ส.อ.ท.หวั่นน้ำมันแพงไม่หยุดฉุดศก.ฟื้นตัวช้าหนัก ย้ำโอกาสเห็นดีดแตะ 100 เหรียญ/บาร์เรลสูง

ส.อ.ท.หวั่นน้ำมันแพงไม่หยุดฉุดศก.ฟื้นตัวช้าหนัก ย้ำโอกาสเห็นดีดแตะ 100 เหรียญ/บาร์เรลสูง

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภา อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ส่งผลให้ราคาพลังงานอื่นๆ ในครัวเรือน และภาคการผลิตปรับตัวขึ้นตาม ทั้งราคาไฟฟ้า ก๊าส รวมถึงต้นทุนขนส่งโลจิสติกส์ ซึ่งมีผลต่อค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ทุกประเทศไทยทั่วโลกที่เผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดโควิด-19 มาแล้ว 2 ปีกว่า แม้ขณะนี้การระบาดโควิดจะเริ่มเบาบางลง และมีการฟื้นตัวมากขึ้น แต่เมื่อเจอภาวะน้ำมันปรับแพงขึ้น ก็ส่งผลกระทบทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศ โดยเฉพาะไทยที่ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ กว่า 80% และก๊าส 50% ของการใช้งานในแต่ละวัน ทำให้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของค่าครองชีพแทบทุกอย่างจริงเริ่มมีปัญหาติดขัดเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นเร็ว คงไม่ได้เร็วอย่างที่คาดไว้ และอาจฟื้นตัวได้ช้ามากกว่าเดิมด้วย

“สิ่งของทุกอย่างขึ้นราคาเกือบทั้งหมด ทั้งของกินของใช้ อาหารสด วัตถุดิบ และอาหารสำเร็จรูป ขณะที่ค่าแรงหรือรายได้ของประชาชนมีเท่าเดิม และยังลดลงจากผลกระทบของโควิด ทำให้กำลังซื้อในการจับจ่ายใช้สอยลดลงตามไปด้วย จึงมีผลกระทบค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะตอนนี้เห็นทิศทางราคาน้ำมันดิบมีโอกาสสูงมาก ที่จะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 100 เหรียญต่อบาร์เรล จากที่ตอนนี้ราคาอยู่ประมาณ 90 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันในไทยปรับแพงขึ้นอีก เหมือนในอดีตที่เคยเห็นราคาน้ำมันเบนซินพุ่งเกือบ 50 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซลขึ้นไปที่ 44 บาทต่อลิตร ซึ่งถือเป็นวิกฤตที่สร้างผลกระทบรุนแรงมาก” นายเกรียงไกร กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อลดผลกระทบในระยะสั้น เนื่องจากไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่คือ การใช้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ช่วยตรึงราคาน้ำมัน พยุงไม่ให้ลอยตัวเพิ่มขึ้น จึงเป็นภาระของรัฐบาล หากว่าราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นทะลุ 100 เหรียญต่อบาร์เรล จะทำให้รัฐบาลมีภาระมากขึ้น อาจต้องกู้เงินเตรียมไว้อีกครั้ง เพื่อรอรับสถานการณ์ดังกล่าว โดยการแก้ปัญหาในรูปแบบนี้ไม่สามารถทำในระยะยาวได้ เพราะจะกระทบกับสถานะการคลังของประเทศ การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงในระยะสั้นคือ การบริหารจัดการใช้พลังงานให้ประหยัดมากที่สุด อาทิ ปัญหารถติดที่กลับมาใหม่ รัฐบาลจะต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ เพราะหากรถติดมากขึ้น การใช้พลังงานของรถยนต์บนท้องถนนจะนานขึ้น ใช้พลังงานมากขึ้นแบบไม่จำเป็น

นายเกรียงไกร กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาในระยะกลาง-ยาว คือ จะต้องหาพลังงานอื่นๆ เข้ามาทดแทน อาทิ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากน้ำ ที่เป็นพลังงานทางเลือก เพื่อลดการพึ่งพาการใช้พลังงานจากน้ำมันในปริมาณสูง แบ่งเบาภาระ และสร้างเสถียรภาพการใช้พลังงานในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายที่หลายฝ่ายรับรู้ปัญหาอยู่แล้ว แต่เมื่อราคาน้ำมันปรับลดลง ก็กลับไปใช้น้ำมันในปริมาณสูงเหมือนเดิม โครงการที่จะใช้พลังงานทดแทนก็ไม่ต่อเนื่อง ปัญหาจึงวนกลับมา ทำให้รัฐบาลจะต้องวางแผนระยะกลาง-ยาวให้ชัดเจน เพราะปัญหาเรื่องน้ำมัน เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากเป็นปัญหาจากภายนอก ที่มีสาเหตุจากความตึงเครียดระหว่างประเทศจากกรณีต่างๆ อาทิ ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image