‘ส.โรงแรม’ ชี้เสี่ยงขาดแคลนแรงงานทักษะสูง หลังโควิดทำต้องเลิกจ้างกว่า 50% วอนรัฐเยียวยาผลกระทบ

‘ส.โรงแรม’ ชี้เสี่ยงขาดแคลนแรงงานทักษะสูง หลังโควิดทำต้องเลิกจ้างกว่า 50% วอนรัฐเยียวยาผลกระทบ

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และนายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยว่า ปี 2565 แม้มองว่าจะเป็นปีทองของการเดินหน้าฟื้นฟูอนาคตภาคท่องเที่ยวไทยให้ดีขึ้น แต่ธุรกิจท่องเที่ยวยังอยู่ในสภาพที่เพิ่งออกจากห้องไอซียู และยังต้องให้น้ำเกลืออยู่ เนื่องจากสถานประกอบการท่องเที่ยวกว่า 84% จากทั้งหมดทั่วประเทศ มีพนักงานเหลืออยู่ไม่เกิน 50% ของที่เคยมีมาก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 และธุรกิจโรงแรมที่พักแรม 77% มีพนักงานที่เหลืออยู่ไม่เกิน 50% ซึ่งภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 3/2564 ที่ธุรกิจโรงแรมได้ปลดพนักงานออกกว่า 50% ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการบริการและความมั่นคงในภาคการท่องเที่ยว โดยหัวใจสำคัญที่จะทำให้ภาคท่องเที่ยวสามารถพลิกฟื้นได้อย่างแท้จริง จะต้องมีการจัดตั้งคลินิกท่องเที่ยว หรือทัวริสซึ่มคลินิกขึ้น เพื่อช่วยในด้านการฝึกทักษะพนักงานใหม่ ซึ่งต้องให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนในส่วนนี้ เนื่องจากขณะนี้แรงงานในธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมหายไปมากกว่า 50% เพราะคนกลับบ้านเกิดและไม่กลับมาทำงานใหม่มีจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ทำงานมานาน 30-40 ปี ถือเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง เมื่อออกไปและไม่กลับมาอีก เพราะไม่มั่นใจในอนาคต ว่าจะมีงานทำมั่นคงเท่าใดในระยะยาว ทำให้ผู้ประกอบการก็ต้องฝึกฝนแรงงานใหม่ ให้มีทักษะสูงเทียบเท่าเดิม เพื่อรองรับการกลับมาของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลชัดเจนให้ผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถอยู่รอดได้

“โควิดส่งผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยวโดยรวม เกิดดิสรัปชั่น 6 ข้อ ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เพิ่มมาตรการป้องกันการระบาดมากขึ้น 2.ตลาดลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเราจะต้องเพิ่มการทำตลาดไทยเที่ยวไทยมากขึ้น และเตรียมพร้อมตลาดใหม่ที่จะพัฒนาเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณภาพมากขึ้น 3.เทคโนโลยี ที่ต้องนำมาปรับใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวมากขึ้น 4.การบริหารจัดการความยั่งยืน 5.กำลังคนหรือแรงงานที่ขาดแคลน และ 6.เงินทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องเจอในตอนนี้ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีสายป่านยาวจะได้เปรียบในเรื่องเงินทุน ในการสร้างแรงงานขึ้นมาใหม่ รวมถึงลงทุนใหม่ในด้านอื่นๆ ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยเฉพาะเอสเอ็มอี หรือไมโครเอสเอ็มอี ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ในการพัฒนาศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขัน” นางมาริสา กล่าว

นางมาริสา กล่าวว่า การรักษาการจ้างงานถือเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่หากไม่มีความต้องการ (ดีมานด์) เข้ามามากพอ สำหรับการสร้างกระแสเงินสดให้ธุรกิจอยู่ได้ ทำให้เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนระยะฟื้นตัวปี 2565 จึงเสนอให้รัฐบาลขยายเวลาเงินอุดหนุนค่าจ้างแรงงานเอสเอ็มอี เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อรักษาการจ้างงาน คนละ 3,000 บาท จำนวนลูกจ้างสูงสุด 200 คน พร้อมทั้งสนับสนุนค่าจ้างพนักงานใหม่ ที่เป็นนักศึกษาที่จบใหม่ภายใน 5 ปี เพื่อกระตุ้นการจ้างงานในช่วงฟื้นฟู 50% ของเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท และลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมสำหรับนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิม 5% เหลือ 2% รวมถึงลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เป็นประเด็นใหญ่ของธุรกิจโรงแรม ที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ โดยอยากให้ปรับอัตราภาษีเก็บแบบเป็นขั้นบันได สำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งมีศักยภาพด้อยกว่าธุรกิจอื่นเป็นอย่างชัดเจน รวมทั้งขยายเวลาการใช้ขาดทุนสะสมจาก 5 ปี เป็น 10 ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image