เป็นกฎหมาย! ‘สรรพากร’ แจงชัด ขาดทุนจากคริปโทฯ ก็ต้องยื่นภาษี

สรรพากร แจงเหตุ ขาดทุนจากคริปโทฯ ก็ต้องยื่นภาษี เพราะเป็นไปตามกฎหมาย เตรียมเชิญแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย คริปโทฯ หารือ กรณีหัก ภาษี ณ ที่จ่าย

เมื่อวันที่ 7 มกราคม นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในส่วนของการยื่นภาษีเงินได้ที่เกิดจากผลประโยชน์ หรือ กำไร จากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี กฎหมายได้กำหนดไว้ตั้งแต่ช่วงกลาง ปี 2561 ซึ่งหากผู้เสียภาษีทำการยื่นภาษีเงินได้ผ่านเว็บไซต์ จะมีการระบุชัดเจนในส่วนของภาษีเงินได้ประเภท 4 แต่หากยื่นโดยการกรอกเอกสาร จะต้องไประบุเพิ่มเติมในช่อง อื่นๆ

นางสมหมาย กล่าวว่า ทั้งนี้ สาเหตุที่ไม่ได้ให้นำเงินที่ขาดทุนมาใช้รวมในการยื่นภาษีเงินได้นั้น เนื่องจากกฎหมายระบุว่า ผู้มีเงินได้ ถือว่ามีหน้าที่ต้องเสียภาษี ดังนั้นกำไรจากการซื้อขายคริปโตจึงถือเป็นเงินได้ แต่รายได้ส่วนนี้จะถูกนับก็ต่อเมื่อมีการโอนเงินกลับเข้าบัญชีแล้ว ซึ่งหากเงินยังอยู่บนแพลตฟอร์มที่ทำการซื้อขาย จะยังไม่ถือว่าเป็นรายได้

“ขณะที่นักขุดเหรียญ จะเข้าข่ายต้องเสียภาษีเงินได้ ประเภท 8 ซึ่งจะนับว่าเป็นรายได้ก็ต่อเมื่อมีการนำเหรียญที่ได้จากการขุดไปขาย ขณะที่การหักลดหย่อนภาษีของสายขุด จะต้องยื่นขอหักจริง โดยสามารถนำใบเสร็จหรือหลักฐานค่าใช้จ่าย เช่น ค่าใช้จ่ายซื้อคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ ค่าไฟ เป็นต้น มาใช้ในการแสดงเพื่อหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งอัตราภาษีของผู้ขุดคริปโทฯ จะใช้อัตราภาษีเช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา ในอัตราก้าวหน้าเพียงแต่ในส่วนนี้ปัจจุบันยังมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย” นางสมหมาย กล่าว

นางสมหมาย กล่าวว่าในส่วนของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อ-ขาย คริปโทฯ มีหน้าที่ในการนำค่าธรรมเนียมที่เก็บจากนักลงทุนมาเสียภาษี ซึ่งหากเป็นผู้ให้บริการในไทย ก็มีหน้าที่ยื่นภาษีในไทย แต่หากเป็นผู้บริการต่างประเทศ ก็ต้องดูว่าได้จดทะเบียนที่ไหน เนื่องจากจะมีเรื่องของถิ่นที่อยู่ด้วย ส่วนนักลงทุนไทย หากมีการเทรดบนแพลตฟอร์มต่างประเทศ ก็ต้องพิจารณาว่ารายได้ส่วนนั้นมีการนำกลับเข้ามาในประเทศหรือไม่ ซึ่งในการเสียภาษีของบุคคลธรรมดาของไทย จะพิจารณา 2 เรื่อง คือ ถิ่นที่อยู่ในไทย จะต้องอยู่เกิน 180 วัน และแหล่งเงินได้ ซึ่งหากเทรดในแพลตฟอร์มต่างประเทศ หากมีกำไรและนำกลับเข้าประเทศในปีภาษีเดียวกัน ก็จะต้องยื่นเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 41 (2)

Advertisement

นางสมหมาย กล่าวว่า ในกรณี หัก ณ ที่จ่าย กฎหมายได้กำหนดไว้ว่าผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% และนำส่งสรรพากร ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีการหักไว้ โดยหากนักลงทุนไม่ได้ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ ก็จะต้องยื่นในยอดเต็ม ไม่มีเครดิตสำหรับนำมาคำนวนภาษี ทั้งนี้ กรมสรรพากร เตรียมเชิญผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายคริปโท มาหารือในประเด็นนี้ และอาจจะต้องมีกฎหมายออกมาเพิ่มเติมในการให้ผู้บริการต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image