คปภ.เพิกถอนใบอนุญาต ‘อาคเนย์-ไทยประกันภัย’ วันนี้เป็นต้นไป ชี้ฐานะการเงินไม่มั่นคง

คปภ.เพิกถอนใบอนุญาต ‘อาคเนย์-ไทยประกันภัย’ ตั้งแต่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป

เมื่อวันที่ 1 เมษายน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุกิจประกันวินาศภัย บริษัท อาคเนย์ประกันภัยจำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 โดยถ้าหากบริษัทไม่เห็นชอบ สามารถยื่นอุธรณ์ศาลปกครองภายใน 90 วันนับแต่วันที่ประกาศ

นายสุทธิพลกล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่ต้องเพิกถอน เนื่องจากตรวจสอบพบว่า ทั้ง 2 บริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคง มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน และมีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ทำให้ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และค้างค่าสินไหมจำนวนมาก ซึ่งทาง คปภ.ได้ให้ทั้งสองบริษัทแก้ไขสภาพคล่องทางการเงิน แต่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของทั้งสองบริษัทปฏิเสธที่จะเพิ่มทุน คปภ.จึงเห็นว่าถ้าปล่อยไปจะเกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยได้ จึงจำเป็นต้องยื่นเพิกถอนใบอนุญาต

ยืนยันว่า ความเสียหายยังจำกัดเพียงแค่ 2 บริษัทนี้เท่านั้น ไม่ได้ส่งกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจประกันภัยทั้งหมด นอกจากนี้ คปภ.ยังได้ยื่นดำเนินการกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ตรวจสอบผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าวทุกรายแล้ว” นายสุทธิพลกล่าว

นายสุทธิพลกล่าวว่า สำหรับ บริษัทอาคเนย์ มีเบี้ยรับตรงปี 2562-2564 จำนวน 10,000 ล้านบาท โดยรับประกันภัยรถยนต์มากที่สุด ส่วนโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 20% ส่วน บริษัทไทยประกันภัย มีเบี้ยประกันภัยรับตรง 2562-2564 จำนวน 2,000 ล้านบาท เป็นประกันภัยโควิด 30% โดยทั้งสองบริษัทเหลือยอดคุ้มครอง 1.17 ล้านกรรมธรรม์ ซึ่งส่วนมากเป็นประกันแบบเจอจ่ายจบ โดยมีเงินค้างจ่ายประกัน 17,878 ล้านบาท

Advertisement

“สำหรับกรมธรรม์ประกันของทั้ง 2 บริษัท จะถูกส่งต่อไปที่บริษัทประกันอีก 15 บริษัทที่จะเข้ามาหารือ เพื่อรับช่วงต่อในการดูแลผู้เอาประกัน ขณะที่ประกันประเภทโควิด-19 จะถูกโอนไปยังกองทุนประกันวินาศภัย ทั้งนี้ สถานะกองทุนประกันวินาศภัยในปัจจุบัน ยังอยู่ในการบริหารจัดการได้มีสภาพคล่อง 5,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากรับหนี้จาก 2 บริษัทนี้ไปก็อาจมีการเพิ่มทุน” นายสุทธิพลกล่าว

นายสุทธิพลกล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย มี 5 มาตรการ ได้แก่ 1.มาตรการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ และสนับสนุนการปฏิบัติ​งานของกองทุนประกันวินาศภัย ในฐานะผู้ชำระบัญชี 2.สื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน 3.การจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำและร้องเรียนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ 4.กำหนดแนวทางในกาายืนขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้แต่ละประเภทของบริษัท และ 5.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานของทั้ง 2 บริษัทนั้นฝ่าฝืนกฎหมาย หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image