมแกร่ง ‘เอสเอ็มอี’

สกู๊ปหน้า 1: เปิดแพลตฟอร์มใหม่ เชื่อม ‘ซัพพลายเชน’ เสริมแกร่ง ‘เอสเอ็มอี’

จากการที่ภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับภาคเอกชน นำโดยสมาคมธนาคารไทย ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เชื่อมโยงข้อมูลและให้บริการทางการเงิน ภายใต้โครงการ “ดิจิทัล ซัพพลายเชน ไฟแนนซ์” ถือเป็นก้าวสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการเสริมศักยภาพการแข่งขัน ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย

โครงการ “ดิจิทัล ซัพพลายเชน ไฟแนนซ์” เป็นการช่วยเหลือรายย่อย เอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น สามารถรองรับธุรกรรมการซื้อ-ขายในรูปแบบดิจิทัล ทดแทนการออกและรับเอกสารทางการค้าในรูปแบบกระดาษ ที่มีความไม่คล่องตัว มีข้อกังวลเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และการใช้เอกสารเวียนขอสินเชื่อซ้ำซ้อน ทำให้ยากต่อการพิจารณาสินเชื่อ

แพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวกลางช่วยลดช่องว่างระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อ ซึ่งมีสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่า ให้มีโอกาสช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของตน เพราะขั้นตอนการขายสินค้าหรือบริการของเอสเอ็มอี หลังจากออกใบแจ้งหนี้ ต้องรอรับการชำระเงินตามเครดิตเทอม อาจมีผลต่อสภาพคล่อง ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ขาย เพื่อให้ได้รับเงินค่าขายสินค้าทันทีเมื่อการส่งสินค้าเสร็จสิ้น หรือเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ซื้อเพื่อชำระเงินให้คู่ค้าได้เร็วขึ้น

“สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า ส.อ.ท.สนับสนุนและผลักดันการช่วยเหลือทางการเงินให้ภาคธุรกิจเสมอมา โดยปัจจุบันมีสมาชิกที่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ มีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง ซึ่งจะสามารถเข้ามาเป็นผู้ซื้อในระบบได้

Advertisement

“ขณะนี้ มีหลายบริษัทที่แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการแล้ว โดย ส.อ.ท. ขอเชิญชวนผู้ประกอบการให้เข้ามาใช้บริการ “ดิจิทัล ซัพพลายเชน ไฟแนนซ์ แพลตฟอร์ม” กันให้มากขึ้นอีก รวมถึงเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นผู้ซื้อในระบบ เข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย เพื่อช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในเครือข่ายให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับซัพพลายเชนของแต่ละธุรกิจต่อไป โดยขอให้ระบบสามารถออกแบบให้รองรับการใช้งานที่ง่ายทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสินค้า เพื่อที่จะมีผู้ประกอบการเข้ามาใช้กันให้มากขึ้น” ประธานสภาอุตฯชวนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าร่วมโครงการนี้

ขณะที่ “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสริมว่า สภาหอฯตระหนักถึงความสำคัญเอสเอ็มอี ที่เป็นกลไกและรากฐานสำคัญของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ซึ่งหลายๆ ธุรกิจมีศักยภาพที่จะกลับมาฟื้นตัวได้ โดยการช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อต้นทุนต่ำได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจ 99 วัน ที่ต้องเร่งดำเนินการ ก่อนหน้านี้ ทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ผนึกกำลังกับเครือข่าย ทั้งสมาคมการค้า และธนาคารพาณิชย์ในการดำเนินโครงการนำร่องเพื่อเป็นแนวทางในการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าปลีกตลอด ซัพพลาย เชนด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นคู่ค้า มาประกอบการพิจารณาสินเชื่อของภาคธนาคาร ซึ่งเป็นการทดลองทำแซนด์บ็อกซ์ ซึ่งมีผลลัพธ์ที่ดี เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเพื่อให้มีสภาพคล่องในการทำธุรกิจต่อไปได้ จึงเป็นส่วนในการผลักดันให้เกิดโครงการ “ดิจิทัล ซัพพลายเชน ไฟแนนซ์” ขึ้น

“สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์จากภาคการธนาคารได้จริงและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังอำนวยประโยชน์ในการสร้างฐานข้อมูลทางธุรกิจที่เป็นบิ๊กดาต้า อย่างแท้จริงให้เกิดขึ้น” ประธานสภาหอการค้าฯเชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยเอสเอ็มอีได้อีกทาง

Advertisement

ด้าน “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่า เอสเอ็มอีมีความสำคัญต่อระบบเศษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย โดยในภาคการค้าและบริการ มีจำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อยู่ในระบบกว่า 1.4 ล้านราย คิดเป็น 45% ของเอสเอ็มอีทั้งประเทศ มีการจ้างงานเกือบ 10 ล้านคน และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 2.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 13% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เอสเอ็มอีขาดรายได้กะทันหัน กระทบต่อการจ้างงาน สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจึงได้ริเริ่มทำโครงการซอฟต์โลนแซนด์บ็อกซ์เพื่อให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างเร่งด่วน พร้อมร่วมกับภาครัฐ และสมาคมธนาคารไทย หอการค้าไทย ส.อ.ท. สมาคมศูนย์การค้าไทย และสมาคมต่างๆ ในเครือข่ายทั่วประเทศ สร้างแพลตฟอร์ม “ดิจิทัล ซัพพลายเชน ไฟแนนซ์” โดยสมาคมจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ขายและสถาบันการเงิน มีสมาชิกเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด ซึ่งผู้ซื้อดังกล่าวจะเชื่อมโยงข้อมูลการสั่งซื้อสินค้าและการจ่ายเงินของผู้ขายที่ได้รับความยินยอมแล้ว เข้าไปไว้บนแพลตฟอร์ม เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปใช้เป็นหลักฐานการประกอบการพิจารณาสินเชื่อ และอาศัยเครดิตของผู้ซื้อรายใหญ่ ซึ่งจะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้สะดวก รวดเร็ว ด้วยต้นทุนต่ำ มีความเสี่ยงหนี้เสียน้อยลง และตรวจสอบ ป้องกันการให้สินเชื่อซับซ้อนแพลตฟอร์มนี้

“จึงเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง และถือเป็นฟันเฟืองหลักให้เอสเอ็มอีก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องแหล่งเงินทุน สร้างแต้มต่อในการทำธุรกิจและขยายการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งเป็นการเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอี และเป็นการต่อลมหายใจให้กับเอสเอ็มอีให้พลิกฟื้นธุรกิจ ยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบให้กลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง” ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยมั่นใจว่าแพลตฟอร์มนี้จะช่วยเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง

เป็นอีกโครงการหนึ่งที่นำระบบดิจิทัลด้านการเงินเข้ามาช่วยเอสเอ็มอี เพื่อลดต้นทุน เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกรวดเร็วขึ้น ที่จะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image